เปิดเงินช่วยเหลือจนท. “ทหาร-ตำรวจ” เหยื่อไฟใต้ ได้มากสุดกว่า 2.2 ล้านบาท
เปิดเงินช่วยเหลือจนท. “ทหาร-ตำรวจ” เหยื่อไฟใต้ ได้มากสุดกว่า 2.2 ล้านบาท เลื่อนยศได้ไม่เกิน 2 ชั้นตรา เผยจำนวนเสียชีวิตตั้งแต่ 2547 ถึง กรกฏาคม 2556 ทหารเสียชีวิต 518 นาย ตำรวจ สังเวย 297 ราย
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการมาตรการดูแล “ทหารไทย” ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีความคุ้มค่าหรือเหมาะสมเพียงใด สำหรับผู้ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไทยไว้
เพราะทุกฝีก้าวเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะสูญเสีย “ชีวิต” อันเป็นที่รัก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวมข้อมูลมานำเสนอ เพื่อตอบคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ได้เผยแพร่การตั้งกระทู้ถามของนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เรื่องข้าราชการทหาร ตำรวจ บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด และขอทราบจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และได้มีการปูนบำเหน็จข้าราชการอย่างไร
โดยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีจำนวนทหารที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตดังนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย เสียชีวิต 2 นาย กองทัพบก บาดเจ็บ ทุพพลภาพ 126 นาย เสียชีวิต 421 นาย กองทัพเรือ บาดเจ็บ ทุพพลภาพ 404 นาย เสียชีวิต 86 นาย กองทัพอากาศ เสียชีวิต 9 นาย รวมทั้งหมดบาดเจ็บทุพพลภาพ 530 นาย เสียชีวิต 518 นาย
โดยข้าราชการที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ได้รับการพิจารณาปูนบำเหน็จพิเศษตามพฤติกรรมในแต่ละเหตุการณ์ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม โดยเลื่อนชั้นเงินเดือนตามพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุให้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
และเลื่อนยศตามชั้นเงินเดือนที่ได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษ พร้อมทั้งขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยเสนอขอได้ไม่เกิน ๒ ชั้นตรา จากที่เคยได้รับพระราชทานครั้งสุดท้าย แต่ไม่ต่ำกว่าชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บยังได้รับเงินบำรุงขวัญจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง
ส่วนระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินค่าสินไหมทดแทนจากการประกันชีวิตสำหรับ กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ทำประกันชีวิตพิทักษ์พลกระทรวงกลาโหมกับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (500,000 บาท)
นอกจากนี้สิทธิกำลังพลที่เสียชีวิตหรือปลดพิการทุพพลภาพ ซึ่งเนื่องจากปฏิบัติราชการในการป้องกันอธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งข้าราชการทุกเหล่าทัพ ได้รับการเยียวยา จะได้รับเงินนอกเหนือดังนี้
1.เงินบำรุงขวัญ ๓๐,๐๐๐ บาท
2.เงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทย ๓๐,๐๐๐ บาท
3.เงินค่าสินไหมทดแทนประเภท “ภัยสงคราม” เงินประกันชีวิตหรือเงินสงเคราะห์
- นายทหารชั้นสัญญาบัตร ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
- นายทหารชั้นประทวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
- นายทหารชั้นประทวน (กองทัพเรือ) ๖๐๐,๐๐๐ บาท
- พลทหาร ๓๐๐,๐๐๐ บาท
4.เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพจากการก่อความไม่สงบ (โครงการเยียวยาของรัฐบาล ปี ๒๕๔๘) ๕๐๐,๐๐๐ บาท
5. เงินสงเคราะห์เพื่อการสู้รบ นายทหารชั้นสัญญาบัตร ๑๕๐,๐๐๐ บาท นายทหารชั้นประทวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และพลทหาร ๑๐๐,๐๐๐ บาท
6.เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ (องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก) ๗,๐๐๐ บาท
รวมทั้งหมดได้มากสุดกว่า 2,267,000 บาท
การขอพระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ
- เลื่อนชั้นเงินเดือนเท่าชั้นยศใดให้ขอพระราชทานชั้นยศนั้น ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ
- เลื่อนได้ไม่เกิน ๒ ชั้นตรา ขอพระราชทานเหรียญกล้าหาญและเหรียญชัยสมรภูมิ
- พิจารณาพฤติกรรมของผู้เสียชีวิต ขอเครื่องหมายเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติราชการเพื่อชาติ “เหรียญบางระจัน”
- พิจารณาตามพฤติกรรม ในส่วนแนวการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของข้าราชการทหารที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในแต่ละเหล่าทัพได้ให้ความช่วยเหลือในการรับสมาชิกในครอบครัวของข้าราชการเหล่านั้น
สำหรับกรณีข้าราชการตำรวจ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทราบว่า สถานภาพการสูญเสียกำลังพลของสตช. นับแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2556 มีดังนี้ เสียชีวิต จำนวนรวม 297 ราย บาดเจ็บ ทุพพลภาพ 1,325 ราย ได้รับการปูนบำเหน็จแล้ว 1,350 ราย
ภาพจาก www.banmuang.co.th