‘แก้มลิงหนองเลิงเปือย’ ตั้งเป้าโมเดลจัดการน้ำชุมชนระดับโลก
พระมหากรุณาธิคุณ ‘ในหลวง’ ทรงรับฎีกาปชช. พัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย จ.กาฬสินธุ์ หวังขจัดปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ 8 หน่วยงานรับสนองพระราชดำริ ‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา’ เชื่อจะประสบผลสำเร็จกลายเป็นโมเดลจัดการน้ำชุมชนระดับโลก
จากความเดือดร้อนของประชาชน อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ที่ประสบปัญหาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร แม้จะมีแหล่งน้ำอย่าง ‘หนองเลิงเปือย’ ครอบคลุมพื้นที่ 887 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 3.5 ล้านลบ.ม.
แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในหนองกลับแห้งขอดจนส่งผลกระทบเรื่อยมา ดังนั้นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ จึงเป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เสมือนฟ้าปกดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการขุดลอกแก้มลิงหนองเลิงเปือยและซ่อมแซมฝาย ไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 และเพื่อสนองพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จับมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์, กองทัพบก, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยมีสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือทุกฝ่าย
‘ดิศนัดดา’ หวังหนองเลิงเปือยตัวอย่างจัดการน้ำชุมชนโลก
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยดำเนินตามหลักบูรณาการอย่างแท้จริงของ 8 หน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งรัฐบาล โดยมีภาครัฐเป็นเพียงผู้ส่งเสริมองค์ความรู้ และให้ชุมชนร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่วันแรกของโครงการ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งถึงแม้พระองค์จะประทับเพื่อรับถวายการรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่พระองค์ยังคงทรงงานตลอดเวลา
"แต่ละปีจะมีตะกอนไหลทับถมในหนองเลิงเปือยปีละ 4 หมื่นลบ.ม. ดังนั้นหากเราขุดตะกอนออก 4 ล้านลบ.ม. จะสามารถแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำได้อีก 100 ปี" ประธานกรรมการฯ ปิดทองหลังพระ ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหา และว่า “ผมเสียใจมากที่ไทยมีการบริหารจัดการน้ำที่เหลวไหลมากที่สุด ปัญญามีกันทั่วฟ้า แต่ไม่คิดกันอย่างจริงจัง โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง แต่หากให้คนที่นั่งห้องแอร์ในกรุงเทพฯ สั่งลงไปอย่างเดียว ‘จะเกาถูกที่คันได้อย่างไร’ ”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา เห็นว่า ชุมชนจะรู้ปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ดีที่สุด ดังนั้นทุกโครงการต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่ หรือเจ้าของปัญหา นั่นคือ ‘ชุมชน’ ไม่ใช่ ‘ข้าราชการ’ โดยข้าราชการจะเป็นเพียงผู้ส่งเสริมองค์ความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
สำหรับโครงการแก้มลิงหนองเลิงเปือย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 500 ล้านบาท คาดว่า ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์กลับมาภายใน 7 ปี และจะกลายเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นในประเทศได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน
"หากชาวบ้านยังแบมือขออยู่ นั่นหมายถึงไม่มีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของ” ประธานกรรมการฯ ปิดทองหลังพระ ระบุ และว่า ชนชั้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 (รัฐบาล อธิบดี) ระดับ 2 (ผู้ว่าฯ) ระดับ 3 (ชุมชน) จะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน โครงการจึงจะขยายไปยังพื้นที่อื่น แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคนอยากทำ เพราะโครงการเหล่านี้ "ไม่มีเงินทอน"
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ชี้ให้เห็นถึงโครงการนี้มีความแตกต่างจากโครงการอื่น ๆ คือ ‘ทุนมนุษย์’
"ผมเองทำงานมา 50 ปี ยังไม่เคยเห็นข้าราชการจังหวัดไหนจะเข้มแข็งได้เท่าจ.กาฬสินธุ์ เพราะที่นี่ทุนมนุษย์ร้องเพลงเดียวกัน ทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ชุมชนที่นี่มีน้ำใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคอีสานมีความเป็นมนุษย์สูง แต่กลัวอย่างเดียวตรงที่ชุมชนจะติดกับการซื้อสิทธิ์ซื้อเสียง แต่สำหรับการช่วยเหลือตนเองตรงข้ามกับการซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงอย่างสิ้นเชิง
ทุนมนุษย์เป็นทุนที่ดีที่สุด หากข้าราชการมีการขับเคลื่อนงานในทิศทางเดียวกันและต่อเนื่อง อนาคตหากมีการโยกย้ายผู้ว่าฯ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะชุมชนได้กำหนดทิศทางไว้แล้ว”
ท้ายที่สุด ม.ร.ว.ดิศนัดดา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จ.กาฬสินธุ์จะดำเนินโครงการแก้มลิงหนองเลิงเปือยประสบความสำเร็จและจะเป็นตัวอย่างที่ดีของจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศและโลกด้วย
‘ดร.รอยล’ แนะ 4 แนวทางแก้จัดการน้ำชุมชน
ด้านดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิกามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีข้อแนะนำต่อการพัฒนาโครงการแก้มลิงหนองเลิงเปือยไว้อย่างน่าสนใจ 4 ประการ ได้แก่ 1.ขุดลอกหนองเลิงเปือยเพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำ โดยในระยะแรกควรขุดเป็นแนวร่องกลางพื้นที่หนอง หรือแนวที่เหมาะสมสอดรับกับทิศทางน้ำไหลของน้ำในหน้าฝน หลีกเลี่ยงการขุดลอกเต็มพื้นที่ที่ความลึกเท่ากัน 6 เมตร (มีดินขุดกว่า 3 ล้านลบ.ม.) เพราะจะทำให้ใช้งบประมาณและใช้ระยะเวลานาน
2.เพิ่มระบบดักตะกอน เนื่องจากปริมาณตะกอนฤดูฝนที่ไหลเข้าสู่หนองเลิงเปือยมีปริมาณมากด้วยการขุดคลองดักตะกอนรอบบริเวณหนองเลิงเปือย ความกว้าง 10 ม. ลึก 5 ม. ตลอดแนวคลองก่อนไหลลงหนอง ให้เป็นไปตามทิศทางการไหลของน้ำท่าที่เข้าสู่หนอง
3.ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณจุดบรรจบกับลำน้ำลำปาวให้มีรูปแบบที่สามารถรับน้ำและระบายน้ำเชื่อมโยงกับลำน้ำนี้ได้ เพื่อระบายน้ำในฤดูฝนลงลำน้ำลำปาวและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง
4.ควรปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกันลม เพื่อช่วยลดอัตราการระเหยของน้ำเนื่องจากในภาคอีสานมีอัตราการระหยสูง โดยเลือกใช้ต้นไม้ประเภทไม้ไผ่ เพื่อทำเป็นถ่าน
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ยังระบุถึงทิศทางการบริหารจัดการน้ำ หนองเลิงเปือย ควรร่วมกันกำหนดวิธีการควบคุมประตูระบายน้ำให้สามารถรองรับน้ำที่ไหลเข้าสู่หนองได้ ทั้งจากน้ำท่าจากพื้นที่รับน้ำของหนองและจากการรับน้ำจากลำน้ำลำปาว รวมไปถึงแนวการระบายและพร่องน้ำลงสู่ลำน้ำลำปาวในฤดูน้ำหลาก
โดยเมื่อขุดลอกเพิ่มความจุเก็บกักเป็น 6 ล้านลบ.ม. แล้ว ควรมีแนวทางที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เต็มประสิทธิภาพอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือ ในช่วงฤดูฝนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง และช่วงกันยายนเพื่อรองรับน้ำหลากให้เป็นแก้มลิงรับน้ำจากลำน้ำลำปาวและใช้ในฤดูแล้งต่อไป ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืช จากพืชที่ใช้น้ำเยอะ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและพืชเศรษฐกิจตามความต้องการในตลาด
“หากโครงการเดิมนี้ประสบความสำเร็จจะเกิดความยั่งยืนในอนาคต เพราะการจะสร้างแหล่งน้ำใหม่ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะให้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ดร.รอยล กล่าว
ทบ.พร้อมหนุน ‘แก้มลิงหนองเลิงเปือย’-สร้างชุมชนส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาทหารบก กล่าวว่า โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการประยุกต์แนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีกองทัพภาคที่ 2 และกรมการทหารช่างเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินงานในการสร้างความเข้าใจและเตรียมมวลชนทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของให้แก่คนในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีพลทหารกองประจำการที่ปลดประจำการในเดือนตุลาคม 2556 และมีภูมิลำเนาในพื้นที่อ.ร่องคำและอ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมดำเนินโครงการด้วย ซึ่งปริมาณดินที่ขุดขึ้นมานั้น กองทัพบกได้ร่วมกันกับชุมชนในการกำหนดจุดนำไปทิ้งที่เป็นไปตามความต้องการของชุมชน และบางส่วนนำไปถมพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง
“กองทัพบกมีความยินดีจะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะเรายึดถือแนวนโยบายที่ว่า “ประชาชนเป็นสิ่งที่กองทัพต้องสนับสนุน” ฉะนั้นเราพร้อมจะทำงานด้วยความมุ่งมั่นและสำเร็จตามความมุ่งหมาย” ผู้ช่วยผู้บัญชาทหารบก ทิ้งท้าย
***********************************
เชื่อแน่ว่า หลังจากนี้ไม่นาน โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะประสบผลสำเร็จ และช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนแก่คนกาฬสินธุ์ได้แน่นอน เพราะโครงการนี้เกิดจากความต้องการของคนในชุมชน เพื่อชุมชน อย่างแท้จริง .
ภาพประกอบ:www.manager.co.th