เปิดใจ "จูแว" พลัดถิ่น (3) ทักษิณ - โจรใต้ - สื่อไทย - สะแปอิง
เป็นที่ทราบกันดีแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเองว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ "บีอาร์เอ็น" หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีนั้น มีอุดมการณ์สูงสุดอยู่ที่ "เอกราช" เพียงอย่างเดียว ไม่มีเจรจา
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยแบบไม่เชื่อมั่นว่า การยอมเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพของบีอารเอ็นเป็นเรื่องลวงโลกหรือไม่ และ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยที่อ้างว่าได้รับฉันทานุมัติจาก "สภาองค์กรนำ" ของบีอาร์เอ็น เป็นเพียง "ตัวปลอม" หรือเปล่า หรือว่าถูกบีบบังคับจากทางการมาเลเซียให้มาร่วมโต๊ะพูดคุย
จากการสอบถามข้อข้องใจเหล่านี้กับแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยปัตตานี ทั้งบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี ซึ่งเรียกตัวเองเป็นภาษามลายูว่า "จูแว" และพำนักอยู่ในต่างประเทศ ได้รับคำอธิบายว่าเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อของพวกเขา จึงตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อนเลย
ที่สำคัญพวกเขายืนยันตรงตามข่าวที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยเที่ยวนี้
ทึ่ง!รัฐบาลไทยยอมเปิดตัว
"เราวางหลักการเอาไว้ 3 ประการ คือ 1.รัฐไทยต้องประกาศอย่างชัดเจนจะใช้กระบวนการสันติภาพในการแก้ไขปัญหา และต้องเป็นกระบวนการเปิด ไม่ใช่ปิดลับ 2.ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลาง และ 3.กระบวนการสันติภาพต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นเงื่อนไขหากเราจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุย และแทบไม่อยากเชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะกล้ารับและประกาศเรื่องนี้ต่อสาธารณะ" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวรายหนึ่งอธิบาย
การประกาศต่อสาธารณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวพูดถึง ก็คือการแถลงข่าวการลงนามข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางเยือนมาเลเซีย และร่วมแถลงข่าวกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียด้วย
"จริงๆ แล้วกระบวนการพูดคุยไม่ได้เพิ่งเริ่มในรัฐบาลนี้ แต่เคยมีมาก่อนแล้ว เช่น สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ตอนนั้นได้ทำกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มนายกัสตูรี (นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโลใหม่) โดยการอำนวยความสะดวกของเอชดีซี (อังรีดูนังต์ เซ็นเตอร์ เป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ) แต่นั่นเขาทำแบบลับๆ จึงไม่มีอะไรคืบหน้า และเอชดีซีก็เคยทาบทามพวกเราเข้าไปร่วม แต่พวกเราไม่เข้า มีเพียงกัสตูรีกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ไป" หนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวกล่าวเสริม
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวซึ่งมีทั้งตัวแทนบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี กล่าวต่อว่า พวกเขาไม่อยากเชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะกล้าประกาศเรื่องนี้ เพราะตลอดมาทางการไทยทำกระบวนการสันติภาพในลักษณะปิดลับมาตลอด
"ยิ่งลักษณ์ประกาศอย่างเป็นทางการ เราก็ตกใจเหมือนกัน เราก็เลยมาพูดคุยปรึกษากันว่าหลักการที่เราวางไว้ 3 ข้อน่าจะเป็นจริงได้ จึงเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย ตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ"
ยอมรับ "ทักษิณ" มีเอี่ยว
คณะสื่อมวลชนไทยถามถึงบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ และถามต่อว่าเหตุใดจึงยอมคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกโจมตีว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวตอบว่า เป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อในเบื้องต้นก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะดำเนินการในเชิงรูปธรรม
"ตัวแทนพวกเราทุกกลุ่มเคยได้พบและพูดคุยกับทักษิณ เราได้คุยกันว่าเราจะร่วมกระบวนการสันติภาพภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ จริงๆ เราคุยกันก่อนที่ทักษิณจะเข้ามา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าให้มาเลเซียเป็นคนกลาง และให้ทุกกลุ่มเข้าร่วม เป็นความบังเอิญของทักษิณเท่านั้นเอง แต่สิ่งสำคัญคือยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนไม่เชื่อใจทักษิณ หลังจากนี้เข้าใจได้ว่ากลุ่มที่ไม่เชื่อก็อยากเข้ามาร่วมกระบวนการสันติภาพด้วยแล้ว เพราะกลัวจะตกขบวน"
มาเลย์มีผลประโยชน์
เมื่อถามต่อถึงเหตุผลที่ต้องตั้งเงื่อนไขให้มาเลเซียเป็นคนกลาง เพราะในประเทศไทยมีข่าวว่ากลุ่มเคลื่อนไหวถูกทางการมาเลเซียบังคับให้ร่วมโต๊ะพูดคุย แกนนำกลุ่มจูแว กล่าวว่า ประเทศที่รู้เรื่องราวความขัดแย้งในปัตตานีมากที่สุดคือมาเลเซีย ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง ประกอบกับเมื่อเกิดความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือมาเลเซีย
"เรารู้ดีว่ามาเลเซียเองก็มีเป้าหมายเรื่องผลประโยชน์ ทุกคนมีผลประโยชน์ ทักษิณก็มีผลประโยชน์ แต่เราคิดว่าถ้าเราเข้ากระบวนการสันติภาพแล้วมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง เราจะได้ประโยชน์มากกว่าให้ประเทศอื่นเข้ามาเป็นตัวกลาง ที่ผ่านมาเราเคยทดลอง ทดสอบ พูโลก็เคยมีประสบการณ์กับเอชดีซี สุดท้ายคิดว่ามาเลเซียดีที่สุด เราไม่ค่อยสนับสนุนให้คนอื่นเป็นตัวกลางนอกจากมาเลเซีย ถ้าเป็นมาเลเซียเรายินดี"
"ส่วนที่เข้าใจว่าเป็นการบังคับนั้น จริงๆ มีการดำเนินการในทางลับมาแล้วเป็นปีก่อนลงนามวันที่ 28 ก.พ. ตั้งแต่เมื่อครั้งตัวแทนทุกกลุ่มได้คุยกับทักษิณ (มี.ค. 2555) เพียงแต่ในช่วงของการลงนามนั้น ฝ่ายขบวนการยังไม่พร้อม แต่เมื่อทางการไทยยอมรับเงื่อนไข จึงมีความจำเป็นต้องรับและต้องเซ็น และมีการแก้ไขกระบวนการภายในที่เป็นจุดอ่อน เราค่อนข้างมั่นคงว่าแนวทางนี้จะเดินหน้าต่อไป ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นด้วยภาพที่ไม่ค่อยจะสวยสักเท่าไหร่ก็ตาม"
โอไอซี "ผู้สังเกตการณ์"
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ย้ำด้วยว่า ทุกกลุ่มมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลมาเลเซีย เห็นได้จากก่อนการลงนามเมื่อ 28 ก.พ. มาเลเซียเชิญตัวแทนทุกกลุ่มไปร่วม แต่มีบางกลุ่มไม่ไป นั่นแสดงว่าไม่ได้เป็นการบังคับ ส่วนข้อเสนอของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ให้เอ็นจีโอต่างประเทศ และองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพด้วยนั้น จะอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (observer)
"เราต้องมี observer เพราะกลัวว่าข้อตกลงจะไม่ได้รับการปฏิบัติ ที่ผ่านมาเราเคยมีประสบการณ์จากกระบวนการแบบปิดลับ ปรากฏว่าตัวแทนฝ่ายไทยก็ไม่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับฝ่ายเราที่ไม่ได้รับอนุมัติจากขบวนการ"
สมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ "คนกลาง" ต้องได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมากลุ่มเคลื่อนไหวเคยนำปัญหาปัตตานีไปเสนอกับประเทศในแถบยุโรป ปรากฏว่าประเทศเหล่านั้นก็พร้อมเป็นตัวกลางให้ แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาภายใน
"อย่างที่ทราบกันว่ามาเลเซียสนใจเรื่องนี้เพราะมีผลประโยชน์ของเขา ประกอบกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เข้าใจรากเหง้าปัญหาและการต่อสู้ของปัตตานีดีที่สุด"
ขณะที่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งบอกว่า อย่าได้เข้าใจว่ามาเลเซียช่วยเหลือกลุ่มเคลื่อนไหว เพราะบางสิ่งที่พวกเขาทำ มาเลเซียก็ไม่ชอบเหมือนกัน
ปัญหาใต้ต้อง"วาระแห่งชาติ"
การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง แต่เนื้อหาของการพูดคุยแทบจะยังไม่คืบหน้า ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยดูจะยังเป็นปัญหาที่ย่ำอยู่กับที่มาหลายสิบปีกระทั่งปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อกระบวนการแสวงหาทางออก
"การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ขาดเสถียรภาพ เป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยแน่นอน วันนี้กลุ่มของพวกเราถือว่าใครจะเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่กระบวนการสันติภาพต้องเดินหน้าต่อ ใครจะเป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯเราไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญเลย" หนึ่งในแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวให้ความเห็นถึงความวุ่นวายทางการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน
แกนนำคนเดิมกล่าวต่อว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาล นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนกัน คือ "ใช้ทหารนำ" สถานการณ์ ณ วันนี้หากถามว่าอะไรจะเกิดในอนาคตคงยังชี้ชัดไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากอำนาจไป ก็ต้องติดตามดูว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสันติภาพหรือไม่
ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การกำหนดให้ปัญหาภาคใต้และการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองหรือตัวบุคคล เพราะหากเป็นนโยบายแห่งชาติ หรือวาระแห่งชาติ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป
ตั้งทีมเชื่อม"พุทธ-มุสลิม"
อีกหนึ่งข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่มเคลื่อนไหวในระหว่างดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็คือ การวางกลไกลดความหวาดระแวงของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรงอย่างยิ่งในปัจจุบัน
"ต้องมีองค์กรเฉพาะเชื่อมการทำงานระหว่างคนพุทธกับมุสลิมเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน นอกจากนั้นก็ต้องไม่ให้มีกองกำลังติดอาวุธอยู่ในชุมชนพุทธหรือวัด เพราะทำให้เกิดบรรยากาศเสมือนหนึ่งว่าทหารกำลังใช้คนพุทธหาข้อมูลข่าวสาร และกระตุ้นปลุกขวัญคนไทยพุทธให้เกิดมากขึ้นในเรื่องของการมองความเลวร้ายทั้งหลายว่าเป็นการกระทำของมุสลิมไปหมด" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่ง กล่าว
ฉุนสื่อไทยเรียก"โจรใต้"
ตลอดการพูดคุยและสัมภาษณ์ แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวซึ่งมาจากทั้งขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี ที่จะมีตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป ระบายความในใจว่า มีความรู้สึกเป็นลบกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยกระแสหลัก โดยเฉพาะการพูดเหมารวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวว่า "โจรใต้"
"จากประสบการณ์ 30-40 ปี เวลาอ่านสื่อไทย ทำไมต้องพูดอย่างนี้ เรียกอยู่คำเดิม...โจรใต้ เมื่อก่อนคนปัตตานีไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนไม่มาก อาจจะเป็นจริงก็ได้ แต่ปัจจุบันคนปัตตานีเรียนหนังสือเยอะ เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามากมาย และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเคลื่อนไหว อย่างนี้ยังเป็นโจรอีกหรือ"
ขณะที่สมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่ง กล่าวกลั้วหัวเราะว่า "เคยเห็นนักข่าวแต่ในสื่อ ไม่เคยพบหน้าตาที่แท้จริง สื่อก็ไม่เคยเห็นกลุ่มเคลื่อนไหว อาจจะเรียกโจรหรืออะไรก็ได้ แต่วันนี้ได้เจอตัวจริง อยากถามว่าหน้าอย่างผมเป็นโจรหรือไม่"
และว่า "หน้าตาอย่างนี้คือนักรบ นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้อยู่ ผมไม่ได้ต่อสู้กับคนไทยทั้งหมด ไม่ได้ต่อสู้กับประชาชนคนไทย แต่ต่อสู้กับผู้ยึดครอง นักล่าอาณานิคมไทย ผมต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ถืออาวุธ ทหาร ตำรวจ ทำไมสื่อถึงกล่าวหาว่าผมเป็นโจร ในความเป็นจริง รัฐไทยก็พยายามทำให้ผมเป็นโจร"
แกนนำกลุ่มพูโล ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อไทยถูกควบคุมโดยรัฐกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะจากประสบการณ์เห็นว่าอะไรที่รัฐบาลพูด สื่อก็ออกหมด ไม่ว่าจะเท็จจริงอย่างไร ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ แล้วไปเพิ่มเติมข้อมูลที่ไม่จริงและเป็นเชิงลบ ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเขาขาดความเชื่อมั่นเชื่อใจสื่อไทย
"ภาพที่เห็นคือสื่อรายงานข่าวหนักไปข้างรัฐบาลมากกว่าที่จะอยู่ตรงกลาง" แกนนำกลุ่มพูโล กล่าว
ด้านคณะสื่อมวลชนไทยกระแสหลัก ได้อธิบายถึงการทำหน้าที่ของสื่อ ความหลากหลายของรูปแบบการสื่อสาร พร้อมยืนยันความเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐ ทำให้หนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวกล่าวว่า อยากเสนอให้สื่อได้ทำหน้าที่ของตนเองบนความยุติธรรม บนความถูกต้อง บนข้อเท็จจริงที่เป็นจริง รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปัตตานีให้คนทั่วไปของประเทศได้ทราบ เพราะความจริงจะทำให้เกิดความเข้าใจ สุดท้ายจะทำให้เกิดความสงบและสันติสุขได้
เหลือ 3 กลุ่มที่ยังแอคทีฟ
เมื่อถามถึงสถานะของกลุ่มเคลื่อนไหวว่ามีกี่กลุ่ม ณ ปัจจุบันที่ยังคงสถานภาพการต่อสู้อยู่ หนึ่งในกลุ่มจูแว กล่าวว่า กลุ่มเคลื่อนไหวที่เคยมีอยู่และมีจนถึงปัจจุบันก็มีหลักๆ อยู่เท่านี้ (บีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี) อาจจะมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกทั้งที่แอคทีฟและไม่แอคทีฟ (ยังเคลื่อนไหวอยู่ และหยุดเคลื่อนไหวแล้ว) และมีบางกลุ่มที่ภายในมีความคิดแตกต่าง แต่ยังเป็นองค์กรเดิมอยู่ พื้นฐานที่มีก็คือ 3 กลุ่ม บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี
"กลุ่มบีไอพีพีเป็นส่วนหนึ่งที่ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน (อดีตประธานเบอร์ซาตู) เป็นหัวหน้า แต่ปัจจุบัน ดร.วันกาเดร์ วางมือแล้ว" เขากล่าว
ส่วนโครงสร้างการบริหารองค์กรนั้น แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทุกคนปฏิเสธที่จะเปิดเผย โดยบอกเพียงว่า "บางกลุ่มเปิดตัวชัดเจน มีเว็บไซต์ และมีบางองค์กรที่อยู่ใต้ดิน ที่เสนอหน้ามาก็มีบ้าง แต่ไม่รู้ว่าใครคือหัวหน้าของตัวเอง"
เมื่อถามถึง สะแปอิง บาซอ ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำระดับสูงสุดของบีอาร์เอ็น แกนนำจากบีอาร์เอ็น ตอบว่า "ในองค์กรของเรามีผมกับหัวหน้าผมเท่านั้นที่ผมรู้ คนอื่นผมไม่รู้ว่าใครเป็นใคร" เมื่อซักต่อถึงความเป็นไปได้ที่ สะแปอิง บาซอ จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจา ก็ได้รับคำตอบว่า...
"เราไม่ใช่ราชการ ผมเป็นนักเคลื่อนไหว คนที่ชัดเจนไม่จำเป็นต้องมาเสนอหน้า คนเหล่านั้นไม่ต้องมาเสนอหน้า นี่คือกระบวนการบริหารจัดการองค์กรของเรา"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้นฉบับจากเว็บไซต์ Siam Intelligence http://bit.ly/1aZfhD3
หมายเหตุ : ภาพผ่านการปรับแต่งโดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา