มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เสนอทางออกประเทศไทย
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เสนอทางออกประเทศไทย
เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในสภาวะคับขัน และมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับซึ่งกันและกันอีกแล้ว จนทำให้การเมืองไทยกำลังเดินเข้าสู่ทางตัน มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยขอเสนอแนวทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ของทุกฝ่ายและขอเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองยอมเสียสละเพื่อชาติและประชาชน ด้วยแนวทางที่เป็นทั้งทางออกเฉพาะหน้าและทางออกในระยะยาวซึ่งเป็นข้อเสนอรูปธรรมนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ดังต่อไปนี้
ทางออกเฉพาะหน้า
1. ให้ทุกฝ่ายการเมืองที่อยู่ในความขัดแย้งยอมเสียสละ ชะลอบทบาททางการเมืองชั่วขณะ เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยร่วมกัน ก่อนที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย
2. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ถอยคนละก้าว เลิกพฤติกรรมยั่วยุ
3. ให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ.ความมั่นคงที่ประกาศบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
4. ให้หน่วยงานยุติธรรมที่พิจารณาคดีเกี่ยวเนื่องกับการเมือง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม
5. ให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยฝ่ายรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเสนอมาฝ่ายละ 1 คน ซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับได้ และเสนอคนกลางเป็นที่ประจักษ์เข้ามาร่วมอีก 1 คน เพื่อร่วมกันคลี่คลายความขัดแย้ง
ทางออกระยะยาว
1. เสนอให้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญซึ่งมีภารกิจการมีส่วนร่วมกับประชาชนมีเครือข่ายหรือหน่วยงานในระดับภูมิภาคท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาพัฒนาการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน ร่วมกันรับผิดชอบในการจัดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา (เวทีในระดับตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ) ซึ่งคาดว่าจะสามารถสำเร็จได้ในกรอบระยะเวลา 1-2 ปี โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานเหล่านี้ที่มีอยู่แล้ว
2. แนวทางการปฏิรูปในแต่ละด้านให้ครอบคลุมถึงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รวบรวมความคิดเห็นจนได้ข้อเสนอที่ตกผลึกแล้ว ให้นำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นพ้องแล้วให้นำข้อเสนอไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ นำร่างรัฐธรรมนูญสู่การรับฟังความคิดเห็น จนได้รับการยอมรับก่อนนำไปสู่การทำประชามติ ในแต่ละด้าน
3. ให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ โดยอยู่ในกรอบความคิดเห็นที่ผ่านการทำประชามติแล้ว ตามข้อ 2 โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 200 คนให้มาจากประชาชนที่ร่วมในเวที ตามข้อ 1 เลือกกันเองมาเพื่อเป็นผู้แทนในการนำเสนอความคิดเห็นที่ได้จากการระดมสมองในเวทีจังหวัดละ ตั้งแต่ 1 ถึง 18 คน ตามสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัด
4. ให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างตามกรอบความคิดเห็นตามข้อ 2-3 ขอความเห็นชอบจากประชาชน โดยการทำประชามติให้เสียงเห็นด้วยเกินกว่าร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง