เปิดเอกสาร สมช.ตอบ BRN ใช้ภาษาการทูต ยื่นกลับ 2 ข้อเบาหวิวไร้กดดัน
เปิดเอกสาร สมช.ตอบ 5 ข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็น ใช้ถ้อยคำภาษาการทูต "เราได้ยอมรับเพื่อพูดคุยกันต่อไป" ขณะที่ 2 ข้อเรียกร้องที่ยื่นกลับ "เบาหวิว" เป็นแค่ยาหอมขอให้ทำงานร่วมกัน สอดรับข่าวจากทางฝั่งขบวนการอ้างไทยรับ 5 ข้อแล้ว ซ้ำยังแถมให้อีก 2 ข้อ ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ยังระอุ กำลังผสมบุกจู่โจมค้นบ้านเป้าหมายที่รือเสาะ-ระแงะ นราธิวาส รวบ 9 ผู้ต้องสงสัยพร้อมยุทโธปกรณ์อื้อ
การพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โต๊ะพูดคุยสันติภาพยังคงดำรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่บางฝ่ายเชื่อว่าน่าจะหมดสภาพไปแล้ว เป็นเพราะรัฐบาลไทยยอมตอบข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น
อนึ่ง ตั้งแต่ผู้แทนรัฐบาลไทยโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับแกนนำบีอาร์เอ็นโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้นัดพูดคุยกันภายใต้การอำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียมาแล้ว 3 ครั้ง โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อให้รัฐบาลไทยพิจารณายอมรับ ซึ่งมีการเสนอทั้งด้วยวาจา ผ่านคลิปวีดีโอ และเป็นเอกสาร แต่รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงท่าทีเชิงตอบรับ ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไปตั้งแต่เดือน มิ.ย.
ต่อมา ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ได้ประสานส่งคำอธิบายเพิ่มเติมข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอารเอ็น เป็นเอกสารความยาว 38 หน้า ให้กับรัฐบาลไทยช่วงต้นเดือน ก.ย. และรัฐบาลไทยได้นำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา กระทั่งมีคำตอบผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา การนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 จึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาในเอกสารคำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่ลงนามโดย พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย จึงทำให้มีข่าวลือมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อดังกล่าวแล้ว ขณะที่เว็บไซต์สื่อมวลชนทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้บางแห่งซึ่งสามารถติดต่อกับแกนนำคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ ก็รายงานข่าวอ้างข้อมูลจากฝ่ายบีอาร์เอ็นและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่น เช่น พูโลว่า รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อแล้ว และยังแถมให้ 2 ข้ออีกด้วย
กระนั้น ข่าวดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยหลายหน่วย โดยเฉพาะกองทัพ โดยมีการยืนยันจากแหล่งข่าวในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เพียงแต่ "รับไว้พิจารณา" ทั้งยังเสนอข้อเรียกร้องกลับไปยังบีอาร์เอ็น 2 ข้อ คือให้บีอาร์เอ็นเคารพความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ หามาตรการดูแลความปลอดภัยคนกลุ่มน้อย เช่น ชาวไทยพุทธ และนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้่นที่ชายแดนใต้
เปิดเอกสารตอบบีอาร์เอ็นเน้น"ภาษาการทูต"
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารที่ลงนามโดย พล.ท.ภราดร พบว่าเอกสารเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และใช้ถ้อยคำสวยงามในลักษณะภาษาทางการทูต โดยในส่วนที่อ้างถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ใช้คำว่า The five issues are acceptable for the further discussion ส่วนข้อเรียกร้อง 2 ข้อที่อ้างว่าเป็นการเสนอข้อเรียกร้องกลับไปนั้น เนื้อหาจริงๆ แทบไม่ได้มีลักษณะเป็น "ข้อเรียกร้อง"
เอกสารดังกล่าวมีถึง ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม ลงวันที่ 25 ต.ค. ระบุว่า "เราขอแจ้งกับท่านว่าทั้ง 5 ข้อเราได้ยอมรับเพื่อที่จะพูดคุยกันต่อไป และเห็นด้วยกับผู้อำนวยความสะดวกที่ทั้งสองฝ่ายควรได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้อย่างทะลุปรุโปร่งและทั่วถึง
ชวนทำงานร่วมกัน-ขอลดเหตุรุนแรง
พร้อมกันนี้ขอเสนอ 2 ข้อเพื่อให้พูดคุยกัน คือ 1.ทั้งสองฝ่ายจะยังยึดมั่นทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่นี้ในช่วงระหว่างที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ จะทำงานด้วยกันอย่างจริงใจในการลดความหวาดระแวงและลดความขัดแย้งโดยที่ไม่มีอคติ ความลำเอียง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ทุกฝ่ายควรที่จะใช้ความพยายามอย่างสมเหตุสมผลในการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และให้แน่ใจว่ามีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2.ทั้งสองฝ่ายควรทำงานร่วมกันเร่งรัดเพื่อโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้มีการกระจายรายได้และการอยู่ดีกินดีให้กับสมาชิกชุมชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรม โดยไม่มีความแปลกแยก
ในแง่นี้ทุกฝ่ายควรให้หลักประกันว่า ในทุกๆ พื้นที่มีคุณค่าเสมอเหมือนกัน ประชาชนมีเสรีภาพในอันที่จะนับถือศาสนา หรือความเชื่อของตัวเอง ด้วยวิธีการของตัวเอง รวมทั้งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตนเองด้วย
เราเห็นว่า 2 ข้อนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จำเป็นต้องร่วมกันพิจารณา เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเหมาะกับกระบวนการสร้างสันติภาพ และทำให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"
ปิดล้อมตรวจค้นรือเสาะรวบ 7 ผู้ต้องสงสัย
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เวลาประมาณ 02.00 น.วันพฤหัสบดีที่ 21 พ.ย.2556 พ.อ.ธนิต แสงจันทร์ หัวหน้าชุดสลาตัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) พร้อมด้วย พ.ท.เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 (ผบ.ฉก.นราธิวาส 30) และ พ.ต.อ.อโณทัย จินดามณี ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้สนธิกำลังถึง 7 ชุดปฏิบัติการ อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกบุกจู่โจมตรวจค้นบ้านเลขที่ 104 หมู่ 6 บ้านสาวอฮีเล ต.สาวอ อ.รือเสาะ หลังสืบทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธเข้าไปแฝงตัวกบดานเพื่อประชุมวางแผนก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่
เมื่อไปถึงบ้านเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันโอบล้อม พร้อมประกาศให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านออกมาแสดงตัว แต่ปรากฏว่าชายฉกรรจ์ 7 คนที่อยู่ภายในได้พากันวิ่งหลบหนีออกจากบ้านเข้าไปในสวนยางพาราด้านหลัง แต่เจ้าหน้าที่ได้ดักทางหนีไว้หมดแล้ว จึงควบคุมตัวได้ทั้ง 7 คน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวชายฉกรรจ์ทั้ง 7 เข้าไปตรวจค้นภายในบ้าน พบของกลางเป็นยุทโธปกรณ์กว่า 100 รายการ อาทิ อาวุธปืนพกขนาด 11 มม. 1 กระบอก อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. 2 กระบอก อาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก เครื่องกระสุนจำนวนมาก เป้นอน 9 หลัง กระเป๋าสัมภาระ 6 ใบ เครื่องแบบทหาร 4 ชุด โทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์ดำรงชีพในป่า เป็นต้น เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดไปตรวจสอบ พร้อมคุมตัวทั้ง 7 คนไปสอบปากคำที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ภายในวัดสวนธรรม อ.รือเสาะ
ชายฉกรรจ์ต้องสงสัยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นายสาเห๊าะ มะยีมะดีเย๊าะ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30/5 หมู่ 4 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ มีหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) 2 หมาย, นายมะยายิด วายิ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ 3 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา มีหมายจับ ป.วิ อาญา ของ สภ.รามัน 3 หมาย, นายมุมีน วาแม อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ 6 ต.สาวอ อ.รือเสาะ
นายมะรอพี รีเด็ง อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13/7 หมู่ 3 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน, นายอานัซ บินวาแม อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ 5 ต.สาวอ อ.รือเสาะ, นายอิบรอเฮ็บ อาแว อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 9 ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ และ นายนัสรู มะประสิทธิ์ อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 5 ต.สาวอ อ.รือเสาะ
ปะทะที่ดามาบูเวาะคุมตัว 2 วัยรุ่น
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน กำลังทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านต้องสงสัยในหมู่บ้านดามาบูเวาะ หมู่ 1 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และได้เปิดฉากยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง
ผลการปะทะมีผู้ต้องสงสัยวิ่งหลบหนีไปได้จำนวนหนึ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ได้ 2 ราย ทราบชื่อคือ นายอามิง เจะบู อายุ 18 ปี อยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ 1 ต.ตันหยงลิมอ และ นายซูไบดี ซาฟรุ อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 3 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส พร้อมยึดอาวุธปืนอาก้าได้ 1 กระบอก ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นอาวุธปืนประจำกายของ อส. (อาสารักษาดินแดน) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่ถูกชิงไปจากเหตุลอบยิงชุด รปภ.ครู
ปิดล้อมกรงปินังรวบตัวหนุ่มพร้อมระเบิดขว้าง
ส่วนที่ ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 13 ได้สนธิกำลังกับตำรวจ สภ.กรงปินัง เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ ต.ปุโรง และสามารถควบคุมตัว นายซูรียา สะมายอ อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ 1 ต.ปุโรง พร้อมของกลางประกอบด้วย ระเบิดขว้างพันผ้าเทปสีดำ จำนวน 1 ลูก อาวุธปืนขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย จำนวน 1 เครื่อง ยาบ้า 3 เม็ด และกระเป๋าผ้า 2 ใบ จึงนำตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.กรงปินัง เบื้องต้นนายซูรียายอมรับว่าของกลางทั้งหมดเป็นของตนเอง ยกเว้นลูกระเบิดขว้าง เป็นของเพื่อน อส.ที่ยืมมา โดยนายซูรียาอ้างว่าเป็นอดีต อส. แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพเอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นเอกสารตอบจากคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย ทำถึงคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ
2 อาวุธปืนที่ยึดได้จากเหตุปิดล้อม ยิงปะทะ และควบคุมตัว 2 ผู้ต้องสงสัยที่บ้านดามาบูเวาะ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส