เปิดใจ "จูแว" พลัดถิ่น (1) "ครู-พระ"ถูกทำร้ายเพราะอยู่ใกล้ทหาร
การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ดำเนินมาแล้ว 3 ครั้่ง นับตั้งแต่วันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการเมื่อ 28 ก.พ.2556 ได้แก่วันที่ 28 มี.ค. 29 เม.ย. และ 13 มิ.ย.
ขณะที่การพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ถูกเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าท่ามกลางกระแสข่าวว่า "โต๊ะพูดคุยล้มแล้ว"
ล่าสุดมีการกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ว่าการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่อาจเป็นช่วงต้นเดือน ธ.ค. โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นจะมีการปรับโครงสร้างคณะพูดคุยแบบเต็มคณะ 15 คนตามข้อตกลง มีตัวแทนกลุ่มพูโลและบีไอพีพีเข้าร่วม ขณะที่บีอาร์เอ็นยังเป็นแกนหลักอยู่เช่นเดิม และจะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา การปกครอง รวมทั้งกิจการเยาวชนร่วมวง
การพูดคุยที่ผ่านมา 3 ครั้ง คณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น ไม่ว่าจะเป็นแกนหลักหรือทีมงาน ไม่เคยยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยที่เป็นสื่อกระแสหลักเลย ทั้งๆ ที่หลังการพูดคุยครั้งที่ 3 นายฮัสซัน พร้อมด้วย นายลุกมัน บิน ลิมา แกนนำองค์การพูโล และพวกได้ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศชั้นนำที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีสื่อมวลชนไทยร่วมด้วย หลังจากนั้นนายฮัสซันยังเคยให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นและสื่อทางเลือกในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง
แต่ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยกระแสหลัก...
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ คณะสื่อมวลชนไทยได้มีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี ซึ่งมีและกำลังจะมี "ตัวแทน" ขึ้นโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย เป็นการสัมภาษณ์นอกประเทศในลักษณะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างยาวนานหลายชั่วโมง
"ทีมข่าวอิศรา" สรุปประเด็นสำคัญมานำเสนอ โดยไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายที่ประกาศจุดยืนต่อต้านรัฐอย่างชัดเจนในลักษณะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทว่ามีเจตนาเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจท่ามกลางบรรยากาศของการพยายามรักษาโต๊ะพูดคุยสันติภาพให้เดินหน้าต่อไปเพื่อสถาปนาสันติสุขที่ปลายด้ามขวานอย่างยั่งยืน
ไม่ได้รบคนไทยแต่รบกับผู้ยึดครอง
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งขอเรียกตัวเองว่า "กลุ่มเคลื่อนไหว" หรือ "จูแว" ในภาษามลายู กล่าวในเบื้องต้นว่า อยากทำความเข้าใจกับสังคมไทยว่า ทางกลุ่มไม่ได้ตั้งใจรบกับคนไทยทั้งประเทศหรือคนไทยทั่วไป เพียงแต่ต้องการสู้กับนักปกครองในฐานะผู้ยึดครองเท่านั้น คนอื่นไม่ใช่คู่ต่อสู้
"ถ้าทุกอย่างสามารถจบลงและนำความสันติสุขสู่พื้นที่นี้ได้ในแนวทางการพัฒนาสิทธิพื้นฐาน สิทธิความเป็นเจ้าของดั้งเดิม สิทธิการเมืองที่ดี เศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่ดีงาม การต่อสู้ด้วยความรุนแรงทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น" หนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหว ระบุ
คณะสื่อมวลชนไทยถามว่า เหตุใดจึงเรียกรัฐไทยหรือสยามว่า "นักล่าอาณานิคม" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ตอบว่า ทั้งเอกสารที่ได้เผยแพร่ออกไป และการให้สัมภาษณ์ของอุสตาซฮัสซัน ภาษาที่ใช้เป็นภาษามลายู จึงขึ้นอยู่กับคนแปลเป็นภาษาไทยว่าจะไปแปลรูปแบบไหน
"มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา เช่น คำว่านักล่าอาณานิคม ในสังคมมลายู ใครก็ตามที่ปกครองเราแต่ไม่ใช่คนมลายูปัตตานี เราเรียกคนที่มาปกครองว่า เปินฌาฌัฮ (penjajah) คนมลายูทั้งหมดจะเข้าใจว่าคืออะไร แต่พอไปแปลเป็นภาษาไทยแล้วไม่ใช่ปัญหาของเรา"
2 เงื่อนไขต้องจับอาวุธสู้
กลุ่มจูแวพลัดถิ่น กล่าวต่อว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องจับอาวุธขึ้นสู้ มีด้วยกัน 2 ประการ คือ 1.ดินแดนปาตานีถูกยึดครองโดยรัฐสยามในอดีต และ 2.ความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ โดยการต่อสู้ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช้อาวุธไม่เคยได้ผล จึงต้องเลือกใช้ความรุนแรง
"มี 2 เงื่อนไขหลักที่ทำให้เกิดการต่อสู้ คือ 1.ในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะดินแดนปัตตานีถูกยึดไป 2.ชาติพันธุ์มลายูปัตตานีถูกปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เริ่มเมื่อปี 2547 แต่เกิดมานานแล้ว บีอาร์เอ็นก่อตั้งเมื่อปี 1960 (พ.ศ.2503) กระบวนการต่อสู้มีมานานแล้ว ประวัติศาสตร์ยุคหะยีสุหลง (ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนมลายูมุสลิม บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.ปัตตานี) ก็พอบอกได้ ก่อนหน้านั้นก็มีกลุ่มต่างๆ ที่ประกาศชัดเจนว่าต่อสู้กับรัฐบาลไทย หรืออย่างสงครามที่ดุซงญอ (ปี พ.ศ.2491 ปัจจุบันอยู่ใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส) ก็เป็นหลักฐานชัดเจน"
"หะยีสุหลงไม่ได้ต่อสู้ด้วยความรุนแรง เขาเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้กับรัฐบาลไทย แต่กลับต้องมาตาย (เชื่อว่าถูกอุ้มฆ่าถ่วงน้ำเมื่อปี พ.ศ.2498) หลังจากนั้นก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ ความอยุติธรรมที่เรารับไม่ได้เลยก็คือกรณีที่มีการสังหารชาวบ้าน 6 คนที่สะพานกอตอ (สะพานข้ามแม่น้ำสายบุรี จ.ปัตตานี) แล้วมีเด็กอายุ 14 ปีไม่เสียชีวิต และมาเล่าความจริงให้ฟัง (ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2518) นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดขบวนการต่อสู้"
การศึกษาด้อยคุณภาพ-ไร้สิทธิรับราชการ
ประเด็นความไม่เป็นธรรม นอกจากมิติทางกายภาพที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกายแล้ว ยังมีมิติทางสิทธิ เสรีภาพ และสถานภาพทางสังคมด้วย โดยหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหว อธิบายว่า คนปัตตานี (หมายถึงคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดที่เชื่อว่าเป็นดินแดนมลายู ไม่ใช่เฉพาะ จ.ปัตตานี) โดนสองมาตรฐานในเรื่องการดูแลความยุติธรรม
ในแง่ของการปกครองในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมุสลิมไปนั่งในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดอำเภอ นายอำเภอ หรือแม้แต่ครูใหญ่
เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา คนมลายูปัตตานีก็ถูกบังคับให้เข้าการศึกษาภาคบังคับ ใครไม่ส่งลูกหลานไปเรียนก็จะมีความผิด ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองทุกคนเห็นว่าการส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนของรัฐบาล แนวโน้มที่จะทำให้ลูกหลานถูกทำลายเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมีสูงมาก เป้าหมายการมีโรงเรียนของรัฐก็เพื่อให้คนมลายูถูกกลืนเป็นวัฒนธรรมไทย วิถีไทย คนไทย
"นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ปกครองนำลูกหลานไปเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ความผิดของรัฐบาลคือไม่พัฒนาโรงเรียนเอกชนให้มีคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของลูกหลานปัตตานีไม่มีคุณภาพ เมื่อจบการศึกษาก็ไม่มีโอกาสเข้าทำงานในส่วนราชการต่างๆ ของรัฐ นี่คือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนปัตตานี"
แจงไม่มีนโยบายทำร้าย "ครู-พระ"
สื่อมวลชนที่ร่วมวงพูดคุยถามว่า ในเมื่อบอกไม่ได้รบกับคนไทย เหตุใดจึงสังหารหรือก่อเหตุรุนแรงโดยพุ่งเป้าไปที่ครู หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา หนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหว ชี้แจงว่า พวกเขาไม่เคยคิดรบกับครู แต่รัฐบาลไทยลากครูให้ไปอยู่ในสนามรบ ให้ครูถือปืน ให้ทหารเฝ้าโรงเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงเรียนจึงกลายเป็นเป้าหมายของการต่อสู้ไปด้วย
"ในความเป็นจริง กลุ่มเคลื่อนไหวพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายกับครู เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวมีกฎชัดเจน ห้ามทำร้ายครู อุสตาซ โต๊ะอิหม่าม และพระสงฆ์ แนวทางคำสอนของศาสนาอิสลามที่ถูกต้องในกระบวนการการต่อสู้ทั้งหลาย การฆ่าพระสงฆ์ หรือทำลายศาสนสถานเป็นสิ่งต้องห้าม"
"กลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่มไม่เคยคิดเลยว่าคนทั่วไปจะตกเป็นเป้า หมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระและครู ทุกกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นพูโล บีอาร์เอ็น หรือกลุ่มอื่นๆ มีพื้นฐานการต่อสู้ตามหลักการอิสลาม ไม่อนุญาตให้ไปทำร้ายคนทั่วไป"
อ้างครูบางคนเป็นสายสืบให้รัฐ
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว อธิบายต่อว่า สิ่งที่เกิดบางเหตุการณ์ที่ครูถูกทำร้ายเป็นความบังเอิญ เพราะครูเดินทางพร้อมกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีอาวุธ ทำให้มีผลกระทบถึงครูด้วย
"สิ่งหนึ่งที่จะขอให้สื่อให้เข้าใจก็คือ ถ้าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีอาวุธไม่อยู่กับครู และไม่ตั้งค่ายอยู่ในวัดหรือโรงเรียน พื้นที่เหล่านั้นก็จะมีความปลอดภัยกว่าการมีทหารอยู่"
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ปัญหาอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูบางคนไม่อยู่ตรงกลาง แต่ไปเป็นสายสืบของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ถ้าครูอยู่เป็นกลางก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยกว่านี้อีกมาก
"ครูที่เสียชีวิตเพราะรัฐไทยไปให้อาวุธ ไปให้ทำงานเป็นแหล่งข่าว ทำงานให้กับหน่วยงานความมั่นคง จุดนี้ทำให้เกิดการโต้ตอบ"
เตือนก่อนทุกครั้งให้เลิกเป็นสาย
คณะสื่อมวลชนถามว่า แน่ใจได้อย่างไรว่าครูบางคนที่ถูกทำร้ายเป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่จริงๆ หนึ่งในกลุ่มจูแวพลัดถิ่น บอกว่า พวกเขามีกระบวนการตรวจสอบในพื้นที่ที่ดีพอ
"เมื่อเกิดเหตุฆ่าครู กลุ่มเคลื่อนไหวก็จะไปเช็คว่านักต่อสู้เป็นคนทำ หรือถูกกระทำเพราะเหตุส่วนตัว หลายครั้งพบว่าเพราะครูคนนั้นเป็นสายสืบ ทำงานกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งจริงๆ เมื่อเราทราบก็จะตักเตือนก่อน บางคนไม่เชื่อคำตักเตือน กลับท้าทาย เรามีสายข่าวของเราเองเพื่อสืบเสาะเรื่องพวกนี้"
"ครูบางคนชอบทำรายงานส่งไปข้างบน เราก็มีหูมีตาเหมือนกัน ปกติก็จะบอกว่าเลิกเขียนได้แล้วนะ เลิกรายงานได้แล้ว แต่พออยู่นานๆ ไปยังมีรายงานขึ้นไปอีก อันนี้ถือว่าท้าทาย"
"อยากยกตัวอย่างหนึ่ง ไม่บอกว่าที่ไหน ครูที่สอนในห้องเรียนชั้นประถม นักเรียนอายุ 7-8 ปีไม่ค่อยรู้เรื่อง ครูเขียนภาพอาวุธปืน แล้วถามเด็กว่าคืออะไร เด็กบอกนี่คือปืน ครูถามต่อว่าที่บ้านมีมั้ย พ่อมีมั้ย เด็กตอบของพ่อผมมีที่บ้าน จากนั้นไม่กี่วันบ้านของเด็กคนนั้นถูกค้นโดยเจ้าหน้าที่ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นเหตุการณ์จริง หลายครั้งครูทำหน้าที่แล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจของชาวบ้าน เช่น กรณีไปเปลี่ยนชื่อลูกหลานของชาวบ้าน จากชื่อเดิมเป็นภาษามลายู ไปเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทย ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเยอะ"
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วทางกลุ่มเคลื่อนไหวจะตักเตือนก่อนทุกครั้ง และมีเยอะเหมือนกันที่ไม่ได้พูดโดยตรง แต่สื่อทางอ้อมให้ครูได้รับทราบ ไม่ว่าจะทำหนังสือไปตักเตือน หรือเอาข้าวสารและไข่ 2 ฟองไปแขวนหน้าบ้าน (เป็นของที่ใช้ในการละหมาดศพมุสลิมที่เสียชีวิต)
โบ้ยรัฐติดอาวุธไทยพุทธ-ตั้งฐานในวัด
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว อธิบายอีกว่า ปัญหาครูและพระสงฆ์ถูกทำร้าย เป็นเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ในหมู่บ้านคนไทยพุทธ รัฐก็เข้าไปติดอาวุธให้ เกือบทุกหมู่บ้านของคนไทยพุทธมีการวางกองกำลังตำรวจ มีค่ายทหาร เมื่อแนวทางการนำกองกำลังตำรวจ ทหารเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านและติดอาวุธให้คนในหมู่บ้านไทยพุทธถูกดำเนินการในวงกว้าง ก็ทำให้เกิดความหวาดระแวงมากขึ้น ทำให้ความสงบสุขที่มีมาเป็นร้อยๆ ปี ถูกแยกออกไป
"เมื่อรัฐบาลส่งทหารเข้ามา เป้าหมายของกลุ่มเคลื่อนไหวก็คือทหาร ไม่ใช่พระ แต่ทหารไปอยู่ในวัด ทำให้ทั้งวัดทั้งพระกลายเป็นเป้าหมาย เช่นเดียวกับเหตุระเบิดที่เกิดในโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง 2 จ.ยะลา เมื่อไม่นานมานี้ (เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556) ในโรงเรียนมีทหาร เมื่อเป้าหมายของกลุ่มเคลื่อนไหวคือทหาร ก็เลยไปทำในโรงเรียน และไปโดนนักเรียนด้วย"
หลายกรณีแก้แค้นส่วนตัว
จูแวพลัดถิ่นอีกราย กล่าวว่า เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อพระและครู คือ กองกำลังของทหาร ตำรวจไปอยู่ในพื้นที่ไทยพุทธหรือวัด เมื่อมีคนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และเข้าใจว่าถูกกระทำโดยกลไกของรัฐ เขาก็จะไปแก้แค้น
"เหมือนกับความเจ็บแค้นของผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ คนเหล่านั้นก็ไปตอบโต้ ไปกระทำกับเจ้าหน้าที่ ไปทำในพื้นที่ไทยพุทธ และโดนไทยพุทธด้วย เป็นการตอบโต้แก้แค้น และหลายกรณีไม่ได้เกิดขึ้นจากสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหว แต่เป็นคนทั่วไปที่มีความรู้สึกเคียดแค้นเพราะถูกกระทำ"
"อันที่จริงการต่อสู้มีกฎระเบียบชัดเจน ไม่มีการทำลายศาสนสถาน ฆ่าโต๊ะครูทำไม่ได้ ฆ่าพระไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่เป็นไปตามกฎ เราไม่ปฏิเสธ แต่เป็นเพราะโต๊ะครูถูกยิง ลูกศิษย์ของโต๊ะครูคนนั้นอาจจะไปแก้แค้น ไปก่อเหตุ ไปยิงพระ คล้ายๆ กับว่าถ้ามีมัสยิดถูกเผา ก็ต้องไประเบิดวัด ยิงโต๊ะครูเรา ก็ต้องไปยิงโต๊ะครูเขา (พระ) แต่นี่ไม่ใช่พื้นฐานของเราเลย"
เรียกร้องถอนทหารแลกหยุดยิง
แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยเฉพาะที่สำคัญคือถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ยุติการใช้กำลังของหน่วยงานความมั่นคง "ถ้าถอนทหาร พวกเราก็หยุด เราจะอยู่ในลักษณะของการป้องกันตัว"
หนึ่งในกลุ่มจูแวพลัดถิ่น ยังบอกด้วยว่า หากรัฐบาลเริ่มทำ กลุ่มเคลื่อนไหวก็สามารถชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะจริงๆ แล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเป็นความประสงค์ของกลุ่มเคลื่อนไหว เพียงแต่ยังมีความหวาดระแวงและไม่มีความเชื่อมั่นระหว่างกัน
"ชายแดนใต้มีกฎหมายหนักๆ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ถามว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยมีบ้างไหม ถ้าจำไม่ผิด จำนวนทหารและหน่วยงานอื่นที่มีอาวุธในสามจังหวัดมีมากกว่าทหารอเมริกันที่อยู่ในอิรักทั้งประเทศเสียอีก" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว กล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบคนใส่หมวกกะปิเยาะห์ จากอินเทอร์เน็ต
หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในเรื่อง ตัวหนังสือโค้ดคำพูดเป็นการใส่เติมเข้าไปโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา