103 องค์กรภาคปชช. จี้ 'วิเชษฐ์' แสดงจุดยืนในนามไทย ต้านเขื่อนดอนสะโฮง
103 องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาชน ได้ส่งจม.เปิดผนึกถึงรมว.กระทรวงทรัพย์ฯ จี้แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ของสปป.ลาว และตรวจสอบกระบวนการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงสายหลักทั้งหมด
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายภาคประชาชน จัดงานแถลงข่าว เรื่อง เขื่อนแม่น้ำโขงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย ณ ห้องประชุมเล็กตึกหน้า สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ โดยเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการยับยั้งการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของสปป.ลาว พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกส่งไปยังนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ในฐานะตัวแทนในคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) ให้แสดงความชัดเจนในจุดยืนของรัฐบาลไทยในประเด็นดังกล่าวด้วย
นายมนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง(TERRA) กล่าวถึงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในพื้นที่สีพันดอน หรือทางใต้ของลาวนั้น ถือเป็นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหลักแห่งที่ 2 จากที่เคยได้ดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับพลังงานที่จะได้รับเพียง 260 เมกะวัตต์นั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่
"พื้นที่สีพันดอน เป็นพื้นที่สำคัญในลุ่มแม่น้ำโขงสำหรับการขยายพันธุ์ปลา โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำฮูสะโฮงอันเป็นจุดที่จะสร้างเขื่อนนั้นเป็นบริเวณที่มีปลาอพยพมากทั้งปี รวมถึงการบิดเบือนและการละเมิดข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี พ.ศ. 2538 ของสปป.ลาว โดยการอ้างว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่สร้างในลำน้ำสาขาไม่ใช่บนลำน้ำสายหลัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขื่อนดอนสะโฮงถูกบรรจุไว้ในชุดของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก 12 เขื่อนที่มีการเสนอไว้ก่อนหน้านี้"
นายมนตรี กล่าวว่า ทางภาคประชาชนไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้สิทธิในการระงับยับยั้งเพื่อให้ลาวต้องเอาโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (prior consultation) ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งให้ทราบ (prior notification)
“เอกสารรายงานสิบกว่าปีที่ผ่านมา MRC ต่างเข้าใจร่วมกันเสมอมาว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก และได้แสดงอยู่ในเอกสารของ MRC มาโดยตลอดด้วย การที่ลาวบอกว่า เป็นเพียงน้ำสาขาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และอีกสามประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่างต้องมีส่วนในการรับทราบและได้รับการปรึกษาหารือ เรา-ภาคประชาชนไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการประท้วงโดยเร็วที่สุด” นายมนตรี กล่าว และว่า สปป.ลาว มีแผนจะดำเนินการระเบิดฮูสะโฮงเพื่อให้น้ำไหลเข้ามาในอ่านเก็บน้ำได้มากในฤดูแล้ง รวมถึงจะระเบิดลำน้ำสายอื่นที่ใกล้กับฮูสะโฮง อย่าง ฮูสะดำ ฮูช้าเผือก เพื่อเป็นทางให้ปลาไหลผ่านได้ง่าย
ขณะที่นายสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพอิสระ เจ้าของภาพและสารคดีชุด "อวสานแม่น้ำโขง:จากไซยะบุรีถึงสีพันดอน เมื่อเขื่อนใหญ่สยบมหานที" ในนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 กล่าวในฐานะผู้ลงไปสัมผัสพื้นที่มานานถึง 3 ปีว่า มีข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดเจน คือ ลำน้ำสายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หลี่ผี ฮูสะดำ ฮูช้างเผือก หรือขอนพระเพ็งนั้นมีลักษณะเป็นหน้าผาที่มีความลาดชัดสูง ซึ่งปลาใหญ่จะไม่สามารถอพยพผ่านได้ แต่ฮูสะโฮงเป็นลำน้ำที่ปลาแทบทุกชนิดสามารถผ่านได้มาก เนื่องจากมีความลาดชันน้อยและค่อนข้างกว้าง โดยปัจจุบันทางการลาวได้มีคำสั่งห้ามจับปลาในฮูสะโฮงด้วยการใช้หลี่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลา การสั่งเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นการให้ความสำคัญกับปลาในลำน้ำฮูสะโฮง
"การใช้หลี่เพื่อจับปลานั้นเป็นการทำลายพันธุ์ปลา แม้จะทำเพียง 3-4 เดือนต่อปีเท่านั้น แต่เชื่อว่า การสร้างเขื่อนเพื่อปิดกั้นจะเป็นการทำลายมากกว่าการจับปลาด้วยหลี่เสียอีก"
ส่วนนางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานองค์กรสภาชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะรุนแรงกว่าเขื่อนไซยะบุรี ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงในการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ จึงอยากให้ศึกษาผลกระทบของทุกประเทศที่มีส่วนร่วมในการใช้แม่น้ำโขง โดยเฉพาะสิ่งที่หน้าเป็นห่วงคือการที่รัฐบาลลาวคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานมากกว่าที่จะห่วงปากท้องและชีวิตของประชาชนในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับเชื่อว่าปัญหานี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น
"ถึงตอนนี้ก็ยังมีความหวังให้รัฐบาลไทยออกไปแสดงจุดยืนที่ขัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมาเราร้องเรียนรัฐบาลไปหลายเรื่องหลายวิธีแต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับใดๆ เลยแต่เราก็จะยังคงหวัง"
ด้านนางเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วม โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวเสริมว่า จากการที่ สปป.ลาวได้ใช้กลไกของ MRC โดยการยื่น "แจ้งล่วงหน้า" แทนที่จะเป็น "ปรึกษาหารือล่วงหน้า" กับสมาชิกประเทศอื่นๆ นั้น ทาง MRC ควรแจ้งว่ามีการกรอกผิดแบบฟอร์มตั้งแต่แรก อยากให้ MRC ทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ อีกทั้งทางตอนใต้ของแม่น้ำโขงจะไม่สามรถรับเขื่อนได้อีกต่อไปหากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ ถึงตอนนี้ รัฐบาลควรออกมาทำหน้าที่บ้างเราอยากเห็นรัฐบาลกับประชาชนทำหน้าที่ร่วมกัน
ทั้งนี้ จากการประสานงานระหว่างองค์กรภาคประชาชนเพื่อเข้าพบพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเขื่อนดอนสะโฮงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลื่อนออกไปจากวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งกำหนดการใหม่ที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือ ต้นเดือนธันวาคม โดยองค์กรภาคประชาชนไทยยังคงยืนยันต้องการพบโดยด่วนที่สุด