สภาชุมชนต.ปอ เชียงราย หนุนแก้ที่ดินชนเผ่าสู่การจัดการตนเอง
“ตอนนี้ทางท้องถิ่นให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น จากที่แต่ก่อน เขาไม่เชื่อเราเลย เขาไม่คิดว่าเราจะทำได้ ดูไม่น่าเชื่อถือ แต่พอเราทำให้เห็น เขาเห็นข้อมูลเรา ซึ่งเขาไม่เคยมีเลย ใครอยู่ที่ไหนอย่างไร ที่ดินตรงไหนเป็นของใคร พวกเขาไม่เคยมีข้อมูลแบบนี้ เขาเห็นแล้วเขาเลยเอาด้วย..."
จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย มีพื้นที่ติดกับชายแดนลาวและพม่า และใกล้ประเทศจีนเพียงนิดเดียว ดังนี้แล้วมีพี่น้องคนเชียงรายจึงมีรากเหง้าวัฒนธรรมและต้นกำเนิดชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีความอุมดสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ป่าไม้ ภูเขา จึงทำให้เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากและนับวันจะยิ่งเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเปิดประตูบ้านต้อนรับอาเซียนของไทยนั้น จังหวัดเชียงรายถือเป็นประตูใหญ่ของประเทศทั้งการถ่ายเทสินค้าและแรงงาน ดังนั้น การเตรียมตัวตั้งรับของคนในพื้นที่เชียงรายจึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก
สภาองค์กรชุมชนตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย นับว่าเป็นขบวนชุมชนขบวนหนึ่งที่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หมุนเปลี่ยนไปตามนโยบายประเทศ เศรษฐกิจโลก และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ให้จัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและจัดระบบข้อมูลที่ดินและที่อยู่อาศัยเพื่อจะได้เป็นพื้นฐานในการทำงานด้านการพัฒนา
ตำบลปอเป็นอีกตำบลหนึ่งของประเทศที่ประชากรมีปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินในภาคชนบท โดยเฉพาะที่ทำกินของราษฎรนั้นส่วนใหญ่ไม่มีใครมีเอกสารสิทธิ ทุกคนยังมีทำกินในเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยาน ขณะเดียวกันการบุกรุกป่าก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ความนิยมในการปลูกข้าวโพดในหมู่เกษตรกรมีสูงมาก ดังนั้น จึงทำให้การรุกพื้นที่ป่ามีสูงมากขึ้น
“และปัจจุบันไม่ใช่มีแค่คนไทยนะครับที่ทำการเกษตรบนดอย เรามีพี่น้องม้งที่มาจากพม่า ลาว ที่อพยพมาและได้จับจองที่ดินหลายครอบครัว เท่าที่เห็นก็ร้อยกว่าครอบครัวแล้ว”
เอกภพ จตุโชคอุดม หนึ่งในผู้นำรุ่นใหม่ของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปอได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ดินทำกินของที่นี่ และเห็นว่านี่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติถ่ายเทไปมา และเข้ามาอยู่ในตำบลปอและตำบลใกล้เคียงจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันคนที่เคยอยู่เดิมมานานกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้วอย่างที่บรรพบุรุษของตนได้เคยมาก่อตั้งรกรากอยู่ที่นี่ก็ยังคงไม่มีสิทธิทำกินเหมือนเดิม แม้ว่าที่นี่จะเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างภูชี้ฟ้า ดอยผาหม่น แต่ว่าสำหรับคนบนดอยแล้ว พวกเขายังไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนในเมือง ทั้งที่ในอดีตรัฐบาลเคยรับปากจะปันที่ทำกินให้ราษฎรครอบครัวละ 15 ไร่ อันเนื่องมาจากการที่พี่น้องม้งให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยุคนักศึกษาเข้าป่า พรรคมมิวนิสต์ยังรุ่งเรือง แต่เมื่อเหตุการณ์สงบ คำรับปากเหล่านั้นยังลอยอยู่ในสายลม ราษฎรที่นี่ยังคงเป็นไร้หลักฐานในสิทธิที่ทำกิน
“การจัดทำระบบข้อมูลครั้งนี้ เราตั้งใจจะเผยแพร่เรื่องราวการจัดการที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาเราได้ไปเรียนรู้การจัดทำผังตำบลที่ตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ของนายกฯกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน และก็เห็นว่าเราก็ควรที่จะจัดระบบข้อมูลของเราแบบนั้น เราอยากจะได้โฉนดชุมชนบ้าง หรือแนวคิดแบบธนาคารที่ดิน เพื่อที่เราจะได้มีความมั่นคงในเรื่องที่ทำกินของเรา”
เอกภาพ จตุโชคอุดม จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เช่นเดียวกับคนหนุ่มๆ ของหมู่บ้านอย่าง จินดา ประภาพร จบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเขาเหล่านี้เมื่อเรียนจบก็ได้ใช้ชีวิตในชุมชน นำความรู้ที่มีมาพัฒนาหมู่บ้าน แม้ว่ารายได้จะน้อย แต่ว่าก็มีความพยายามที่จะทำเพื่อให้ท้องถิ่นได้เจริญและได้รับการพัฒนาให้ถูกทาง
“ตอนนี้เราจัดทำข้อมูล GIS ได้ 6 หมู่บ้านแล้ว ทั้งหมดประมาณ 630 ครัวเรือน ประชากร 6 หมู่บ้านนี้ก็ประมาณ 6,000 กว่าคน”
เป้าหมายของทุกคนที่มาทำงานด้านการจัดระบบข้อมูลของตำบลปอนี้ อยู่ที่ 17 หมู่บ้าน (ตำบลปอมีทั้งหมด 20 หมู่บ้าน ซึ่งอีก 3 หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านคนเมือง ซึ่งไม่เข้าร่วมกลุ่มกับกลุ่มพี่น้องม้งด้วย) ซึ่งหากทำข้อมูลได้ครบทั้ง 17 หมู่บ้านก็จะทำให้ข้อมูลของตำบลมีความสมบูรณ์
“ตอนนี้ทางท้องถิ่นให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น จากที่แต่ก่อน เขาไม่เชื่อเราเลย เขาไม่คิดว่าเราจะทำได้ ดูไม่น่าเชื่อถือ แต่พอเราทำให้เห็น เขาเห็นข้อมูลเรา ซึ่งเขาไม่เคยมีเลย ใครอยู่ที่ไหนอย่างไร ที่ดินตรงไหนเป็นของใคร พวกเขาไม่เคยมีข้อมูลแบบนี้ เขาเห็นแล้วเขาเลยเอาด้วย เพราะอบต.เขาก็อยากได้ข้อมูลพื้นที่แบบนี้เหมือนกัน พอเขาให้ความร่วมมือก็เลยสนับสนุนงบประมาณมาด้วย ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า การทำงานของเราได้รับการยอมรับจริงๆ”
นอกจากการจัดเก็บข้อมูล GIS เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำโฉนดชุมชน หรือเพื่อการวางผังตำบลของตนเองแล้ว ตำบลปอโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลปอยังได้เริ่มเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อจะได้เก็บบันทึกความเป็นมาของท้องถิ่นไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ หรือสืบค้น ค้นคว้า ต่อไปในวันข้างหน้า
ซึ่งองค์ความรู้ทั้งสองเรื่องนี้เองที่พวกเขาเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ และเพื่อจะได้ขยายความรับรู้ ความเข้าใจต่อท้องถิ่นให้มากขึ้น อันจะเป็นการสื่อสารให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจต่อกันและนำไปสู่ความร่วมไม้ร่วมมือกันในการพัฒนาตำบลอย่างหลักการ มีระบบ
สภาองค์กรชุมชนตำบลปอได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 โดยมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมในการจัดตั้งสภาจำนวน 9 หมู่บ้าน จาก 20 หมู่บ้าน มีองค์กรชุมชนจำนวน 29 กลุ่ม โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ม้ง (ส่วนคนพื้นเมืองยังไม่เข้าร่วมในการจัดตั้งสภาฯ)
ที่ตั้งตำบลปอมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีที่ราบระหว่างเชิงเขาเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยระหว่างเทือกเขาดอยยาว-ดอยผาหม่น อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร พื้นที่ป่าบางส่วนยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหลายชนิด แต่บางส่วนก็ถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด หอมหัวใหญ่ ผักเมืองหนาว หรือผลไม้ เช่น ลำไย ส้ม ส้มโอ ขณะเดียวกันปัจจุบันเกษตรกรก็หันมาปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ตำบลปอมีระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงราย 164 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้นจำนวน 4,367 ครัวเรือน 15,674 คน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชาติพันธุ์ม้ง แต่ก็มีชนเผ่าที่หลากหลาย อาทิ ไทลื้อ อาข่า จันคณะชาติ และคนเมือง (ล้านนา)
ด้วยความที่อยู่ห่างไกลจากเขตเมือง แต่มีจำนวนประชากรสูง มีพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นแปล่งท่องเที่ยว มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เข้มข้น อีกทั้งมีความโดดเด่นในเรื่องชาติพันธุ์ ดังนี้ จึงเชื่อว่าหากระบบการจัดการข้อมูลเรื่องการจัดการที่ดินทำกินโดยชุมชนเสร็จก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตนเองและเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งของเชียงรายได้