‘ปัญญาชน...คนทำดี’สร้างสรรค์ศิลปะให้ทุกคนมีสิทธิเสพได้เหมือนๆ กัน
“ถ้าจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อซื้อขนมให้น้อง ก็แค่ยืนถือกล่องบริจาค แต่เรามองว่า มันง่ายไป จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราไม่ใช้ศักยภาพที่เราเรียนมามาทำละครให้น้องดู และเมื่อเราลงพื้นที่จริง เรารู้เลยว่าเราคิดไม่ผิด เรามีความสุขตั้งแต่ลงพื้นที่ ได้แบ่งปันประสบการณ์และได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างนอกเหนือไปจากการทำเพื่อตัวเอง”
ไม่มีข้อจำกัดหรือรูปแบบในการทำความดี แค่คิดจะทำก็ถือว่า ดีแล้ว และจะยิ่งดีกว่าหากได้เริ่มลงมือทำ วันนี้เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโอกาสในการทำความดีเพื่อสังคมในโครงการปัญญาชน...คนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจี ได้เริ่มเรียนรู้การเป็นผู้ให้ โดยนำความรู้ที่ตนเองร่ำเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่เพียงการทำให้ชุมชน สังคมดีขึ้น หากแต่ความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นจากการกระทำความดีนี้จะซึมลึกลงไปในจิตใจของเยาวชนหล่อหลอมและก่อเกิดเป็น ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีจิตอาสาสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ต่อไป
หนึ่งในโครงการปัญญาชน คนทำดี ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น20 ทีมสุดท้าย คือ โครงการ‘ละครเพื่อการศึกษาเรื่องแมงมุมเพื่อนรัก สำหรับเด็กพิการทางสายตา’ ของ "สร้อย" น.ส.เพชรรัตน์ มณีนุษย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคอน ที่อยากจะใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาสร้างโลกแห่งความสุขเปิดสุนทรียภาพทางศิลปะให้กลุ่มน้องๆผู้พิการทางสายตาด้วยละคร ซึ่งพื้นที่เป้าหมายของจิตอาสา คือ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ จ.ชลบุรี
น.ส.เพชรรัตน์ เล่าย้อนไปถึงเรื่องแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากจะหันกลับมาให้ความสุขกับน้องๆที่มีความบกพร่องทางสายตาว่า เมื่อหลายปีก่อนเธอมีโอกาสรวมกลุ่มกับเพื่อนๆไปเล่นละครเวทีให้กับน้องๆผู้พิการทางสายตาที่จังหวัดลำปาง
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวันนั้น ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เสพสื่อศิลปะได้อย่างคนปกติทั่วไป
สร้อย มองว่า ปัจจุบันสื่อบันเทิงเพื่อเด็กพิการทางสายตามีน้อยมาก การเปิดพื้นที่ความสุขและแบ่งปันสุนทรียศาสตร์แก่คนเหล่านี้ จึงไม่ควรถูกมองข้ามไป
"การบริจาคอาหาร หรือเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มชีวิต รสนิยมทางศิลปะ เป็นสิ่งสำคัญที่น้องๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดควรมีสิทธิได้รับอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นคนอื่นๆ ในการเสพความบันเทิงและมีส่วนร่วมในเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
ถ้าจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อซื้อขนมให้น้อง ก็แค่ยืนถือกล่องบริจาค แต่เรามองว่ามันง่ายไป จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราไม่ใช้ศักยภาพที่เราเรียนมามาทำละครให้น้องดู พอเราลงพื้นที่จริง เรารู้เลยว่าเราคิดไม่ผิด เรามีความสุขตั้งแต่ลงพื้นที่ ได้แบ่งปันประสบการณ์และได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างนอกเหนือไปจากการทำเพื่อตัวเอง”
นักศึกษาจากรั้วธรรมศาสตร์ ยังพูดถึงกระบวนการสร้างละครเวทีเรื่องนี้ด้วยว่า การรับรู้ถึงปัญหาของผู้พิการทางสายตา เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถกลับมาสร้างละครได้ เราพบว่าเรื่องเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นกับน้องๆกลุ่มนี้ โดยเราถามน้องๆว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีเพื่อนจะทำอย่างไร น้องตอบมาว่า ความจริงก็อยู่ได้ แต่เหมือนสิ่งหนึ่งคงขาดหายไปจากเสี้ยวชีวิต
หลายคนอาจมีเฟชบุ๊คใช้ในการติดต่อสื่อสาร แต่ผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ ไม่มี และการสื่อสารที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือการพูดคุย ด้วยเหตุนี้ สร้อย จึงอยากจะทำละครที่สื่อถึงเรื่องมิตรภาพ
เธอเลือกวรรณกรรมสำหรับเยาวชนยอดนิยมอย่าง "แมงมุมเพื่อนรัก" มาดัดแปลงเป็นละคร เพื่อผู้ชมสามารถสัมผัสได้ มีทั้งกลิ่น และเสียง แทนการสื่อสารโดยการใช้ภาพเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ละครเรื่องนี้อาจจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้หากเธอไม่ได้รับคำแนะนำจาก "ชาย เลิศสัมฤทธิ์" เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันที่เป็นผู้พิการทางสายตาคอยให้คำแนะนำ
"ชาย" เล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อจากเพื่อนสาวให้เข้ามาช่วย และให้เป็นหนึ่งในนักแสดงนั้น แรกๆ เขาลังเลที่จะเข้าร่วม เพราะคิดว่า คนที่มองไม่เห็นจะมาร่วมงานหรือทำงานที่เกี่ยวกับการแสดงได้อย่างไร
แต่เมื่อเพื่อนๆ ให้กำลังใจ บอกว่า ทำได้ เขาจึงลองดูด้วยอย่างน้อยก็เป็นการช่วยเหลือคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันกับเขา
"ผมพยายามถ่ายทอดประสบการณ์จากตัวเองให้สร้อยฟังว่า บุคลิกลักษณะของผู้พิการทางสายตามีลักษณะอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร
และพอมาร่วมงานแล้ว ก็รู้สึกสนุก และทำให้ผมมีทักษะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีทักษะทางด้านการแสดงนอกเหนือจากกิจกรรมที่เรียนเพียงอย่างเดียว"
ส่วนด.ญ.พีระดา ศรีสวัสดิ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่ หลังชมละครเรื่องนี้ เธอถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังอย่างตื่นเต้น ว่า ละครเวทีเรื่องนี้ มีความแตกต่างจากการฟังนิทานหรือละครแบบอื่นที่เธอเคยฟังมา
ครั้งนี้เธอรู้สึกได้อรรถรสและสนุกสนานมากกว่าทุกครั้ง ความแตกต่างอยู่ที่ผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงมีกิจกรรมให้ลอดห่วง มีร้องเพลง มีเสียงม้าวิ่ง ม้าเดิน ประกอบด้วย
ทั้งนี้เธอยังบอกด้วยว่า ในปีหนึ่งๆมีกิจกรรมแบบนี้น้อยมาก คือไม่เคยเกินปีละ 3 ครั้ง ดังนั้นจึงอยากให้มีกิจกรรมละครเวทีเพื่อผู้พิการทางสายตามากๆ
"พวกเราก็อยากเสพสื่อศิลปะเหมือนคนปกติทั่วไป"
ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ "สุวิมล จิวาลักษณ์" ผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ระบุว่า ช่วงแรกๆ มองไม่ออกน้องๆจะถ่ายทอดการแสดงละครให้ผู้พิการทางสายตา เข้าใจได้อย่างไร แต่ด้วยความตั้งใจและการนำศาสตร์ความรู้ทางวิชาการมาปรับใช้เราเห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สามารถที่จะสร้างงานจิตอาสาให้กับคนในสังคมได้
สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนกำลังใจที่จะทำให้ทุกคนมีพลังที่ร่วมกันสร้างและสนับสนุนโครงการดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้น
" ในประเทศไทยมีคนตาบอดอีกเป็นจำนวนมาก เขาเหล่านั้นจะได้รับโอกาสแบบนี้อีกหรือไม่" ผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ฝากทิ้งท้าย พร้อมกับเชื่อมั่นว่า ประเทศชาติจะเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มจากการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นทั้ง ‘คนเก่งและคนดี’ ให้กระจายอยู่ทั่วไปในสังคม
--------------------