เปิดงานวิจัย“พล.อ.ประยุทธ์” ความแตกแยก นปช. ปะทะ พันธมิตรฯ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่”
กะเทาะแก่นคิด บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผ่านงานวิจัย วป.รอ. เจ้าตัวสัมภาษณ์เชิงลึก 7 บิ๊ก ขรก. ระบุความแตกแยกความคิด ไม่เชื่อมั่นสถาบันทางการเมือง ยกตัวอย่างเหตุการณ์ นปช. ปะทะกลุ่มพันธมิตรฯ เป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ถ้าจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาพูดถึงสถานการณ์ “ความมั่นคง” หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งกล่าวในเชิงเห็นด้วยกับการจัดตั้ง ทบวงความมั่นคง (Homeland security) ขึ้นในอนาคต และจะมีความชัดเจนมากขึ้นถ้ามีจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
หากอ่านหนังสือ กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ NON-TRADITIONAL THREATS จัดพิมพ์โดยสมาคมรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นายธนพร ศรียากูล คนใกล้ชิดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นนายกสมาคมฯ และ เขียนคำนิยม) เรียบเรียงจากงานวิจัย ของพล.อ.ประยุทธ์ขณะเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปีการศึกษา 2550-2551 ขณะมีตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก
อาจเห็นเบื้องหลัง“นัยทางความคิด”ของบิ๊กตู่?
พล.อ.ประยุทธ์ได้สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ 7 คน คือ
1.นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ขณะนั้น)
2. นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน (ขณะนั้น)
3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น)
4.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ขณะนั้น)
6.นายถวิล เปลี่ยนศรี รองเลขาฯ สมช. (ขณะนั้น)
7.พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขณะนั้น)
พล.อ.ประยุทธ์เกริ่นนำว่า...
การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้ภัยคุกคามรูปแบบเดิม (Yraditional threats) หรือภัยคุกคามตามแบบ (Conventional threats) ที่กระทำโดยรัฐต่อรัฐ ต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของรัฐ ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางทหาร (Military threats) นั้นได้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภัยคุกคามรูปแบบอื่นที่มิใช่คุกคามทางทหาร (Non-Traditional threats)กลับมาสร้างปรากฏขึ้นให้เห็นโดยทั่วไปและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขยายวงกว้างไปทั่วโลก
เมื่อกล่าวถึงความหมายของภัยคุกคามรูปแบบใหม่(Non-Traditional threats) มีการอธิบายกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักวิชาการ ภายใต้บริบทและมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือ กลุ่มของ คริสต์ แอบบอต, พอล โรเจอร์ส และจอห์น สโลโบดา (Christ Abbott, Paul Rogers and John Sloboda) พวกเขาได้เขียนหนังสือ “Global Response to Global Threats” ซึ่งๆได้แบ่งประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ออกได้เป็น 4 ประเภท คือ (๑)ภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Change) (๒)ภัยจากการแข่งขันแย่งชิงทรัพยาการ(Competition over Resources) (๓)ภัยจากการเกิดขึ้นใหม่ของชนกลุ่มน้อยในสังคมใหญ่(Marginalization of the Majority World) และ (๔) ภัยจากการแพร่ขยายอิทธิพลทางทหาร(Global MilitariZation) นอกจากนี้ยังมีการให้คำนิยามและแบ่งประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในลักษณะแยกย่อยลงไป เช่น ภัยคุกคามจากโรคระบาด (Epidemiology) ภัยคุกคามทางสารสนเทศ(Information) ภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติ(Transnational crime) ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์( Human Security) และภัยคุกคามทางด้านภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics)
สำหรับประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยตรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยาและการทหาร ในลักษณะที่ภัยคุกคามได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปัจจัยบวกของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีการเปิดเสรีการค้า การเงิน การลงทุน ความก้าวหน้าทางการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนผู้คนมีการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ที่ได้ให้คำนิยามและแบ่งประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ชัดเจน จนกระทั่งประมาณต้นปี พ.ศ.2550 หน่วยงานด้านความมั่นคงได้มีการตื่นตัวอย่างสูงในความพยายามที่จะกำหนดกรอบแนวคิดเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ดังนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๔๓ นายกรัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวง ตามข้อ ๑ วงเล็บให้ สมช. มีอำนาจในการกำหนดประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกกระทบต่อความมั่นคงของไทย ๙ ประการ คือ (๑) ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม (๒) ความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันการเมือง (๓) การขาดการสมดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๔) ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและโรคระบาด (๕) ความมั่นคงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (๖) การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (๗) แรงงานต่างด้าว และผู้หลบหนีเข้าเมือง (๘) ยาเสพติด และ (๙) ความยากจน จะเห็นได้ว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีความมุ่งหมายที่แคบลงและเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากกว่าตะวันตก ซึ่งภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้ กองทัพบกได้นำไปเป็นบทนำของคู่มือการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ของการรักษาความมั่นคง ในขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายใน หรือ กอ.รมน. ก็ได้นำไปกำหนดเป็นกรอบภัยคุกคามเพื่อกำหนดแผนงานรักษาความมั่นคงภายใน ประจำปี ๒๕๕๐
ในห้วงเวลาก่อนปี พ.ศ.๒๕๕๐ กองทัพไทยได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นไว้อย่างสำคัญในการบริหารจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทั้ง ๙ ในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป เช่น บทบาทของการเป็นผู้สนับสนุน ผู้ช่วยเหลือ ผู้ประสานงาน และมีบทบาทของการเป็นผู้ปฏิบัติเองบ้างตามสถานการณ์และกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน บทบาทที่เด่นชัดคือ การปราบปรามยาเสพติด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดน (พื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก) การแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภคใต้ อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนส่วนราชการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาการจัดสมดุลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติคลื่นสึนามิ การป้องกันโรคระบาดไข้หวัดนก การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในระดับรัฐบาล การจัดการกับปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ยังมีปัญหาและอุปสรรค อาทิ ข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ทรัพยากรของประเทศ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ยังมีการตื่นตัวน้อย ในขณะที่การแสดงบทบาทของกองทัพไทยที่ผ่านมา กองทัพก็ประสบปัญหาและข้อจำกัดเช่นกัน กล่าวคือ
ประการแรก กองทัพมีโครงสร้างการจัดองค์กรเพื่อจัดการด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เด่นชัด เพราะโครงสร้างการจัดของกองทัพปัจจุบันเป็นการจัดเพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบเดิมในยุคสงครามเย็นที่มองภัยคุกคามทางทหารเป็นหลัก โครงสร้างการจัดจึงได้อิงอยู่กับภารกิจป้องกันประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่
ประการที่สอง สืบเนื่องมาจากเหตุผลการจัดโครงสร้างกองทัพบกเพื่อป้องกันประเทศ กองทัพจึงมิได้กำหนดภารกิจโดยตรงเป็นการเฉพาะที่จะดำเนินการต่อเป้าหมายภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้
ประการที่สาม ไม่มีกฎหมายรองรับให้อำนาจของกองทัพในการบริหารจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
ประการที่สี่ กำลังพลส่วนใหญ่ขาดความรู้ปละประสบการณ์
ประการที่ห้า การขาดแคลนงบประมาณและเครื่องมือสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็น และ
ประการสุดท้าย กองทัพยังไม่มีหลักนิยมที่ชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม(Military Operations Other Than War : MOOTW) เพื่อเป็นกรอบรองรับการจัดโครงสร้าง ภารกิจ บุคลากร การบริการจัดการเฉพาะที่จะเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
แนวโน้มภัยคุกคามรูปแบบใหม่จะเป็นภัยที่มีความซับซ้อน หลากหลายมิติร่วมกัน และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภัยคุกคามนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคมไทยโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความมั่นคงของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคให้ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างปัญหารากเหง้าของประวัติศาสตร์และปัญหาการ่อการร้าย ซึ่งมีความเชื่อมโยงของผู้ก่อการร้าย อาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติดทั้งในประเทศและนอประเทศ ทั้งนี้การป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีองค์กรที่ชัดเจนรับผิดชอบบูรณาการ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถป้องกัน ยับยั้ง และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างมีระบบตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยที่ร้ายแรง สังคมไทยอาจจะต้องตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย เสียขวัญ จนขยายวงกว้างไปสู่ความมั่นคงด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีด้วยการลอบวางระเบิดหลายๆ จุดพร้อมกันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ให้รุนแรงขึ้นอีก ในสถานการณ์วิกฤตร้ายแรงเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กองทัพไทย ซึ่งเป็นกลไกทางด้านความมั่นคงของรัฐบาล ที่มีขีดความสามารถและศักยภาพสูงในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในลักษณะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เป็นองค์รวม(Holistic) จะได้เตรียมปรับบทบาทและโครงสร้างการจัดของกองทัพให้เหมาะสม เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เฉียบพลันในอนาคตอันจะทำให้กองทัพได้เป็นที่พึ่งและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อสังคมไทย
ไฮไลต์ในบท“ข้อเสนออนาคต กอ.รนม. กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่” (หน้า 105)ระบุว่า
ปัจจุบัน กอ.รมน. ใหม่ เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นองค์กรที่กำลังจะปรับโครงสร้าง บทบาท และอำนาจหน้าที่ครั้งสำคัญตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใหม่ข้างต้น เป็นองค์กรของรัฐที่กำลังจะก้าวไปสู่การบริหารราชการภาครัฐแนวใหม่ เป็นหน่วยระดับ “กรม” ในสำนักนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญที่สุด กอ.รมน. คือองค์กรในความคาดหวังของสังคมที่จะเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ปัญหาความมั่นคงภายในก่อนเกิดเหตุการณ์(Pre-crisis) ในสถานการณ์ที่แสนยุ่งเหยิงทางการเมืองขณะนี้ ทั้งในเรื่องความไม่เชื่อมั่นในระบบและสถาบันทางการเมืองความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ยังหา “เจ้าภาพ” ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนไม่ลงตัวเสียที
หนทางข้างหน้าของ กอ.รมน. จะเป็นอย่างไร? และรูปร่างหน้าที่ชัดๆ (เน้น)จะเป็นอย่างไร นั้น ควรจะได้มีการวิเคราะห์สังเคราะห์ กำหนดต้นฉบับ มีพัฒนาการในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว อย่างประสานสอดคล้อง ทั้งในด้านโครงสร้าง การจัดองค์กร บทบาท หน้าที่ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ การบริหารจัดการที่มีการบริหารแบบพลเรือนที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารงานตามโครงสร้างใหม่
ดังนั้นสิ่งที่ กอ.รมน. จะต้องผ่านวิกฤต ๒ ประการ คือ ประการแรก จะต้องจัดระบบและระเบียบตัวเอง คือดูแลบ้านตัวเองก่อน ขณะที่รับภารกิจที่รุมเร้าและท้าทายในด้านความแตกแยกทางการเมืองของประชาชน การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการที่สอง กอ.รมน. จะต้องมีองค์กรเฉพาะกิจส่วนหนึ่งที่ช่วยในการคิดไปข้างหน้า ปูพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่จะเดินต่อไป ให้เป็น “องค์กรหลักที่เป็นอาชีพ เพื่อนำนโยบายจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปสู่ภาคปฏิบัติ” และมีการปรับเปลี่ยนองค์กรในลักษณะของ “องค์กรพลเรือน” มากยิ่งขึ้น โดยมี “ทหารเป็นพี่เลี้ยง”ไประยะหนึ่ง
บทนี้จะได้วิเคราะห์ภาพ กอ.รมน.ใหม่ ในประเด็นความสัมพันธ์ของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในบริบทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และวิเคราะห์ปัญหาลักษณะโครงสร้าง กอ.รมน.ใหม่ ใน ๔ เรื่อง คือ ส่วนบริหาร ส่วนอำนวยการ ส่วนประสานงาน และหน่วยปฏิบัติงานในระดับพื้นที่วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาบุคลากร กอ.รมน. สู่อนาคตอย่างมีระบบและขั้นตอน พร้อมให้เสนอแนะถึงหนทางข้างหน้าของ กอ.รมน. ที่จะก้าวต่อไป
กอ.รมน. กับ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในบริบท ภัยคุกคามรูปแบบใหม่
จากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ สมช. ได้กำหนดไว้ ๙ ประการ คือ (๑)ความแตกแยกของคนในสังคม (๒)ความเชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง (๓) ปัญหาความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (๔)ปัญหายาเสพติด (๕) ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (๖) ปัญหาแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย (๗) ปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ (๘) ปัญหาการขาดสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๙) ปัญหาความยากจน ซึ่งภัยทั้ง ๙ ประเภท มีทั้งที่เกิดจากบุคคลและธรรมชาติ แต่ใน พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หมายถึง...ภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข...” เพราะฉะนั้นอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของ กอ.รมน. ย่อมมิได้รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ คือ กอ.รมน. ภาค ๑-๔ ปัญหาดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ดังนั้นเมื่อพิจารณาในบริบทของ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามเพียง 7 ประการ
ประเด็นต่อมา เมื่อกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ติดตามตรวจสอบและประเมินผลแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินต่อไป ซึ่งต้องตามข้อเท็จจริง กอ.รมน. ได้จัดตั้งองค์กรดำเนินการ คือ “ศูนย์ติดตามสถานการณ์ กอ.รมน.” ต่อเมื่อสถานการณ์ได้พัฒนาไปสู่ระดับความรุนแรงมากขึ้น แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างรอยต่อของสถานการณ์ตรงนี้ กอ.รมน. จะมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๕ ที่บัญญัติให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการ “ป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และบรรเทาหรือพิจารณาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้น ภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดให้”
เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๑๕ ในบริบทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ พบว่ามีความแตกต่างและยุ่งยากในการตีความเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งจะขอตั้งเป็นข้อสังเกตของแต่ละภัยคุกคามไว้ดังนี้
(๑) ความแตกแยกของคนในสังคม สถานการณ์ระดับใด? ที่จะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคน ๒ กลุ่มที่ขัดแย้งกันกำลังเริ่มทำร้ายซึ่งกันและกันจนได้รับบาดเจ็บ และมีการสูญเสียชีวิต กรณี กลุ่ม นปช. ปะทะกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิต ๑ คน เมื่อ ๑๐ ก.ย. ๕๑ บทเรียนครั้งนี้ชี้ชัดว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ไม่สามารถกระทำได้ทันท่วงทีจนกระทั่งต้องมีการประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ภายหลังเหตุการณ์ ๑ วัน ซึ่งไม่ทันการณ์แล้ว
(๒) ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง ก็เช่นเดียวกับสถานการณ์ตาม (๑) มีคำถามต่อไปว่า ความเชื่อมั่นในระดับใด? ที่จะสามารถประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ได้ อย่างเช่น กรณีการไม่เชื่อมั่นในอำนาจบริหารของรัฐบาล จนกระทั่งมีการยึดทำเนียบรัฐบาล มันเกินเลยอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ไปแล้ว
(๓) ประเด็นปัญหาความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีประโยชน์ในการจัดตั้ง กอ.รมน. โดยมีกฎหมายรองรับชัดเจน ทำให้สามารถวางระเบียบ กฎ และข้อบังคับได้ ตามมาตรา ๑๐ อีกทั้งยังสามารถสานงานต่อตามมาตรา ๒๕ และ ๒๖ ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๕/๒๕๔๙ เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในและคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๗/๒๕๔๙ เรื่อง การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในส่วนของ พตท. ไม่มีปัญหา สำหรับประเด็นการบังคับกฎหมายตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯอาจจะได้ผลน้อย เพราะสถานการณ์ภาคใต้เป็นการใช้ความรุนแรงเกินจากระดับที่ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ระบุไว้ และอยู่ในขั้นของ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ไปแล้วอีกประการหนึ่ง บทลงโทษก็น้อย ตามที่มาตรา ๒๔ มีเพียง “ระวางโทษไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๔) ปัญหายาเสพติด กอ.รมน. จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๑ รองรับภารกิจนี้ เมื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่แล้ว พอจะกระทำได้เพียง “การประสานการปฏิบัติ” ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. กับ กอ.รมน. ภาค ๑-๔ ส่วนระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดนั้น เมื่อถามว่าเมื่อใด? จึงต้องการการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะชัดเจนนัก
(๕) ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติปัญหานี้มีความเชื่อมโยงระหว่างภายในและภายนอกประเทศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงเฉพาะภายในราชอาณาจักร ดังนั้นพื้นที่และเวลาที่กำหนดตัวปัญหานี้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบดินแดนอธิปไตยของไทย นั่นหมายถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๓ (ดูโครงสร้างการจัด กอ.รมน. ใหม่) เพื่อรองรับภารกิจนี้ในความหมายของ “การก่อการร้าย” น่าจะเป็น “การก่อการร้ายภายในประเทศ”เท่านั้นมิใช่ “การก่อการร้ายสากล” (ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล-กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้รับผิดชอบ)ส่วนอาชญากรรมข้ามชาติ ก็ให้หมายถึงอาชญากรรมที่มีความเชื่อมโยงกับชาติอื่นที่มีการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ตลอดแนวชายแดนและพื้นที่ภายใน
(๖) ปัญหาแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย จากโครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๒ ศูนย์ฯ นี้จะทำหน้าที่เพียง “ประสานการปฏิบัติ” เท่านั้น ซึ่งจะต้องประสานกับกระทรวงแรงงานในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” ส่วนผู้หลบหนีเข้าเมืองนั้นต้องก็มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ผู้หลบหนีเข้าเมือง” จะเห็นได้ว่าการเป็น “ศูนย์ประสานการปฏิบัติ” นั้นมิได้ตอบสนองตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ที่มีความประสงค์ที่จะจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติงานหลัก” เพื่อให้สามารถป้องกันและระงับภัยจากปัญหาแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที
(๗) ปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ ปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง สาเหตุเพราะมาตรา ๓ บัญญัติว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร... เป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล” เพราะฉะนั้น กรณี สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า หรือกรณี โรคซาร์ ไข้หวัดนก โรคเอดส์ ก็มิใช่ พันธกิจของ กอ.รมน. โดยตรง
(๘) ปัญหาการขาดสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีนี้จะเข้าข่าย พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ หรือไม่? ขึ้นอยู่กับการตีความประเด็นแรกต้องพิจารณาว่าการขาดสมดุลของทรัพยากรธรรมชาตินั้นมนุษย์ทำขึ้น เช่น กรณีภาวะโลกร้อน (Global Warming) จากการตัดไม้ทำลายป่า หรือการเผาป่าโดยตรง ก็อยู่ในเครือข่าย พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ประเด็นที่สอง กรณีที่เกิดน้ำท่วมภูเขาถล่ม ดินทลาย แม้ว่ามนุษย์จะเป็นผู้ทำลายธรรมชาติ ตัดไม้ ทำลายจนกระทั่งตัดไม้ไม่มีรากยึดเพื่อยืนต้นทานกระแสน้ำที่ไหลลงมาได้อย่างนี้ถือว่าไม่มีอยู่ในอำนาจของ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ
(๙) ปัญหาความยากจน แม้ว่าเป็นปัญหาที่มนุษย์ทำขึ้น แต่เนื่องจากปัญหานี้เป็นภัยที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง แต่ด้วยตัวปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนหลายมิติ ซึ่งน่าจะเกินอำนาจบังคับกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง
นี่คือบางส่วนของงานวิจัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้มีบทบาทสูงในกองทัพในขณะนี้ที่ ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ(TCIJ) นำมาเสนอ หากสนใจ ลองติดตามหากัน
ที่มาจาก :