จับสัญญาณ"รัฐบาลvsม็อบ"รุกรับก่อน"แตกหัก"ระวังว่าเขาอิเหนาเป็นเอง!!
"..การ“หยุด”เพื่อทบทวนบทบาท หาคำตอบ และจุดยืนที่ชัดเจน ของทั้งฝ่ายรัฐบาล และแกนนำผู้ชุมนุม ก่อนที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ที่ต้องลงมือทำ ในช่วงสถานการณ์ทางการเมือง ที่ร้อนระอุอยู่ในขณะนี้.."
แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงการณ์ด้วยสีหน้าจริงจัง ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เรื่องการขยายประกาศการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ( จังหวัดนนทบุรี , จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะอำเภอบางพลี และ จังหวัดปทุมธานี เฉพาะอำเภอลาดหลุมแก้ว) ในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยระบุให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ เพื่อนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบโดยเร็ว
แต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจากแถลงการณ์ดังกล่าว จะมิได้ทำให้ผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่ระบอบทักษิณ เกิดความหวาดกลัวหวั่นเกรง อันใดแม้แต่น้อย
ภาพของการเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญ โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ต่อไป จนถึงช่วงเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556
มีการประเมินถึง “เหตุ”และ “ผล” กลยุทธ์การนำมวลชนเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญๆ ของแกนนำครั้งนี้ ไว้หลายแนวทางด้วยกัน
แต่แนวทางที่น่าสนใจที่สุด คงหนีไม่พ้น ความต้องการที่จะใช้ภาพการบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญของประเทศ เป็นสัญลักษณ์ แสดงออกซึ่งการ"ยึด”อำนาจการบริหารงานประเทศคืนจากรัฐบาล คืนสู่มือประชาชน
เพราะต้องไม่ลืมว่า การบริหารงานราชการของรัฐบาลทุกรัฐบาล ต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานราชการ
การที่ผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการได้ไว้ ก็เท่ากับเป็นการตัดแขน-ขา ไม่ให้รัฐบาลนี้ บริหารงานต่อไปได้ตามปกติ
สำนักงานประมาณ กระทรวงการคลัง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบเรื่องเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ
จึงเป็นหน่วยงานสำคัญอับดับแรก ที่ผู้ชุมนุม จะต้องยึดคืนมาให้ได้
และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำเบอร์หนึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ เลือกที่จะนำผู้ชุมนุมไปปฏิบัติภารกิจนี้ ด้วยตนเอง
ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า "เราจะไม่ยอมให้รัฐบาลชุดนี้ นำเงินภาษีของประชาชน ไปใช้แบบไม่ถูกต้องอีกแล้ว หมดเวลาของรัฐบาลชุดนี้แล้ว"
และเมื่อเข้ายึดครองสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ทางการเงินในการบริหารงานประเทศได้แล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่กลุ่มผู้ชุมนุม จะตามเข้าไปบุกยึดกระทรวงการต่างประเทศ ในเวลาต่อมา
เพราะต้องไม่ลืมว่า กระทรวงการต่างประเทศ ก็เปรียบเสมือนหน้าตาของประเทศไทย ในสังคมโลก
การที่ผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการแห่งนี้ได้ ก็เท่ากับเป็นการประกาศให้ โลกได้รับรู้ว่า ประชาชน ไม่ต้องการรัฐบาล ชุดนี้ อีกต่อไปแล้ว และกำลังเข้ายึดครองอำนาจการบริหารงานคืนมาจากรัฐบาล
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ภาพการบุกยึดสถานที่ราชการแบบนี้ จะขยายตัวไปยังสถานที่ราชการสำคัญต่างๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงในต่างจังหวัด ช่วง 1-2 วันนี้
หากข่าวลือนี้เป็นจริง และกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถยึดครองหน่ายราชการคืนกลับมาได้ทั้งหมด หนทางการปฏิวัติโดยประชาชน ก็จะเกิดขึ้นอย่างเห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรม ในสายตาชาวโลกทันที
รัฐบาลจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที
เพราะในทางปฏิบัติ แม้รัฐบาลจะสามารถใช้พื้นที่ใดของโลกใบนี้ทำงาน ข้าราชการจะนั่งทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
แต่สถานะของรัฐบาล “แบบนี้” คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพราะถือว่าไม่มีเสถียรภาพเพียงพอในการบริหารประเทศ
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ล่อแหลมในขณะนี้ "รัฐบาล" กำลังถูกบีบให้เข้าตาจน
นายกฯ และทีมงานจึงไม่มีทางเลือกที่จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย เข้ามาควบคุมดูแลผู้ชุมนุม ให้อยู่ในความสงบโดยเร็ว
โดยเฉพาะการเร่งนำพื้นที่หน่วยงานราชการ ที่ถูกผู้ชุมนุมยึดไปคืนกลับมาโดยด่วน
และเมื่อเจ้าหน้าที่ เริ่มปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับประชาชนอย่างแน่นอน
ภาพของกองเลือด ควันไฟ เพลิงลุกไหม้ ตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่ราชการ เหมือนในช่วงการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 อาจจะรีเทิร์นกับมาให้สังคมไทย ได้พบเจอกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้
หากจะย้อนเวลากลับไป ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 จะเห็นว่าภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานที่สำคัญหลายแห่งในกทม. จนถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตริ ถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้หาทางยุติปัญหาโดยเร็ว คำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกนำประกาศใช้อย่างเป็นทางการเหมือนกัน
จากนั้นสถานการณ์ก็เริ่ม “ตึงเครียด” ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วลี คำว่า “ขอพื้นที่คืน” “การกระชับพื้นที่” ดังกระกระหึมไปทั่วบ้านทั่วเมือง ท่ามกลางกองกำลังของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ที่ถูกระดมเข้ามาเพื่อสลายการชุมนุม
แม้ว่าจะมีการยืนยันจากตัวแทนรัฐบาลในขณะนั้น ว่า การดำเนินการของ เจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายการดำเนินเรื่องนี้เป็นไปตามหลักสากล เคารพหลักสิทธิมนุษยชนมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นหลัก
แต่บรรทัดสุดท้ายของการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ที่ออกมาก็จบลงด้วย ชีวิตของผู้ชุมนุม และกระสุนปืน จำนวนมาก ที่ต้องสูญเสียไป ตึกรามบ้านช่อง ถูกเผาไหม้ย่อยยับ กรุงเทพกลายเป็นทะเลเพลิง
สำหรับการชุมนุมในปี 2556 นี้ แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า บทสรุปสุดท้ายออกมาจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์จะเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2553 หรือไม่
แต่หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาแถลงการณ์ประกาศขยายประกาศการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุข
พร้อมระบุเหตุผลประกอบในคำสั่งดังกล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมามีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมประท้วงปิดล้อม และยึดสถานที่ราชการ โดยมุ่งหวังจะขัดขวางการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และพยายามให้เกิดความยืดเยื้อในการชุมนุมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว อีกทั้ง อาจมีผู้ไม่หวังดีเตรียมการก่อเหตุระหว่างการชุมนุมเพื่อหวังผลให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ ประกอบการบังคับใช้กฎหมายในระบบปกติยังขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอในการป้องกัน และระงับเหตุความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความสงบและความปลอดภัย มีเอกภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งเกิดความต่อเนื่องในการใช้อำนาจหน้าที่บังคับใช้ตามกฎหมาย”
บวกกับปัจจัยต่างๆ แนวโน้มการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ที่อาจจะเกิดความรุนแรงก็เริ่มเห็นเค้าลางมากขึ้น
และทำให้ใครหลายคนเริ่มวิตกกังวลว่า เหตุการณ์ความรุนแรง ในประเทศไทย เมื่อปี 2553 กำลังจะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2556 นี้ แน่นอน
เพราะ กลยุทธ์ รูปแบบ วิธีการ ที่ทั้งฝั่งผู้ชุมนุม และรัฐบาล นำมาใช้ในขณะนี้ มีความใกล้เคียงกันอย่างมาก
จะแตกต่างกัน ก็เพียงแต่ว่า ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ทั้งสองฝั่ง เปลี่ยนสถานะ และ จุดยืน กันอยู่คนละด้านฝั่งเท่านั้นเอง
สถานการณ์ขณะนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝั่งรัฐบาล และแกนนำผู้ชุมนุม จะต้องตัดสินใจทำอะไรให้รอบครอบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องตระหนักให้ถี่ถ้วน ถึงการใช้อำนาจ กำลังเจ้าหน้าที่ เข้าสลายการชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกได้
เพราะไม่ต้องไม่ลืมว่า ที่มาของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลพ่วงของการเสียสละเลือดเนื้อ ของ ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเมื่อปี 2553
หากคิดและตัดสินใจทำอะไรผิดพลาด จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลายใหญ่โต มีการนองเลือด เกิดขึ้น รัฐบาลชุดนี้ ก็คงมีสถานะไม่แตกต่างอะไรจากรัฐบาล ในยุคนั้น เข้าทำนอง “ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง”
ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เข้าไปปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องทบทวนท่าทีของตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของแกนนำ ว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถูกต้องหรือไม่? วิธีการที่เลือกใช้ เป็นไปตามแนวทาง “อสิงหา” ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้จริงหรือไม่ ?
การ “หยุด” เพื่อทบทวนบทบาท หาคำตอบ และจุดยืน ที่ชัดเจน ของทั้งฝ่ายรัฐบาล และแกนนำผู้ชุมนุม ก่อนที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนระอุอยู่ในขณะนี้
เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่า่ฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ จากสงครามการเมือง ครั้งนี้ แต่หากชัยชนะที่ได้มา ต้องแลกกับความเสียหายอย่างย่อยยับของประเทศ รวมถึงชีวิตประชาชนจำนวนมากที่อาจต้องสูญเสียไป มันไม่มีทางที่จะคุ้มค่ากันเลย
และมันจะนำมาสู่คำตอบที่แท้จริง ให้กับประชาชน ว่า สิ่งที่คุณทำอยู่ในขณะนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และแกนนำ คุณทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือผลประโยชน์ของใครกันแน่?