ควันหลงวิสามัญฯ...ญาติผู้ตายร้องรัฐ2กรณี หนุ่มยะหาครวญถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายสาหัส
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายเดือนมานี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ชายแดนใต้ได้เปิดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยบ่อยครั้ง ซึ่งเกือบทุกครั้งจบลงด้วยความสูญเสียของฝ่ายที่ถูกระบุว่าต่อสู้เจ้าหน้าที่
นับเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างที่รัฐบาลริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ
แน่นอนว่าหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ มีความรุนแรงที่เกิดจากทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐ และฝ่ายรัฐเอง หลายครั้งนำไปสู่วาทกรรมที่ตอบโต้กันไปมากว่าฝ่ายใดเริ่มก่อน
แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่ติดตามปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานหลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่า ปฏิบัติการในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟันของเจ้าหน้าที่ เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ใช้ระหว่างการพูดคุยสันติภาพ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของฝั่งรัฐ และเชื่อว่าในหลายๆ ห้วงเวลา ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ใช้ยุทธวิธีนี้เช่นกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายตน
ตัวอย่างล่าสุดคือเหตุการณ์ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อตำรวจถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิต 3 นาย เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. เจ้าหน้าที่ก็เปิดปฏิบัติการไล่ล่าปิดล้อมทันที กระทั่งวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย 1 รายในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่ายิ่งพูดคุยสันติภาพกันนานวัน เหตุรุนแรงยิ่งเกิดมากขึ้น แม้จะไม่ได้เพิ่มในแง่ของจำนวนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในแง่ความรู้สึกของคนทั่วไปย่อมเห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย ส่งผลให้กระบวนการพูดคุยถูกลดความน่าเชื่อถือลง
ผลกระทบดังกล่าวจึงน่าคิดว่ายุทธวิธีการเพิ่มอำนาจต่อรองแบบนี้ เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการสันติภาพกันแน่
วิสามัญฯ...ไม่ใช่เป็นศพแล้วจบข่าว
หันไปดูในมิติของผู้รับข่าวสารทั่วไป ส่วนใหญ่ทราบแต่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และยิงปะทะ บางเหตุการณ์มีความสูญเสียตามมา แต่หลังจากนั้นก็แทบไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ อีก นอกจากข้อมูลประวัติของคนที่ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า "วิสามัญฆาตกรรม" โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่มักให้ข้อมูลว่าคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงตัวฉกาจ มีหมายจับหลายหมาย ทั้งที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทั้งยังมีประวัติการเคลื่อนไหวอยู่ในโครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างชัดเจน
กระนั้นก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อกระแสหลักเท่าใดนัก นั่นก็คือข้อมูลจากทางฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีหลายกรณีออกมาร้องขอความเป็นธรรมเช่นกัน
เรื่องลักษณะนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ในแง่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรม ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบหรือสอบสวนเพื่อให้ความจริงปรากฏ อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนในพื้นที่จะมีต่อหน่วยงานรัฐด้วย
แม่เหยื่อวิฯโวยลูกไม่ได้ยิงสู้
กรณีแรก คือเหตุการณ์ยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง 3 ราย เมื่อเย็นวันอังคารที่ 15 ต.ค.2556 ซึ่งตรงกับวันรายออีดิ้ลอัฎฮาพอดี เหตุเกิดในท้องที่หมู่ 2 บ้านกำปงบือราแง ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ได้แก่ นายซาการียา เจะแม อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 บ้านคอลอกะปะ หมู่ 6 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี นายมะนูซี กาซา อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/2 บ้านมะกอ หมู่ 1 ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ และ นายอับดุลรอซิ หรืออับดุลอาซิส สาและ อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7 บ้านปาเซปูเต๊ะ หมู่ 2 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง
เมื่อเร็วๆ นี้ นางแยนะ สะอะ มารดาของนายอับดุลอาซิส ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม ได้เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า ลูกชายไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯตามที่เจ้าหน้าที่ให้ข่าว เนื่องจากก่อนที่ลูกชายจะกลายเป็นศพ เจ้าหน้าที่ได้แย่งตัวไปจากนางเอง ไม่ได้มีการยิงปะทะแต่อย่างใด
นางแยนะ ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อร้องขอความเป็นธรรมด้วย และ พ.ต.อ.ทวี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของ ศอ.บต.ลงพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง จะได้ให้ความช่วยเหลือในแง่กฎหมายและเยียวยาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
มอบตัวแล้วทำไมกลายเป็นศพ?
กรณีที่สอง คือ เหตุการณ์ยิงปะทะที่บ้านสะแนะ หมู่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2556 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย คือ จ.ส.ต.วิชิต อดทน พ.ต.ท.อติพัฒน์ สุพรรณวิวัฒน ทั้งคู่สังกัดศูนย์ปฏิบติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)
ขณะที่ฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 4 ราย คือ นายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ หรืออุสตาซรอฮิง ฉายา "เปเล่ดำ" นายอุสมาน เด็งสาแม แกนนำผู้ก่อความไม่สงบคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.รือเสาะ นายมะสุเพียร หรือซูเฟียน สาและ ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา และ นายซูกิฟลี แมแล อยู่บ้านเลขที่ 93/1 หมู่ 2 ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
กรณีนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการร้องเรียนจากญาติของผู้เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็สูญเสียเช่นกัน โดยเป็นนายตำรวจยศพันตำรวจโทด้วย
แต่ต่อมาครอบครัวของ นายซูเฟียน สาและ ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ช่วงที่เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ โดยอ้างว่าก่อนเสียชีวิต นายซูเฟียนได้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว แต่หลังจากนั้นญาติกลับพบว่าได้กลายเป็นศพ ทั้งยังระบุว่าเงินของนายซูเฟียนจำนวน 490,000 บาทซึ่งเก็บไว้ในบ้านที่มีการยิงปะทะกัน ได้สูญหายไปด้วย
ทั้งนี้ ทาง กสม.ได้รับเรื่องไว้เพื่อสอบสวนต่อไป
หนุ่มยะหาเจอ จนท.ทำร้ายปางตาย
นอกเหนือจากเหตุวิสามัญฆาตกรรม ยังมีกรณีร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย โดยผู้เสียหายรายนี้คือ นายมะยีดี บาสา อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 169 หมู่ 1 ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำโรงพักแห่งหนึ่งทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2556
หลังเกิดเหตุ นายมะกอนี บาสา บิดาของ นายมะยีดี ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา สรุปเหตุการณ์ได้ว่า ในวันเกิดเหตุ นายมะยีดีลูกชายได้ขี่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ รุ่นสแมช อยู่บนถนนสายสะบ้าย้อย-ยะหา ระหว่างทางเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจ จึงกลับรถเพื่อหลบหนีไปเส้นทางสายอื่น เนื่องจากใต้เบาะรถซุกน้ำใบกระท่อมไว้จำนวนหนึ่ง เกรงว่าจะถูกจับกุม
ปรากฏว่าระหว่างนั้นถูกตำรวจใช้ไม้หน้าสามขว้างใส่จนรถล้ม แล้วตำรวจก็เข้าทำร้ายร่างกายโดยใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ เป็นเหตุให้นายมะยีดีกะโหลกด้านข้างยุบ ตาซ้ายหลุด อาการสาหัส ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ก่อนย้ายไปพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลยะหา รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 66 วัน ปัจจุบันร่างกายซีกซ้ายไม่ตอบสนอง แพทย์ให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
นางมีดะห์ เจะมะ มารดาของมะยีดี เล่าว่า ทางบ้านมีฐานะยากจน มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง เมื่อลูกชายถูกทำร้ายก็ต้องไปเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาลจนถูกเจ้าของสวนไล่ออก ตอนนี้ไม่มีงานทำ ขณะที่ลูกชายยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. แต่ก็เงียบหาย
"บ้านเรามีลูก 5 คน มะยีดีเป็นลูกคนที่ 2 เมือก่อนตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง เขาเป็นกำลังหลักของครอบครัวในการช่วยเก็บน้ำยาง ส่วนลูกคนโตชื่อ นาแซ บาสา เป็นทหาร คนที่สาม อุสมาน บาสา อายุ 15 ปี ไม่ได้ทำงานอะไร คนที่สี่เป็นลูกสาว ชื่อ นุรีดา บาสา อายุ 14 ปี เรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนยะหาวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่วนลูกคนที่ห้าชื่อ ด.ญ.มูรณี บาสา อายุได้ 5 ขวบ ยังไม่ได้เรียนหนังสือ"
"ตอนนี้ฉันเป็นห่วงก็แต่ นูรีดา เพราะเรียนหนังสืออยู่ ม.2 ไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนส่ง ตอนนี้ไม่มีรายได้อะไรเลย และไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้แต่รอเงินบริจาคจากคนที่มาเยี่ยม” นางมีดะห์ กล่าว
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวเศร้าๆ ที่ชาวบ้านยังรอขอความเป็นธรรม!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มะยีดี บาสา ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส
2-3 บ้านหลังเล็กในสวนยางพารา ขณะที่ครอบครัวแสดงหนังสือร้องเรียนและใบรับรองแพทย์