คุกตลอดชีวิต "รอสดี มะยามา" ร่วมขบวนปล้นปืนค่ายปิเหล็ง
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดี "รอสดี มะยามา" ตัดต้นไม้ขวางถนนวันปล้นปืนค่ายปิเหล็ง โทษสูงสุดประหารชีวิต แต่จำเลยสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกตลอดชีวิต พบอัยการบรรยายฟ้องเป็นสมาชิก "กลุ่มเมืองหนึ่ง" เป้าหมายแยกดินแดน 3 จังหวัดใต้ สตูล และ อ.สะเดา กับสะบ้าย้อย จ.สงขลา!
วันศุกร์ที่ 15 พ.ย.2556 ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1450/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายรอสดี มะยามา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ จ.นราธิวาส เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ปล้นทรัพย์หรือรับของโจร จากการร่วมปฏิบัติการปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2551 สรุปคำฟ้องได้ว่า ก่อนเกิดเหตุหลายปีมาแล้ว (ก่อนเกิดเหตุปล้นปืน) จำเลยกับพวกอีกหลายคนเป็นสมาชิกของ "กลุ่มเมืองหนึ่ง" โดยมีจำเลยเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ออกจากการปกครองของรัฐบาลประเทศไทย ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่า "รัฐปัตตานี" หรือ "รัฐปัตตานีดารุสลาม" โดยมีแผนการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง สะสมกำลังพลและอาวุธ ทำการโฆษณาชวนเชื่อ ยุยง และปลุกระดมราษฎรให้หลงเชื่อ เกิดความรู้สึกเกลียดชังข้าราชการและรัฐบาลไทย สร้างแนวคิดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมตามโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนอื่นๆ ก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของรัฐและเอกชน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เหตุเกิดที่ทุกตำบลและอำเภอใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เกี่ยวพันกัน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2552 ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 113 (3), 114, 135/1 วรรคสอง, 135/2, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 212(2) (3), 213 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งการกระทำของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 113 (3) ฐานเป็นกบฏ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิต แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงให้จำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2554 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและเป็นอั้งยี่ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเป็นทหารตำแหน่งหัวหน้าส่วนปฏิบัติการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2551 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้ส่งตัวจำเลยไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ เพื่อให้พยานซักถามจำเลย โดยจำเลยรับว่าเป็นสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยการชักชวนจาก นายมะซูกี เซ็ง และได้รับมอบหมายให้จำเลยทำหน้าที่ร่วมกับกลุ่มสมาชิกปล้นอาวุธปืน ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส โดยได้วางแผนตัดต้นไม้เพื่อขวางเส้นทางจราจร เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อหากับจำเลยในชั้นสอบสวนและทำการสอบสวนจำเลยถึง 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด ส่วนที่จำเลยนำสืบว่ามีการข่มขู่และทำร้ายทำให้จำเลยต้องยอมรับสารภาพนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้ประหารชีวิตจำเลยฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและเป็นอั้งยี่ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ข่าวจากสำนักข่าวเนชั่น
2 ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต