เปิดแนวคิดครูไทย กับหลักความ ‘กล้าที่จะสอน’ ตามรอย ‘ปาร์เกอร์’
‘ปาร์เกอร์ เจ. ปาล์เมอร์’ เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการสอนมากกว่า 30 ปี และเป็นผู้ที่ชี้ให้เห็นว่า การสอนที่ดีไม่สามารถถูกลดทอนลงเหลือเพียงเรื่องทางเทคนิคได้ หากแต่หยั่งลึกลงในอัตลักษณ์และความซื่อตรงของคนที่เป็นครู จนสามารถสร้างโอกาสและพื้นฐานชีวิตที่ดีให้กับนักเรียน ถูกเรียงร้อยประสบการณ์ผ่านตัวอักษรร่วม 10 ปีในหนังสือ ‘กล้าที่จะสอน’ ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยบริษัท สวนเงินมีมา จำกัด
ซึ่งเร็ว ๆ นี้ในเวทีเสวนาที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มีการหยิบยกเรื่องราวการเป็นครูที่ดีในหนังสือขึ้นมาถ่ายทอดในหัวข้อ ‘กล้าที่จะสอน:จิตวิญญาณใหม่ในครูคนเดิม’ ไว้อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางผู้รับฟังอย่างคับคั่ง
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองผ่านหนังสือว่า คนจะสอนหนังสือได้ดีนั้นต้องมีลักษณะที่มีมากกว่า ‘ความรู้ที่สอน’ ซึ่ง ‘ปาร์เกอร์’ ได้ชี้ให้เห็นคนเป็นครูจะต้องรู้จักเข้าใจตัวเองอย่างดีด้วย
แต่สำหรับตนเองนั้นเชื่อว่า คนจะเป็นครูที่ดีได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ลักษณะ ได้แก่
1.อุดมการณ์ ครูที่ไม่มีอุดมการณ์จะเป็นครูไม่ได้ เพราะคนที่เป็นครูต้องมีจิตวิญญาณ ซึ่งเคยพูดเสมอว่าไม่มีอาชีพไหนที่ทำไปแล้วผู้รับบริการจะซาบซึ้งกับตัวเราไปตลอดชีวิตและไม่มีอาชีพไหนที่ให้รางวัลความภาคภูมิใจกับตนเองได้เท่าอาชีพครู
2.ความรับผิดชอบ สุภาษิตฝรั่งบอกว่า “ลูกเป็นทรัพยากรที่ดีที่สุดสำหรับคนยากจน” ดังนั้นสำหรับคนที่มีฐานะไม่มั่นคงลูกจึงมีความสำคัญที่สุด ครูจึงต้องตระหนักความรับผิดชอบตรงนี้
3.อารมณ์ ครูที่ดีจะไม่นั่งสอน แต่จะยืนสอน ตนเองไม่เคยเห็นอาจารย์ในต่างประเทศนั่งสอนเหมือนไทย เพราะการยืนจะทำให้เกิดความตื่นตัว ส่วนการนั่งจะทำให้สูญเสียความมุ่งมั่น ยกตัวอย่าง นักเรียนจะตื่นตัวทุกครั้งเมื่ออาจารย์ยืนสอน แต่หากอาจารย์นั่งสอน นักเรียนจะค่อย ๆ หลับทั้งห้อง
เหตุ 3 ปัจจัยทำโครงสร้างการศึกษาไทยต่ำ
เมื่อถามถึงปัญหาระบบโครงสร้างการศึกษาไทย รศ.ดร.วรากรณ์ ชี้ว่า เกิดจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่
1.การบริหารจัดการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดราว 3 แสนล้านบาท/ปี จึงถือเป็นประเทศที่มีการจัดสรรงบประมาณให้กับระบบการศึกษามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่เมื่อการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ยกตัวอย่าง ไทยมีจำนวนบุคลากรครูประมาณ 4 แสนคน ครูผู้ช่วย 5 แสนคน แต่กลับพบโครงสร้างอายุราชการครูอยู่ในช่วง 50-60 ปี สูงถึงร้อยละ 40 นั่นหมายถึง อีก 10 ปีข้างหน้า ครูจำนวนเกือบครึ่งจะต้องเกษียณอายุราชการ ดังนั้นเมื่อโครงสร้างประสบปัญหาเช่นนี้ จึงกลายเป็นเสียงสะท้อนกลับไปถึงการบริหารจัดการที่ไม่ดีแน่นอน ซึ่งการบรรจุครูประจำการใหม่ก็ต้องใช้ระยะเวลานานมาก เพราะกระทรวงฯ มุ่งเน้นปฏิรูปเฉพาะด้านตำแหน่งและเงินเดือน
2.ความรับผิดรับชอบ โดยปกติหากครูทำงานแล้วไม่เป็นผลดีกับนักเรียน จะต้องไม่ได้ปรับเงินเดือนหรือถูกลงโทษ เมื่อผู้บริหารในโรงเรียนปกครองครูไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนักเรียนมีผลการเรียนอ่อน ครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้บริหารระดับเขตและในกระทรวงฯ ต่างได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน โดยไม่กลับมาดูผลงานของตนเอง จึงถือว่ายังไม่มีความรับผิดรับชอบ
3.ต้องโทษสังคม นักเรียนคนหนึ่งจะมีชีวิตอย่างไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ครู ตลอดจนถึงสังคมด้วย เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาแล้ว พบว่า นักเรียนใช้ช่วงเวลาในโรงเรียนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ขณะที่อีกร้อยละ 85 กลับใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคม ฉะนั้นหากสังคมไทยเข้มแข็งนักเรียนก็จะได้ดี จึงทิ้งไว้เป็นหน้าที่ของครูไม่ได้
“การศึกษาไทยทุกวันนี้เปรียบได้กับประเทศที่พัฒนาและไม่พัฒนา โดยในเมืองใหญ่จะเห็นคุณภาพการศึกษาดี แต่ที่แย่ คือ ได้ละเลยนักเรียนในต่างจังหวัด จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นต้องแก้ไขที่การบริหารจัดการ มิเช่นนั้นจะเป็นปัญหาต่อไปมาก” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
ครูที่ดีต้องเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์
ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักวิชาการอิสระ มองว่า หนังสือแต่ละเล่มที่เราหยิบขึ้นมาอ่าน ผู้เขียนแต่ละคนล้วนมีพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นจงอย่าไปตื่นเต้นมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ ‘ปาร์เกอร์’ แอบแฝงไว้ นั่นคือ จงอย่าเป็นคนอื่น หมายถึง อย่าเชื่อแม้แต่ผู้เขียนพูด เพราะการที่เราต้องการเป็นคนอื่น จะทำให้เป็นครูที่ดีไม่ได้
“คนเป็นครูจะไปสนใจเรื่องเทคนิคไม่ได้ เพราะหลักความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังเกตได้ในสถาบันการศึกษาวิชาชีพครูหลายแห่ง ส่วนใหญ่มักจะฝึกเทคนิคการสอน แต่การเสริมทักษะการสอนความเป็นมนุษย์ไม่ค่อยได้รับความสนใจ” ดร.อุทัย กล่าว และว่ามักบ่นนักเรียนไม่ดี เพราะเกิดจากสถาบันและอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากครูต่างคาดหวังหากการสอนดี การประเมินดี นักเรียนก็ต้องได้ดี ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ควรคิดถึงหลักความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น
ดร.อุทัย จึงแนะว่าเมื่อครูต้องพบกับเด็กนรกตามที่ปรากฏในหนังสือจนรู้สึกท้อใจ หากเราเชื่อในหลักธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จะรู้สึกแย่ทำไม จะคาดหวังทำไม เพราะได้เชื่อในความแตกต่างหลากหลายแล้ว สิ่งที่ควรทำ คือ ครูจะต้องช่วยให้นักเรียนเติบโตตามเท่าศักยภาพที่มี แต่หากยังคงผิดหวังกับนักเรียน แสดงว่าครูคนนั้นไม่เชื่อกับการเปลี่ยนแปลง
“ครูมักไปคาดหวังกับนักเรียน ไม่ยอมรับความแตกต่างในสังคม แต่หากครูเกิดความเชื่อจริง ๆ ความรู้สึกแย่ทั้งหลายจะเบาบางลงไป ส่วนที่ทุกวันนี้ครูทนไม่ได้ เพราะไม่มีความเชื่อ” ดร.อุทัย กล่าว
ทุกพฤติกรรมของเด็กย่อมมีที่มาที่ไป
ผศ.อรรถพล อนันตวรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นักเรียนมิได้จดจำความรู้ที่ครูสอนอย่างเดียว แต่จะจดจำลักษณะประจำตัวของครูคนนั้นด้วย ดังนั้นขณะนี้ครูหลายคนได้ตระหนักรู้หรือไม่ว่ากำลังจะสร้างอนาคตใหม่ให้แก่สังคม
“นักเรียน 40 คน ที่ครูต้องพบเจอวันละ 3-4 คาบ อนาคตเขาจะเป็นคนในอาชีพต่าง ๆ เป็นอนาคตของสังคม เช่นนั้นแล้วสังคมจึงไว้วางใจให้ครูอย่างเราดูแล หากครูได้ตระหนักรู้บทบาทของตนเองมากขึ้นว่าเราจะต้องทำอะไรตลอด 50 นาทีในคาบเรียนนั้น สิ่งนั้นคงไม่ใช่เพียงความรู้ที่จัดเตรียมไปถ่ายทอด”
ผศ.อรรถพล ย้อนความหลังให้ฟังด้วยว่า สมัยที่ตนเองสอนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทำให้รู้ความจริงว่าต้นแบบการเป็นครูที่ดีนั้นมิใช่ครูในมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นนักเรียนต่างหากที่ช่วยสอนตนเอง ทำให้ตลอดเวลาช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ การสอน แต่ทุกครั้งจะหมดแรงเมื่อต้องกลับมาประชุม ทำเอกสารต่าง ๆ ถือว่าประการหลังเป็นช่วงบั่นทอนชีวิตที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่ออยากเป็นครูจำเป็นต้องแลกสิ่งที่มาบั่นทอนชีวิต
“คิดว่าครูทุกคนจะรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ในเวลาทำงานอื่น แต่สำหรับตนเองการได้อยู่กับนักเรียน คือ ช่วงเวลาในการชาร์ตแบต” ผศ.อรรถพล กล่าว และว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติที่สุด เพราะทุกครั้งเมื่อเข้าสอนจะเห็นพลังบางอย่างในดวงตาของนักเรียน ทำให้เราอยากจะตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม แม้บางครั้งอาจจะเจอนักเรียนไม่ดีบ้าง แต่เชื่อว่าทุกพฤติกรรมของเด็กย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ หากเรามองด้วยความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นครู
นร.เกิดมาไม่เหมือนกัน ครูต้องเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
อ.สุวรรณี พรหมประสิทธิ์ โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้การประกอบวิชาชีพครูประสบความสำเร็จจะต้องเริ่มด้วยความรัก ความงาม และสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งครูจะมิได้เกี่ยวข้องกับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชนด้วย และเมื่อเกิดปัญหาย่อมมีทางแก้ไขเสมอ
“ถามว่าหมดใจหรือไม่ ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะมันยังมีเพื่อน มีนักเรียนที่น่ารัก มีผู้ปกครองที่น่ารัก มีผู้บริหารที่เข้าใจ พยายามคิดว่าปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ค่อย ๆ ดูบริบทของฝ่ายต่าง ๆ” อ.สุวรรณี กล่าว
อ.สุวรรณี กล่าวต่อว่า เด็กที่ทำให้เราหนักใจมีอยู่บ้าง เพราะโรงเรียนระดับภูธรจะรับนักเรียนไว้ค่อนข้างมาก ราว 50 คน/ห้อง มีรูปแบบปัญหาหลากหลาย ทั้งสภาพครอบครัว สติปัญญา แต่ตนเองพยายามทำวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่างไรก็ตาม นักเรียนจะไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะที่บ้านอาจจะไม่มีคนดูแล ฉะนั้นในโรงเรียนครูจึงควรดูแล โดยคนที่โตกว่าควรจะปรับตัวโน้มลงไปหานักเรียนเพื่อทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะดูราบรื่นมากหากครูทุกคนเข้าใจนักเรียน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์ เพียงแต่ใช้เหตุผลแทน
“นักเรียนแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน เราต้องเรียนรู้ความเท่าเทียม จะได้ดูแลนักเรียนให้ก้าวไปวันข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้จะมีการเยี่ยมบ้าน แต่การเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งก็จะอยู่กับผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทำให้ครูกับผู้ปกครองร่วมกันแก้ไขปัญหาค่อนข้างน้อย” อ.สุวรรณี กล่าว และให้เหตุผลว่าเพราะบางบ้านผู้ปกครองไม่ค่อยได้เจอลูก ถามว่ารักลูกหรือไม่ ต้องบอกว่ารัก แต่เพียงรักคนละรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ หากเราเอาใจใส่จะช่วยแก้ไขให้เด็กหลุดพ้นจากปัญหาได้
ครูที่ดีไม่ใช่แค่สอนวิชาการ แต่ต้องสอนความเป็นคน
ขณะที่อ.นำโชค อุ่นเวียง โรงเรียนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ กล่าวว่า เมื่อได้มาเป็นครูจึงรับรู้นอกจากการสอนด้านวิชาการแล้ว ครูที่ดีจะต้องสอนในเรื่องของความเป็นคนด้วย เพราะเราเหมือนผู้ปกครองคนที่ 2 ของนักเรียน ยกตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้บอกว่านักเรียนจากนรก พอเปิดมาเจอความจริงเราเคยมีประสบการณ์แบบนี้
ดังเช่น กรณีนักเรียนคนหนึ่งมาสายบ่อยมาก และชอบแอบหลับให้ชั้นเรียน จนวันหนึ่งเราทนไม่ไหวจนต้องเรียกมาคุยว่าเธอมีปัญหาอะไร เรียกว่าเรามีอคติกับนักเรียนคนนี้อยู่แล้วว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่พอได้ถามจึงรู้ว่ามีคุณแม่อยู่คนเดียว รวมถึงตัวเขาต้องช่วยคุณแม่ขายของถึง ตี 2 อีกทั้งตอนเช้าก็ต้องมาช่วยเตรียมของจึงทำให้มาโรงเรียนสายและง่วง นับเป็นตัวอย่างสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าบางคนไม่ใช่พฤติกรรม บางทีมีภาวะบางอย่างทำให้เขาเป็นแบบนั้น ดังนั้นหากเราจะเข้าใจนักเรียนได้ต้องเข้าใจถึงข้างในของเขาด้วย
เมื่อถามว่ามีวันไหนที่ท้อแท้กับอาชีพครูหรือไม่ อ.นำโชค ตอบว่าชัดเจนว่ามีเช่นเดียวกับในหนังสือ ซึ่งตรงนี้ตนเองก็เคยนั่งคิดกับตนเองเหมือนกันว่า “มันใช่ป่ะวะกับสิ่งที่ทำอยู่ อยากไปทำอะไรที่ใช่ตัวเอง อยากทำอะไรที่สนุกกว่านี้”
“บางครั้งในการท้อแท้ใจอาจมาจากการสอน เตรียมเนื้อหาไปเยอะมาก แต่ผลตอบรับกลับมาไม่ดีเท่าที่คาดหวัง แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ก็รู้สึกถึงพลังในด้านบวกเหมือนกันที่ทำให้เราได้ย้อนกลับไปดูตัวตนของเราเอง”
อ.นำโชค กล่าวอีกว่า การเป็นครูไม่ได้ราบรื่นเสมอ ดังนั้นหลักใหญ่ของครูมิได้มีหน้าที่แค่สอน แต่ครูมีหน้าที่วิธีการแก้ปัญหาอย่างไรที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความของครู จริงแล้วงานครูไม่ใช่งานสอน แต่ต้องมีมากกว่างานสอน หรือบางทีโทรมาปรึกษา เราก็ต้องรับฟังและคุย ท้อแท้ก็มีบ้าง แต่ทำให้เรามีพลังด้านบวกว่าปัญหาทุกอย่างล้วนมีทุกวงการอยู่แล้ว .
ภาพประกอบ:http://156743432.blogspot.com/
http://guidance.mimoproject.co.th
http://dukdumbaan.blogspot.com