นักวิชาการนานาชาติชี้ “ภาษาอังกฤษ” ประเทศไทยรั้งท้าย เหตุนโยบายไม่ชัดเจน
สถาบันสอนภาษา อีเอฟ รายงานดัชนีวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษประจำปี 2556 พบ 'สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์' ประเทศที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดี ส่วนเอเชีย มาเลเซียครองแชมป์อันดับ 1 อยู่ลำดับที่ 11 ส่วนไทยติดอันดับ 55 รั้งท้าย ทึ่ง อินโดฯ เวียดนาม มีพัฒนาการทางภาษาอังกฤษที่น่าจับตามอง
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ: ประสบการณ์จากต่างประเทศ”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนคนที่ 2 กล่าวถึงสถาบันสอนภาษา อีเอฟ (Education First) ที่ได้รายงานดัชนีวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษประจำปี 2556 ซึ่งมีการทดสอบทางอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประชากรวัยทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 750,000 คน จาก 60 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดี 3 อันดับแรก คือ สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์
ในส่วนของเอเชียนั้นพบว่า มาเลเซียครองแชมป์อันดับ 1 โดยอยู่ในลำดับที่ 11 ส่วนประเทศไทยติดอันดับที่ 55 รั้งท้าย ขณะที่ประเทศบราซิลสามารถกระโดดขึ้นไป 8 อันดับครองอันดับที่ 38 โดยประเทศในเอเซีย เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนามก็มีพัฒนาการทางภาษาอังกฤษที่น่าจับตามอง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องค้นหามาตรการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ผศ.ดร.เสงี่ยม โตรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร สรุปผลการวิเคราะห์สถานการณ์นโยบายการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม พบว่า ประเทศไทยไม่มีการกำหนดนโนบายด้านภาษาต่างประเทศที่ชัดเจน เพียงแต่รับรู้ว่า ภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ของกลุ่มสาระวิชา มีเป้าหมายเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ในขณะที่ประเทศอื่นๆมีนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แบ่งออกเป็น 4 มาตรการหลักชัดเจน ได้แก่
1.)มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาภาษาอังกฤษไว้อย่างชัดเจน เช่น จีนเน้นแก้ปัญหาการฟังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องแม้จะอ่านเขียนได้ดี หรือสิงคโปร์ที่ยกระดับภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการเพื่อแก้ปัญหาความหลากหลายของประชากรต่างเชื้อชาติ ซึ่งต่างจากประเทศไทย จีน เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ภาษาอังกฤษยังเป็นเพียงภาษาต่างชาติ
2.)นโยบายภาษาที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบภาษา เช่น มีเพียงประเทศมาเลเซียที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการศึกษาด้วยการประกาศใช้ภาษาบาฮาซามาเลเซียเป็นภาษากลาง เพื่อแก้ปัญหาความเสียเปรียบของชนมาเลย์มุสลิมให้น้อยลง
3.) มีการวางแผนการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครู และการวัดประเมินผล เช่น สิงคโปร์ เน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษบูรณาการกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีการพัฒนาหลักสูตร และบุคลากรต่อเนื่อง มีการใช้ ICT ในการฝึกฝนเด็กตั้งแต่เด็ก ซึ่งดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ขณะที่มาเลเซียมีการจัดทำพิมพ์เขียวของการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนโดยเทียบเคียงกับผลการสอบระดับนานาชาติอย่าง PISA โดยทั้งสิงคโปร์ จีน และมาเลเซียให้ความสำคัญกับการเรียนวรรณกรรมด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ ขณะที่ประเทศไทยระบุเพียงผลการเรียนรู้และความคาดหวังให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เชียนได้
ส่วนการผลิตครูนั้น เฉพาะประเทศไทยผู้ที่สอนภาษาอังกฤษต้องมีวุฒิด้านครู และจบเอกวิชาภาษาอังกฤษจากคณะครุศาสตร์ ซึ่งพื้นฐานความรู้จะน้อยกว่าผู้ที่จบการศึกษาเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซียนั้นผู้สอนมักเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์แล้วจึงเรียนในวิชาชีพครูเพิ่มเติม
และ 4.)นโยบายการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น ประเทศไทยมีนโยบายปี 2555 ให้เป็นปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ โดยจัดให้ 1 วันใน 1 สัปดาห์ ทั้งครูและนักเรียนใช้ภาษาอังฤษร่วมกัน อย่างไรก็ดีเมื่อขาดการติดตามประเมินผลและนโยบายไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่เห็นการพัฒนาที่ชัดเจน ขณะที่จีนมีการจัดตั้งมุมภาษาอังกฤษ (English Corner) ในสถาบันการศึกษา ในสวนสาธารณะ หรือตามศูนย์กลางความเจริญ เพื่อเชื่อมโยงการใช้ภาษาอังฤษในชีวิตประจำวัน ขณะที่มาเลเซียกำหนดให้ทุกโรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยใช้สื่อการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2546
ดร.ตูอิจา นิเอมี นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาต่างประเทศ จากประเทศฟินแลนด์ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษของฟินแลนด์นั้นมาจากหลักสูตรแกนกลางชาติที่ชัดเจน เด็กฟินแลนด์เริ่มเรียนภาษาอังฤษเป็นภาษาที่ 2 เมื่ออายุ 9-11 ปี โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักภาษาเมื่อเริ่มต้น แต่เน้นให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้
สำหรับบันได 5 ขั้นสู่ความสำเร็จของฟินแลนด์ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษคือ
1.ทิศทางการเรียนรู้ต้องชัด: เน้นสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญตามหลักภาษา ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น รูปภาพ เพลง
2.สอดแทรกการเรียนรู้ผ่านสื่อที่มีคุณภาพและน่าสนใจ
3.การฝึกฝนการอ่านและออกเสียง
4.นำเข้าสู่บทเรียน/เริ่มการฝึกฝน
และ 5.นำเข้าสู่หลักภาษา: เชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับการสื่อสารพื้นฐาน และการทำซ้ำย้ำเติมในสถานการณ์ที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ การมีหลักสูตรแกนกลางชาติที่ชัดเจนต่อเนื่อง จะนำสู่การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม ผ่านครูที่มีคุณภาพ และสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจจะสร้างให้เด็กเรียนรู้อย่างสมดุลด้วยทักษะหลากภาษา
นางดอริส โกลด์ วิบูลศิลป์ อดีตผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ กล่าวว่า ขอใช้ 5 คำ สำหรับการปรับปรุงภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นคือคำว่า SCARE ซึ่งแปลว่า น่ากลัว ประกอบด้วย Sincere: ความเอาจริงเอาจัง เพราะปัญหาผู้กำหนดนโยบายขาดความเอาจริง เพราะอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ Continuity: ความต่อเนื่อง พบว่าประเทศมาเลเซียมีนโยบายครอบคลุม 10-12 ปี แต่ไทยมีนโยบายตามตำแหน่งในระยะเวลา 6 เดือน โดยโยนความผิดไปที่ครู Accountability ความรับผิดชอบจากรัฐบาลและโรงเรียน โดยเฉพาะครูและคณะครุศาสตร์ต้องผลิตครูที่มีคุณภาพ โดยครูต้องผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองวิทยาฐานะที่ชัดเจนก่อนออกไปสอน เพราะหากมีครูต่ำกว่ามาตรฐานก็จะได้นักเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากไม่สามารถเป็นเลิศได้ก็ไม่ควรรับเพื่อให้วงจรอุบาศว์ถูกตัดออก และควรมีค่าตอบแทนที่สูงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ได้ครูที่มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น Responsibility ความรับผิดชอบของผู้เรียน ที่ต้องใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง และ Excellence: ความเป็นเลิศ ซึ่งโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามลำพัง เอกชน รัฐบาล ครอบครัว ต้องทำให้ภาษาอังกฤษมีมาตรฐานที่สูงขึ้น เพราะเราต้องคำนึงถึงการเปิดอาเซียนที่ต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายรวิศุทธ์ คณิคกุลเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ม. 6 ร.ร.สวนกุหลาบ 2 เครือข่ายยุวทัศน์ กล่าวว่า ตนเป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ว่าเรียนเพื่ออะไร หากเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คงต้องลดชั้นเรียนลง แต่ถ้าเรียนเพื่อนำไปสื่อสารกับต่างชาติ ถือว่าทำผิดตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพราะตัวกระตุ้นสำคัญต้องทำให้เด็กชอบ นำไปใช้อย่างสนุก เรียนอย่างรู้เป้าหมายในการนำไปใช้ แต่กลับสอนให้เรียนแบบท่องจำ กระบวนการศึกษาไทยจึงก้าวพลาด