วันเด็กกำพร้าชายแดนใต้ กับความในใจของครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง
บ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี มอบทุนการศึกษาจำนวน 42 ทุน ทุนละ 5,000 บาท ให้แก่ทายาทของครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เด็กกำพร้าที่ครอบครัวต้องประสบกับความสูญเสียและทางการสรุปว่าเป็นคดีส่วนตัว (ไม่ได้รับเงินเยียวยา) ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรี ทั้งใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน
ที่มาของทุนการศึกษาดังกล่าว ส่วนหนึ่งจำนวน 32 ทุน มาจากการระดมทุนของ ทพ.ศิริเกียรติ เหลืองกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนั้นอีก 10 ทุน ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
มัณฑนา แท่นบำรุง ผู้ดูแลและประสานงานบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนฯ บอกว่า ทางบ้านอาสาฯให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าทั้งที่สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจากคดีความมั่นคง และที่ทางการสรุปว่าเป็นคดีส่วนตัว ไม่ใช่คดีความมั่นคงด้วย ลักษณะการช่วยเหลือเป็นไปตามกำลังความสามารถเพื่อให้เด็กที่ได้รับผลกระทบสามารถอยู่รอดได้ ส่วนทุนการศึกษาในครั้งนี้แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่นับว่ามีค่าอย่างมาก เน้นบรรเทาความเดือดร้อนให้ครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยหรือไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานใดๆ มาก่อน และในอนาคตคาดว่าจะมีการช่วยเหลือด้านอาชีพเพื่อความยั่งยืนต่อไป
วันนี้ของครอบครัวผู้ต้องหาคดีครูจูหลิง
การีมะ มะสาและ จากบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส หนึ่งในครอบครัวที่ได้รับทุน เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันที่สามีถูกจับในคดีความมั่นคงและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง เธอต้องดูแลและหาเลี้ยงลูกทั้ง 2 คนด้วยตัวเองตลอดมา ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน การได้รับทุนครั้งนี้ทำให้สามารถนำเงินไปเป็นค่าเล่าเรียนของลูกและดูแลค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย
"ฉันเองเคยถูกจับในคดีครูจูหลิงเมื่อปี 2549 (คดีกรุ้มรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล จนเสียชีวิต ที่บ้านกูจิงลือปะ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2549) พร้อมกับคนในหมู่บ้านรวม 18 คน ถูกขังอยู่ 28 วัน จากนั้นก็ประกันตัวออกมาสู้คดี ปัจจุบันศาลยกฟ้องแล้ว ส่วนอาแบ (สามี) ถูกจับในคดีนี้เหมือนกัน และยังมีคดีอื่นๆ ด้วยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงทุกวันนี้ ลูก 2 คนอายุ 12 กับ 9 ขวบแล้ว ฉันรับเลี้ยงเด็กอยู่กับบ้าน และเย็บผ้าคลุมผมไปด้วยเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและลูก ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนมาก่อน ทุนนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับ ขอขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของฉัน จะเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายของลูกในการเรียนและในชีวิตประจำวัน อยากได้ทุนการศึกษาที่ช่วยเหลือลูกให้ได้เรียนจนจบปริญญาตรี"
การีมะ บอกว่า คดีของสามี ล่าสุดถูกศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมทั้งครอบครัวกับโครงการที่ ศอ.บต.จัดให้ญาติผู้ต้องขังได้ไปเยี่ยมถึงในเรือนจำ
"ฉันกับลูกดีใจมากที่ได้ไปเยี่ยมอาแบ และได้ไปทั้งครอบครัว เพราะถ้าให้ไปเองคงไม่ได้ไปเนื่องจากไม่มีเงินพอ หากมีโอกาสขอย้ายได้ จะขอให้ย้ายสามีมาอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส จะได้ไปเยี่ยมได้สะดวก" การีมะ บอก และว่าอยากมีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างสักคันเพื่อจะได้ค้าขายตามตลาดนัดหารายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีเงินลงทุน
ขายไก่หมุนเลี้ยงลูกแทนสามีที่ต้องติดคุก
รุสมีนี สาและ เด็กสาววัย 10 ขวบจาก อ.เมืองยะลา เล่าด้วยสายตาเป็นประกายว่า ดีใจที่ได้รับทุนนี้ จะเอาไปแบ่งกับพี่สาวไว้ใช้เวลาไปโรงเรียนและซื้อของจำเป็น
รุสมีนี และ ฮานีตา เป็นลูกสาวสองคนของ สุรีนา สาและ กับ อับดุลเลาะ สาและ โดยอับดุลเลาะผู้เป็นบิดานั้นถูกจับในคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2549 และถูกคุมขังในเรือนจำบางขวางมานาน 5 ปีด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต
ตั้งแต่สามีสิ้นอิสรภาพ สุรีนาก็รับจ้างขายไก่หมุน มีรายได้วันละ 150-200 บาท และไม่ได้ทำอาชีพอื่น เพราะขายไก่หมุนอย่างเดียวก็เกือบหมดเวลาทั้งวันแล้ว ทุนการศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เธอหวังให้ลูกๆ สองคนได้รับการดูแลจนจบการศึกษา
"ฮานีตา ลูกสาวคนโตกำลังจะจบ ป.6 กำลังตัดสินใจว่าจะให้ไปเรียนและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอัลเกาษัร จ.สมุทรปราการ ที่ดูแลโดยมุสลิมเพื่ออนาคตและโอกาสที่ดีของลูกในเรื่องการศึกษา เพราะอยู่ที่บ้านเราไม่มีกำลังส่งเสียให้ได้เรียนดีๆ แน่นอน และเป็นโอกาสของรุสมีนีด้วยที่จะได้ไปเรียนด้วยกัน หากอัลลอฮ์ประสงค์ลูกสาวทั้งสองคนคงมีโอกาสที่ดีในชีวิต" สุรีนาบอกด้วยเสียงเปี่ยมไปด้วยความหวัง
สิบปีที่รอคอยแต่พ่อไม่เคยกลับมา
ขณะที่ คอรีเยาะ เจ๊ะเลาะ เด็กสาววัย 18 ปี รำพึงถึงพ่อของเธอ อับดุลรอนิง ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547
"เกือบสิบปีแล้วที่ครอบครัวไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากัน ขอดุอาให้พ่อได้กลับมาอยู่กับพวกเราเร็วๆ"
เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ" แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกกว่า 10 จุดจากปฏิบัติการที่วัยรุ่นและชายฉกรรจ์ซึ่งส่วนใหญ่มีเพียงมีดและมือเปล่าบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของทางราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
อับดุลรอนิง ถูกจับกุมที่หน้า สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่มีการปะทะกันระหว่างชายฉกรรจ์กับเจ้าหน้าที่ เขาต่อสู้คดีว่าไม่รู้เรื่องการโจมตีโรงพัก แต่ได้รับการว่าจ้างให้ขับรถไปส่งคนกรีดยาง จึงติดเข้าไปในกลุ่มด้วย แต่ศาลไม่ฟัง และเขาถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
อิสรภาพของอับดุลรอนิงหมดสิ้นไปตั้งแต่ปี 2547 เขาถูกคุมขังอย่างยาวนานที่เรือนจำบางขวาง กระทั่งล่าสุดได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จากการประสานงานช่วยเหลือของ ศอ.บต.และกรมราชทัณฑ์
คอรีเยาะ เป็นลูกคนที่สองของอับดุลรอนิงกับสีตีนอร์ กำลังเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนประทีปธรรมวิทยา อ.ยะหา จ.ยะลา เธออาศัยอยู่กับยายวัยเลย 70 และต้องดูแลยายไปด้วย ขณะที่แม่ของเธอ สีตีนอร์ ดูแลลูกคนเล็กและกรีดยางที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านของอับดุลรอนิง
เกือบสิบปีที่ผ่านมาชีวิตของคอรีเยาะมีแต่แม่และยาย เพราะพ่อของเธอจากครอบครัวไปตั้งแต่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.3 เธอจำเหตุการณ์ตอนนั้นได้แม่นยำ
"แม่บอกว่าเดี๋ยวพ่อก็กลับมา แต่พ่อก็ไม่เคยได้กลับมาหาพวกเราอีกเลย อุสตาซที่โรงเรียนก็ถาม หนูก็บอกเขาไปว่าพ่อจะกลับวันพรุ่งนี้ตามประสาเด็ก เกือบสิบปีมันนานมากกับการขาดพ่อ แต่ก็เริ่มชิน แม่ก็ดูแลดีแต่ขาดความสุขที่ไม่มีพ่ออยู่ใกล้ ถ้าได้อยู่ด้วยกันเหมือนเดิมน่าจะดีกว่า จะสุขทุกข์อย่างไรก็ได้เห็นหน้า พูดคุยกัน ถึงเราจะจนเราก็อยู่กันได้"
"สิบปีที่ผ่านมาเคยไปเยี่ยมพ่อไม่กี่ครั้งเพราะไม่มีเงินค่าเดินทาง แต่ระยะหลังมี ศอ.บต.และกาชาดสากลอุปถัมภ์ ทำให้ได้ไปเยี่ยม พ่อก็ให้กำลังใจ ให้ตั้งใจเรียน อย่าเกเร การขาดพ่อไปทำให้มีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้ ไม่เคยคิดเกเรทำให้พ่อแม่เสียใจ เมื่อก่อนอยากเรียนศาสนาอย่างเดียว แต่ตอนนี้คิดว่าอยากเรียนด้านกฎหมายอิสลาม เพราะนำไปใช้ได้หลายอย่าง และถ้าได้เรียนใน ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ก็จะได้มาอยู่ใกล้แม่ อยากทำงานไปด้วยจะได้ช่วยแม่และน้องๆ"
ที่ผ่านมาคอรีเยาะได้รับทุนการศึกษาในช่วงชั้นมัธยมปีละ 10,000 บาท และได้รับทุนการศึกษาของบ้านอาสาฯมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก 2,000 บาท ครั้งที่สอง 5,000 บาท แม้จำนวนเงินจะน้อยนิด แต่ก็ช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนของเธอได้เป็นอย่างดี การด้รับทุนการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ทำให้เธอมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น เธอหวังว่าจะมีโอกาสได้เล่าเรียนจนจบถึงปริญญาตรี
เยาวชนด้อยโอกาสและขาดการเหลียวแลจากหน่วยงานของรัฐยังมีอีกมากมายในดินแดนแห่งนี้ การสูญเสียเสาหลักของครอบครัวทำให้ชีวิตของพวกเขาและเธอต้องเปลี่ยนแปลงไป การหยิบยื่นความช่วยเหลือและดูแลกันจะลดอุณหภูมิความขัดแย้งในพื้นที่นี้ได้ และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติสุขดังที่ทุกคนปรารถนา
9 ปีตากใบกับงานวันเด็กกำพร้าที่นราฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ขาดเสาหลักจากการที่หัวหน้าครอบครัวถูกจับกุมคุมขังแล้ว ยังมีเด็กๆ อีกมากมายที่ชายแดนใต้ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเพราะสถานการณ์ความรุนแรง
ประมาณกันว่าจำนวนเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อหรือแม่ไปในทุกศาสนิก และยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน น่าจะเกิน 2 พันคนไปแล้วตลอดเกือบสิบปีที่ไฟใต้คุโชน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ศอ.บต.จึงจัดงานวันเด็กกำพร้า "รวมหนึ่งเดียวเพื่อสร้างอนาคต" หรือ BERSATU DEMI MASA DEPAN TERBINA พร้อมกำหนดให้วันที่ 25 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันเด็กกำพร้าชายแดนใต้
งาน "รวมหนึ่งเดียวเพื่อสร้างอนาคต" จัดขึ้นที่หอประชุมเฉลิมพระเกียติ 7 รอบพระชนมพรรษา ข้างศาลากลางจังหวัดนราธิวาสหลังใหม่ อ.เมืองนราธิวาส โดย ศอ.บต.ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส มีผู้สูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบ ประชาชนทั่วไป และผู้นำศาสนาในพื้นที่ จ.นราธิวาส เข้าร่วมงานกว่า 2,200 คน มีการมอบทุนการศึกษาให้เด็กกำพร้ารวม 92 ทุน ทุนละ 5,000 บาท
กิจกรรมดังกล่าวนี้ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมงาน ยังมุ่งให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547) ในวาระครบรอบ 9 ปีตากใบด้วย
ช่วงหนึ่งของงาน ลูกหลานของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบได้ร่วมกันร้องอนาซีด บอกเล่าถึงโชคชะตาของลูกกำพร้าที่ต้องสูญเสียพ่อและแม่ไปเหลือแต่ความโศกเศร้า และขอให้อัลลอฮ์โปรดให้ที่พำนักในสรวงสรรค์แก่พ่อและแม่ของพวกเขาด้วย
อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องความปลอดภัย
น.ส.วิภาดา พรมศรี ซึ่งต้องกลายเป็นกำพร้าเนื่องจากบิดาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2548 บอกว่า ดีใจมากที่มีการจัดงานวันเด็กกำพร้า ถือว่าวันนี้เป็นปีแรกที่ทุกคนจะได้มีวันเด็กกำพร้า และต่อไปก็จะมีการจัดงานลักษณะนี้ทุกปี
วิภาดา เล่าว่า ครอบครัวของเธอเคยอยู่กันพร้อมหน้าที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่แล้วพ่อของเธอก็ถูกยิงพร้อมกับแม่ หลังเกิดเหตุทางการได้พาพวกเธอไปอาศัยอยู่ที่บ้านรอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างใน สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น
"หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการศึกษาและดูแลความปลอดภัยในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนอย่างดีที่สุด"
ช่วยงานทุกอย่างให้แม่หายเหนื่อย
ด.ญ.เกษแก้ว สังข์ทอง ซึ่งพ่อของเธอถูกยิงและเผาในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส บอกว่า รู้สึกดีใจมากเพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับทุนการศึกษา แม้เงินจะไม่มากแต่ก็สามารถช่วยแม่ได้เป็นเดือน
"ที่ผ่านมาสงสารแม่ที่ตเองทำงานคนเดียว หนูก็พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่จะทำได้ วันเสาร์-อาทิตย์ก็จะไปช่วยแม่กรีดยาง หลังเลิกเรียนก็ช่วยแม่ล้างจาน ทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยแม่ให้หายเหนื่อย ทุนการศึกษาที่ได้รับในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน จะเอาไปให้แม่เก็บไว้ใช้จ่ายและเป็นทุนการศึกษาต่อไป"
เสียใจถูกเพื่อนล้อ...เด็กกำพร้า
ด.ญ.ภัทรานิษฐ ศรีรอด สูญเสียพ่อตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ ปัจจุบันเธออายุ 12 ปี บอกว่า ดีใจที่เด็กกำพร้าของนราธิวาสมีวันของตัวเอง แต่ถ้าถามความรู้สึกของการเป็นเด็กกำพร้า ต้องบอกว่าเฉยๆ เพราะคำว่าเด็กกำพร้าเป็นแค่ในนามเท่านั้น ในความเป็นจริงไม่ได้รู้สึกว่าขาดเลย เพราะแม่ได้แต่งเติมสิ่งที่ขาดให้ได้ทั้งหมด
"แม่จะทำหน้าที่เป็นพ่อในบ้างช่วง และจะทำหน้าที่เป็นแม่ในบางโอกาส ก็เลยทำให้รู้สึกเฉยกับคำว่าเด็กกำพร้า และแทบจะลืมด้วยซ้ำว่าตัวเองขาดพ่อ หรือตัวเองเป็นเด็กกำพร้า ถ้าเพื่อนที่โรงเรียนไม่ล้อเลียนว่า ตัวเองไม่มีพ่อ หรือพ่อถูกยิง ก็จะไม่สะกิดใจ แต่ตลอดมาก็มีเพื่อนที่ดีและแม่คอยปลอบใจจึงทำให้รู้สึกดีขึ้นบ้างเมื่อถูกล้อว่าเป็นเด็กกำพร้า"
เหยื่อตากใบอยากให้รัฐสนใจทุกเหตุการณ์
น.ส.รอซีดะ อาแว ผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียพ่อในเหตุการณ์ตากใบ บอกว่า "แม่ลำบากมากช่วงที่พ่อเสียชีวิต แต่ตอนนี้หลังจากได้รับเงินเยียวยาก็ทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดีใจที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับพวกเรา และอยากให้เป็นแบบนี้ตลอดไป"
ขณะที่ นางใบดะ กูรอมัน ซึ่งสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า เธอรู้สึกสูญเสียเหมือนคนอื่นๆ อยากให้รัฐให้ความสนใจช่วยเหลือเด็กกำพร้าและครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์เล็กๆ ด้วย ไม่ใช่สนใจเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ๆ เพราะเด็กพวกนั้นก็สูญเสียเหมือนกัน
โอไอซีมอบเสื้อผ้าเด็กกำพร้า-อดีตผู้การยะลาแจกรองเท้า
ปัญหาเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสจากความรุนแรงที่ชายแดนใต้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา Mr.Tahir Saif เลขานุการของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี เดินทางเยือนไทยและลงพื้นที่ปลายด้ามขวานเนื่องในวันฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1434 ก็ยังไปร่วมกิจกรรมมอบเสื้อผ้าให้เด็กกำพร้าและเด็กยากไร้ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา
ส่วนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ก่อนที่ พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง จะย้ายจากตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) ก็ได้จัดกิจกรรมมอบรองเท้าให้แก่เด็กนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบของสถานตำรวจภูธร 11 สถานีของ จ.ยะลา ตามโครงการ "ลุยโคลนเปื้อนยิ้มอิ่มใจ" จำนวนรองเท้า 1,744 คู่ โดยเน้นเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยรองเท้าทั้งหมดได้มาจากการระดมทุนของตนเองและผู้มีจิตศรัทธา
กิจกรรมและเรื่องราวดีๆ แบบนี้น่าจะทำให้ท้องฟ้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สดใสกว่าที่เคย...
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ได้รับทุนจากบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี
2 รุสมีนี สาและ (ขวา)
3 คอรีเยาะ เจ๊ะเลาะ
4 งานวันเด็กกำพร้าที่ จ.นราธิวาส
5-6 กิจกรรมแจกรองเท้าให้กับเด็กๆ ในโครงการ "ลุยโคลนเปื้อนยิ้มอิ่มใจ"