60 วัน จาก “เขาพนม” ถึงสังคม วันที่การเยียวยายังมาไม่ถึง
2 เดือนเศษของเหตุการณ์พิบัติภัยถล่มภาคใต้ ภาพความรุนแรงค่อยๆเลือนไปตามกระเส ขณะที่ในพื้นที่จริงชาวบ้านยังคงทนทุกข์ เพราะการช่วยเหลือเยียวยายังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไม่ถึง…หรือเพราะอะไร???
ย้อนไปเมื่อ 29 มี.ค. วันที่ 9 จังหวัดภาคใต้ต้องเผชิญกับ พายุฝนกระหน่ำติดต่อกันยาวนานถึง 4 วัน นับเป็นปริมาณมากเท่ากับฝนตก 1 ปี เกิดเหตุน้ำท่วม ดินโคลนภูเขาถล่ม เขื่อนพัง บ้านเรือนเสียหายกว่า 1,200 หลังคาเรือน พื้นที่เลือกสวนไร่นาพังยับถึง 1.3 ล้านไร่ ชาวบ้านบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
เฉพาะที่ อ.เขาพนม จ.กระบี่ โดยข้อมูลจากจังหวัดรายงานบ้านเรือนเสียหาย 166 หลังคาเรือน แยกเป็นบ้านพังทั้งหลัง 76 หลังคาเรือน และบ้านที่ยังไม่พังแต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอีก 90 หลังคาเรือน มีชาวบ้านเดือดร้อน และเสียชีวิตกว่า 60 ราย
เสียงจากพื้นที่ “ยังไร้บ้าน” ขาดการเหลียวแล
หลังพายุสงบถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือน ที่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องใส่เกียร์เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภาพที่ปรากฏจากสื่อต่างๆ เริ่มบางตา จน (เกือบ) “วางใจ” ได้ว่าเหตุการณ์คลี่คลายหรืออาจคืนสู่ปกติ
แต่ดูเหมือนจะขัดกับ “ความจริง” ในพื้นที่ ซึ่ง ทวีศักดิ์ ศรีมุข คณะกรรมการเครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม ที่ก่อตัวขึ้นจากกลุ่มอาสาในจ.กระบี่และองค์กรต่างๆ ที่มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติ สะท้อนว่า ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจากราชการก็จริง แต่ยังไม่เต็มที่เท่าไรนัก ที่หนักหนาที่สุดคือระบบน้ำที่ยังใช้การไม่ได้ ส่วนที่อยู่อาศัยแทบไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้บางคนยังหลักลอยแม้กระเบื้องสักแผ่นหรือเสาสักต้นก็ไม่ยังไม่เห็น
ทวีศักดิ์ เล่าว่า อย่างที่บ้านห้วยเนียง ตอนนี้มีบ้านพักชั่วคราว 19 หลัง แต่มีผู้เดือดร้อนกว่า 40 ครัวเรือน ชาวบ้านอยู่กันอย่างแออัด แต่ก็ยังดีกว่าอีกหลายหมู่บ้านที่นอกจากจะไม่มีบ้านพักชั่วคราวแล้ว บ้านถาวรที่ราชการจะสร้างให้ก็ไม่ได้เห็นเค้าโครง อยู่แบบหลักลอยต้องอาศัยเพื่อนบ้านหรือบ้านญาติหลับนอนมากว่า 2 เดือนแล้ว
สร้างเงื่อนไขบีบชาวบ้านทุบบ้านตัวเองยืนยันได้จากน้ำเสียงสั่นเครือของ วรรณี ทิพย์กุล ผู้ประสบภัยชาวห้วยน้ำแก้ว ซึ่งเล่าพร้อมชี้สภาพอดีต “บ้าน” ที่บัดนี้กลายเป็นเพียงซากบนกองดินโคลนถล่มว่า ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ด้วยกัน 7 คน เหตุการณ์วันนั้นทำให้ต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปถึง 3 ชีวิต ได้เงินค่าทำศพจากรัฐบาลตามเกณฑ์การช่วยเหลือ
“ส่วนบ้านจะชดเชยให้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องย้ายออกจากที่เดิมเพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เราได้เงินจากรัฐบาล (คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน) มา 42,000 บาท ก็เอาไปหาซื้อที่ดิน ไม่พอก็หากู้มาเพิ่ม”
เพราะเงื่อนไขที่ทางจังหวัดตั้งไว้คือ ตราบใดที่ไม่ทุบบ้านเก่า ก็ไม่มีทางได้บ้านใหม่
ถีงกระนั้น วรรณี ยอมแลกด้วยเหตุผลว่า “ชีวิตนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ไม่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ต้องการเงินทอง ขอแค่มีบ้าน มีที่อยู่ที่ปลอดภัย ให้ชีวิตของคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้า ไม่ต้องระหกระเหินไปอยู่คนละทิศละทาง ไปอยู่ในบ้านที่ไม่ใช่บ้านของเรา”
แต่จนถึงขณะนี้ ที่ดินดังกล่าวยังคงปล่อยว่าง ไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานรัฐ แม้ วรรณี จะบอกว่า ได้แจ้งผ่านไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือยอมกระทั่งเสียค่าเดินทางเข้าไปแจ้งด้วยตัวเองที่ว่าการอำเภอ ก็ยังไร้เงา เธอและลูกๆ ยังคงอาศัยอยู่ที่สถานีอนามัยซึ่งมีญาติประจำการอยู่เช่นเดิมกว่า 2 เดือนแล้ว
เช่นเดียวกับ สมหมาย พวงเจริญ ผู้ประสบภัยชาวบ้านต้นหาร เธอเล่าว่า เสียเงินกว่า 60,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินสร้างบ้านใหม่ ตามเงื่อนไขที่ทางราชการ (เพิ่มเติม) ว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะต้องลงลายมือชื่อยินยอมรื้อถอนบ้านเก่าทันที ราชการจรึงจะสร้างบ้านใหม่ให้ โดยจะต้องจัดหาที่ดินเอง
และเหตุที่ระบุว่าเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้ทางราชการไม่ได้แจ้งให้ทราบ บอกเพียงว่าพื้นที่ใดเสี่ยงภัยควรย้ายออกเสียเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อีก
“นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมราชการจึงใช้ข้ออ้างจากผู้ที่ตกลงเซ็นชื่อมาบีบบังคับพวกเราเหลือเกิน เพราะมีคนจำนวนมากที่เขาไม่รู้ แต่เราไม่ยอม เรายอมเสียเงินฟรี อยู่อย่างหวาดผวา ฝนตกทีไรต้องขนข้าวขนของ ถามว่าจริงๆก็ไม่ได้อยากอยู่แบบนี้ แต่ทางการไม่เปิดโอกาสให้ต่อรองเลย”
สมหมาย บอกว่า ชาวบ้านพยายามหารือกับจังหวัด ขออนุโลมว่าให้เก็บบ้านหลังเก่าไว้ ถึงอยู่ไม่ได้แต่อย่างน้อยก็ยังเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ หรือผลผลิตการเกษตรได้ เพราะบ้านส่วนใหญ่ก็อยู่ใกล้สวนปาล์มสวนยางที่เคยทำมาหากิน แต่ราชการคิดแค่ว่า “ชาวบ้านอยากได้บ้านสองหลัง”
“กว่าจะได้กระเบื้องแต่ละแผ่น แลกมากับหยาดเหงื่อแรงกาย บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยแต่มันคือความภูมิใจ แล้วจู่ๆ ให้ทุบทิ้งต่อหน้าต่อตา มันยากเกินไปที่จะทำใจได้หรือเปล่า ” สมหมาย บอกความรู้สึกของเธอ พร้อมให้เหตุผลที่ชาวบ้านคัดค้านว่า
ส่วนหนึ่งเพราะไม่มั่นใจว่าจะถูกยึดที่ดินไปเป็นไปโครงการสวนป่า ซึ่งทราบมาว่าทางราชการได้ของบประมาณเร่งด่วนจัดทำแนวเขตป้องกันการบุกรุกป่าราชินีท้องที่ อ.เขาพนม จ.กระบี่ โดยตั้งเป้ายึดคืนพื้นที่ให้ได้ 1,500 ไร่
ทั้งนี้ ตัวเลขสรุปการสร้างบ้านจากทางจังหวัด ระบุว่าเริ่มมีการสร้างบ้านกลุ่มแรก เมื่อวันที่ 9 พ.ค. จำนวน 65 หลัง (แบ่งเป็นบ้านข่าวสาม 50 หลัง บ้านสภากาชาด 15 หลัง) แต่มีการระงับสร้างบ้านของกลุ่มแรกไว้กลางคัน (เบื้องต้นอย่างน้อย 11 หลัง) และในนี้มี 6 หลังที่ขึ้นหลังคาไว้แล้วแต่หยุดชะงักไว้ ด้วยเหตุผลตามเงื่อนไขข้างต้น
วอนรัฐจัดการระบบสาธารณูปโภค อย่าดีแต่พูด
และไม่เพียงปัญหาที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่ผู้ประสบภัยเขาพนมยังต้องเผชิญ เพราะแทบจะทุกหมู่บ้านวันนี้ยังคงใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่เจือไปด้วยดินโคลนเข้มข้น ฝนตกซ้ำเมื่อใดแทบจะตักกินตักอาบไม่ได้ ต้องเสียเงินซื้อน้ำครั้งละ 250 บาท ต่อ 1,500 ลิตร แม้ใช้อย่างประหยัดที่สุดก็ได้เพียง 3-4 วัน
“แล้วคนหาเช้ากินค่ำ ได้เงินวันละร้อยกว่าบาททั้งนั้น” วรรณี ทองแท่ง อีกหนึ่งผู้ประสบภัยบ้านหนองหาร บอกและเล่าต่อว่า นอกจากระบบสาธารณูปโภค ชาวบ้านยังเดือดร้อนเรื่องทำมาหากิน เพราะสวนปาล์มสวนยางถูกน้ำพัดเสียหาย เส้นทางถูกตัดขาดหลายจุด โดยเฉพาะจุดที่ห่างไกล วันนี้ยังมีซากไม้ ก้อนหินขวางอยู่ อย่างเธอต้องเดินเท้ากว่า 4 กิโลเมตรขึ้นไปทำสวนยางบนเขา ลูกเด็กเล็กแดงจะไปโรงเรียนต้องเดินกันเป็นชั่วโมงๆ
“พูดแบบนี้ไม่ได้ว่าราชการจะไม่ดูดำดูดี เพราะมีเจ้าหน้าที่มาดูเรื่อยๆ เห็นขนเครื่องมือมาสำรวจเต็มไม้เต็มมือ แต่ก็แค่ดูเท่านั้น” วรรณี พูดเจือหัวเราะ
แต่ใช่ว่าชาวบ้านจะเอาชีวิตไปเสี่ยงไว้กับก้อนหินที่พร้อมจะกลิ้งลงจากเขา..
เลิกพึ่งรัฐ -ยืนด้วยขาของชุมชน
ยินดี ศรีสุวรรณ์ ชาวหมู่บ้านคลองแห้ง หนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัย เล่าว่า กว่า 24 ครัวเรือนได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากทางราชการทั้งหมด แต่ไม่มีเลยแม้แต่คนเดียวที่ยอมทิ้งสิ่งที่ปู่ย่าตายายสร้างมากับมือ เมื่อบวกกับพื้นที่ปลอดภัยในความหมายของราชการ ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยเหลือเกินที่จะจับจองเป็นเจ้าของได้
“ไม่ว่าจะด้วยความลึกของหมู่บ้านและระยะทางจากที่ทำกิน เงินหมื่นเงินแสนที่ต้องเอามาแลก เท่านี้หมดหนทางที่ชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำอย่างลุงแล้ว เราไม่เท่าไหร่ แก่แล้วไม่นานก็ตาย แต่ลูกหลานยังเสี่ยง”
จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชาวคลองแห้งพยายามลุกขึ้นยืนด้วยขาของตนเอง โดยประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายต่างๆ จนในที่สุดป่าไม้จังหวัดยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่สร้างเป็นบ้านพักชั่วคราว ชาวบ้านระดมทุนหาไม้มาสร้าง ใช้แรงงานหลังเลิกงานมาช่วยกัน ตอนนี้ได้โครงบ้านเงินมาหมดเสียก่อน ถึงกระนั้นก็ไม่ย่อท้อ ค่อยๆ พยายามทำไป
ด้วยความเชื่อว่าแม้ว่าบ้านพักชั่วคราวหลังนี้จะถูกกำหนดในสัญญาของกรมป่าไม้ ให้อยู่อาศัยได้เพียง 1 ปี แต่ชาวบ้านก็ยินยอม ดีเสียกว่าต้องเสียบ้านของตัวเองไปทั้งหลัง
เพราะหวังไว้ว่ากว่าจะถึงเวลานั้น ราชการคงจะหาทางเลือกที่ดีกว่าให้ชาวบ้านได้แล้ว...