วันกาเดร์ : ปัญหาใต้แก้ไม่ได้เพราะยังหาตัวการไม่เจอ ชี้ไทยคุยผิดกลุ่ม
ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งเคยมีบทบาทรวบรวมขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มให้เป็นเอกภาพเพื่อเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อราวปี 2532 ได้เดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้งเมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.2556 เพื่อร่วมอภิปรายในหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้" ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.ร่วมกับ รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านมุสลิมศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โอกาสนี้ ดร.วันกาเดร์ ซึ่งเกิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และเคยเป็นประธานขบวนการบีไอพีพี ซึ่งมีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทั้งยังเคยมีสถานภาพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งในมาเลเซียด้วย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และได้หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพทั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ และช่องทางใหม่ที่นายวันกาเดร์จะเข้าไปมีบทบาท
ดร.วันกาเดร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ทีมข่าวอิศรา" ก่อนร่วมเวที "หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้" โดยระบุตอนหนึ่งว่า การกลับมาเมืองไทยครั้งนี้มีโอกาสได้พบผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล เมื่อพูดคุยกันแล้วรู้สึกว่าเข้าใจกันดี เพราะได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นคือฝ่ายรัฐบาลไทยอยากจะแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้จบลง ซึ่งเขาเองก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จนั้น จะต้องหาผู้ที่สร้างปัญหาให้เจอเสียก่อน
"ที่เราแก้ปัญหาไม่ได้เพราะว่าเราหาตัวการไม่เจอ สาเหตุที่ยังไม่เจอเพราะตัวการไม่ใช่องค์การ คือเราไปมององค์กรเป็นตัวหลักและเป็นตัวกลาง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ผู้ที่สร้างปัญหาเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ พวกเขาสร้างปัญหาเพราะไม่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง"
ดร.วันกาเดร์ บอกว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะทำกับกลุ่มใดก็เเล้วแต่ ถือเป็นสิ่งที่ดี ส่วนจะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การคุยกันย่อมดี ทว่าหากจะให้ปัญหาจบ ให้ความรุนแรงลดลงไป รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับกลุ่มที่กระทำรุนแรง ไม่ใช่กลุ่มองค์กรที่คุยอยู่ในปัจจุบัน เพราะองค์กรเหล่านั้นบังคับควบคุมกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้แล้ว
"กลุ่มที่สร้างปัญหาขณะนี้เคยเป็นกลุ่มบุคคลที่ในอดีตอาจจะเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มซึ่งทางการไทยรู้จักดี) แต่ปัจจุบันพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่มอื่น และการที่เขาลงมือปฏิบัติการ ไม่ได้ทำเพราะได้รับคำสั่งจากข้างบน เขาทำกันเอง มันมีสาเหตุบางอย่างเขาจึงลงมือทำ"
อดีตประธานเบอร์ซาตู บอกด้วยว่า จุดประสงค์ที่กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ก็เพราะอยากจะร่วมมือช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ หากกลุ่มใดที่ต้องการร่วมแก้ปัญหา และเขาสามารถรวบรวมมาได้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ฝ่ายใด เขาก็ยินดี
"หากมองในด้านบวก ภาพรวมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้มีหลายกลุ่มที่อยากจะร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ ฉะนั้นถ้ามองภาพนี้ ในอนาคตน่าจะมีความสงบสุขมากขึ้น แต่การพูดคุยสันติภาพเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ ทว่าไม่ใช่ทั้งหมด มันยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องทำการ การพูดคุยเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่เราอยากจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และตอนนี้กลุ่มบุคคลในพื้นที่ก็พร้อมจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีมากขึ้น จึงน่าจะได้รับการสนับสนุน แต่ก็ต้องมีการทำงานด้านอื่นประกอบไปด้วย"
เขาย้ำว่า ขณะนี้สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนคือ ใครเป็นผู้ปฏิบัติการความรุนแรงที่แท้จริง
"ต้องแน่ใจว่าคนที่ระเบิดหรือก่อเหตุนั้นเป็นใคร เป็นคนที่ปฏิบัติการจริงใช่หรือไม่ จะได้รู้ว่าเราพูดคุยกับคนนี้ถูกต้องแล้วหรือเปล่า เพราะคนที่ปฏิบัติการ บางทีเขาก็ไม่ฟังองค์กร คนที่ก่อเหตุไม่สงบอยู่ องค์กรไม่สามารถคุมได้ คือเราแตกแยกกันเป็นกลุ่มเป็นพวก เพราะฉะนั้นบางกลุ่มที่เขาทำ องค์กรจะคุมไม่ได้ ต้องไปควานหาผู้ที่ก่อเหตุที่แท้จริงว่าเป็นใคร ซึ่งผมก็พอจะเดาได้ พอจะรู้ แต่ไม่รู้ว่าจะจริงหรือไม่"
ปัจจุบันรัฐบาลไทยดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพอยู่กับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ และแกนนำองค์การพูโลบางส่วน ซึ่งเรื่องนี้ ดร.วันกาเดร์ บอกว่า การพูดคุยสามารถทำได้ต่อไป แต่ผลที่ได้อาจยังไม่แน่นอน
ส่วนปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ดร.วันกาเดร์ มองว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้ เป็นคณะทำงานเฉพาะอยู่แล้ว สามารถทำงานได้ตลอดเวลา
"แต่อย่างที่พูดก็คือ การพูดคุยสันติภาพไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่จะใช้แก้ไขปัญหา อยากบอกว่าวิธีที่เราแก้ปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้ 10 ปีแล้วนั้น เราต้องเพิ่มวิธีการอีก จึงจะแก้ได้จริงๆ" เขากล่าวทิ้งท้าย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.วันกาเดร์ ขณะให้สัมภาษณ์ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
หมายเหตุ : วรานนท์ ปัจจัยโค เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ