ช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน และให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยอนุโลม
สาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไข มีดังนี้
1. การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างเท่านั้น
2. การขยายระยะเวลา
(1) ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้าง ต้องเป็นคู่สัญญาที่ได้ลงนามทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยบังคับใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับหน่วยงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 หรือสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับหน่วยงาน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2556 ซึ่งสัญญาดังกล่าว ณ วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 22 เมายน 2556 ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 22 เมษายน 25566 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ให้ความช่วยเหลือฯ ยกเว้นสัญญาที่หน่วยงานได้พิจารณาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 แล้วว่า จะบอกเลิกสัญญา เนื่องจากคู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา กรณีสัญญาดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีนี้
(2) สัญญาจ้างก่อสร้างที่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ (1) ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 150 วัน ในกรณีอายุสัญญาจ้างก่อสร้างน้อยกว่า 150 วัน ก็ให้ขยายระยะเวลาได้เท่ากับอายุสัญญาเดิม
(3) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้รับการขยายระยะเวลาออกไปตามข้อ (2) ให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้
(3.1) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา และได้ถูกปรับไว้ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2556 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าปรับในช่วงก่อนหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือฯ แต่จะได้รับการลดหรืองดค่าปรับเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้เท่านั้น
(3.2) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาตามสัญญา ให้ขยายระยะเวลา โดยนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเดิม
(4) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือฯ หากการขยายระยะเวลาออกไป มีผลทำให้ผู้รับจ้างไม่ถูกปรับ ก็ให้งดลดค่าปรับ หรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริง แล้วแต่กรณี
(5) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้รับความช่วยเหลือหากสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมีการจ้างเอกชนควบคุมงาน ค่าจ้างควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษา ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับภาระค่าจ้างควบคุมงาน และหรือค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป เนื่องจากผู้รับจ้างได้รับประโยชน์จากการได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว
(6) ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือจะต้องยื่นคำร้องขอต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
(7) กรณีคู่สัญญาใดเห็นว่า การได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ยังไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้และมีเหตุผลอันสมควร ให้หน่วยงานพิจารณาและหากเห็นสมควรขยายระยะเวลา ก็ให้เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเพื่อพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
3. การพิจารณาไม่ลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน
หากในกรณีที่หน่วยงานได้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างไปแล้ว สืบเนื่องจากผู้รับจ้างได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งได้บอกเลิกสัญญาในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2556 ให้ถือว่าไม่เป็นผู้ทิ้งงาน
4. ให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือฯ ดังกล่าว
5. เพื่อความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวม จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และมีมติแจ้งเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
6. มอบให้กระทรวงมหาดไทยนำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดจ้างก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยอนุโลม
สำหรับประเด็นการขอใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัวร้อยละ 0.01 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ และการขอประกันผลงานของตนเอง เมื่อผลงานก่อสร้างนั้นก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 6 เดือน โดยไม่ต้องใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารนั้นเป็นประเด็นเรื่องหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้รับจ้างจะต้องนำหลักประกันสัญญามาวางในขณะทำสัญญาตามอัตราที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนด และผู้ว่าจ้างจะคืนให้แก่ผู้รับจ้างเมื่อพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา โดยสัญญาดังกล่าวจะต้องประกันความชำรุดบกพร่องไม่น้อยกว่า 2 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2536 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/ ว 1 ลงวันที่ 3 มกราคม 2537 เรื่อง มาตรการป้องกันหรือลดโอกาสในการสมยอมกันในการเสนอราคา คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเห็นว่า เนื่องจากทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว ยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงเห็นควรให้ กค. โดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมเพื่อปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป