"ประชา"ตอบกระทู้ยัน“ทหาร” ไม่เคยช่วย"อริสมันต์"หนีช่วงสลายม็อบแดง
"ประชา" ตอบกระทู้ ยัน “จนท.รัฐ -ทหาร” ไม่เคยช่วย “พี่กีร์- อริสมันต์” หนีออกนอกประเทศช่วงสลายม็อบคนเสื้อแดง ปี 53
ยังเป็นปริศนามาถึงทุกวันนี้ ว่า ในช่วงสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 “พี่กี้ร์- อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง" หลุดรอดการถูกควบคุมตัวของฝ่ายรัฐ ออกไปกบดานอยู่นอกประเทศไทยได้อย่างไร? ใครเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ?
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำตอบกระทู้สดของ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายหลังจากที่ นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถาม
โดยนายวัชระ ตั้งกระทู้ถามว่า จากกรณีที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ตกเป็นผู้ต้องหาก่อการร้าย และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันกับพวก ยุยง ปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทยให้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรม มุ่งหมายที่จะต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ จัดให้มีการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงหลายหมื่นคนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตามแนวถนนราชดำเนินไปจนถึงสี่แยกคอกวัว และแยกราชประสงค์มีการเดินขบวนและเคลื่อนย้ายประชาชนไปปิดล้อมสถานที่ต่าง ๆ มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดใส่บ้านพักประชาชน เพื่อสร้างความปั่นป่วน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เกรงกลัวอันตรายที่จะก่อให้เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจียิงใส่กระทรวงกลาโหม ใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ยิงใส่กระทรวงสาธารณสุขและยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รมน.) มีทหารได้รับบาดเจ็บบุกตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้แพทย์ พยาบาล ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยได้รวมทั้งสถานที่อื่น ๆ หลายแห่งนั้น สามารถไหวตัวทันและหลบหนีการกระชับวงล้อมของเจ้าหน้าที่ได้ก่อนผู้กระทำผิดรายอื่น ๆ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552
จึงมีการคาดเดาว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหารบางนายที่ร่วมมือกับกลุ่ม นปช. ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้นายอริสมันต์ หลบหนีการจับกุมไปได้นั้น
จึงขอเรียนถามว่า
1.. กระทรวงกลาโหมได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือในการหลบหนีการจับกุมของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือไม่ อย่างไร และการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการเมื่อใดจะแล้วเสร็จเมื่อใด ขอทราบรายละเอียด
2. หากได้มีการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามข้อ 1 แล้ว ผลการดำเนินการเป็นประการใดและเคยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด
3. หากยังไม่มีการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว จะมีแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ขอทราบรายละเอียดขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
ด้านพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม เรื่องนี้ ตอบกระทู้ว่า คำตอบข้อที่ 1 ข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมทราบว่า กระทรวงกลาโหมได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมมือกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง กระทรวงกลาโหมจึงไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า พี่กี้ร์ อริสมันต์ ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำของ นปช. สายฮาร์ดคอร์ มาจากพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น การที่ปราศรัยว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นทะเลเพลิง, การที่นำเอาผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท ขณะที่มีการประชุมกันอยู่ทำให้การประชุมต้องยุติลง, การบุกอาคารรัฐสภาโดยไม่ใช่มติของแกนนำอีกหลายคนหรือ การที่บุกอาคารที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และได้ข่มขู่เจ้าหน้าที่ภายใน เป็นต้นแต่เจ้าตัวก็ได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นเช่นนั้น
โดยในช่วงการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง มีกระแสข่าวว่า อริสมันต์ ได้หนีไปหลบซ่อนอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะเข้ามอบตัวที่ศาลพัทยาวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และถูกคุมขังจนกระทั่ง 28 ธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ เป็นเงิน 6 ล้านบาทและนัดพิจารณาคดี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ทั้งนี้ วีรกรรมที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนทั่วไป คือ การโรยตัวหนีการจับกุมที่โรงแรม เอสซี ปาร์ค โดย อริสมันต์ เคยกล่าวกับรายการ Voice TV เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ถึงเหตุการณ์นี้ว่า หากดูที่กล้องของโรงแรมเอ็ด ซี ปาร์คขณะที่ตำรวจมาบุกบ้านไม่มีการเคาะประตู หรือให้สัญญาณเสียงแต่อย่างใด ขณะที่ตนกำลังดูโทรทัศน์อยู่ ได้มีการเปิดประตูแล้วใส่ระเบิดเข้า 2 ลูก จึงวิ่งไปปิดประตูแล้วก็ล็อกกลอน โดยเสียงด้านนอกของทหารบอก ยิง และประตูบ้านของนายอริสมันต์ มีสภาพรูโบว์ใหญ่
โดยนายอริสมันต์บอกว่าห้องน้ำโรงแรมนี้อยู่ด้านหลังซึ่งตนก็ทำโทรศัพท์ตกไว้ในโถส้วม อริสมันต์ยังกล่าวอีกว่าสภาพเครื่องใช้ภายในเละไปหมด อริสมันต์บอกนักข่าวนั้นเห็นแต่ไม่กล้าที่จะนำเสนอ โดยหลังจากนั้น อริสมันต์ได้กล่าวว่าหลังจากออกมา ตำรวจพูดกับนายอริสมันต์ว่า เฮ้ย ! ไม่ตายเว้ย หลังจากนั้นอริสมันต์ก็เปิดหน้าต่างหลังแล้วจึงพุ่งตัวลงมา โดยขณะที่วิ่งลงมานั้น ข้างหน้าโรงแรมนั้นมีสไนเปอร์ตั้งอยู่ โดยมีคนสองคนคอยรับนายอริสมันต์อยู่ที่ระเบียงคนที่มารับระเบียงนั้นเห็นตำรวจกำลังจะยิงอริสมันต์ คนที่รับนายอริสมันต์ชี้ไปที่ตำรวจแล้วกล่าว อย่ายิงนายคนนั้น อริสมันต์ก็รีบหนีไปโดยมีคนคอยหนุนด้านหลังขณะที่อริสมันต์วิ่งอยู่บังเอิญเจอสายไฟ
โดยอริสมันต์ยังสงสัยว่าจะเหนียวหรือทนแค่ไหน? เพราะมันตากมานานแค่ไหนก็ไม่รู้ แล้วจึงกระตุกสายไฟแล้วโรยตัวลงมา
ส่วนการหลบหนีออกนอกประเทศนั้น อริสมันต์ เคยให้สัมภาษณ์ทางโมเดิร์นเรดิโอ เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ช่วงเช้าวันที่ 7 ธ.ค. ก่อนจะเดินทางไปมอบตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงการเดินทางกลับประเทศเพื่อต่อสู้คดี หลังจากหนีไปกบดานต่างประเทศตั้งแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพ.ค.2553
ว่า "ไปอยู่ไหนก็เป็นไปตามรายงานข่าวของสื่อ มวลชนเเละหนังสือพิมพ์ เช่น กัมพูชา ผมไปทำพืชไร่ คือ อ้อย ตอนนี้ผิวดำขึ้นนิดหน่อย ส่วนน้ำหนักตัวลดลงนั้น เพราะฟิตร่างกายเพื่อให้เป็นอริสมันต์คนก่อน"
"เหตุที่หลบหนีคดีเเละไม่มามอบตัวนั้น เพราะการจับกุมทำให้ผมไม่เชื่อมั่นในความเป็นธรรม ใช้วิธีที่รุนเเรงเกินไป เช่น การไล่ล่าจับผม การซุ่มทำร้าย ความพยายามอุ้มในสถานที่ต่างๆ จึงคิดว่าควรหลบออกนอกประเทศไปก่อน ที่ผ่านมาก็มีการตามไล่ล่าจับผมเเบบฉิวเฉียดหลายครั้ง" นายอริสมันต์ระบุ