เปิดเม็ดเงิน “กองทัพ-ตำรวจ”ใช้สลายม็อบเสื้อแดงปี 53 เฉียด 3 พันล้าน
เปิดงบประมาณ “กองทัพ-ตำรวจ” เบิกเงินคุมม็อบช่วงปี 53 เกือบ “3 พันล้าน” – ทัพบกเบิกมากสุดกว่า 2 พันล้าน ทัพเรือ 80 ล้าน ทัพอากาศ 18 ล้าน ตำรวจกว่า 700 ล้าน
หลายคนอาจสงสัยว่า “งบประมาณ” ที่ “กองทัพ” และตำรวจ ใช้ในการป้องปราบการชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงเดือนมีนาคม ลากยาวมาจนถึงพฤษภาคม ปี 2553 นั้น เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบเรื่องนี้มานำเสนอ
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ได้เผยแพร่การตั้งกระทู้ถามของ นายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย เรื่อง การปราบปรามผู้มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการใช้จ่ายงบประมาณในการป้องปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553 โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบกระทู้ แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้ระบุถึงการเบิกงบประมาณ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อใช้ในป้องปราบการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 15 กรกฎาคม 2553
แบ่งได้ดังนี้
กองทัพบก
ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อปฏิบัติภารกิจให้กับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2553 ก่อนจะมีการประกาศ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551) เป็นเงินจำนวน 142,498,594 บาท
ประกอบด้วย
1.ค่าตอบแทนและค่าอาหารแบบเหมาจ่าย จำนวน 136,628,760 บาท
2.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 5,869,834 บาท
ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 แต่ยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ศูนย์อำนวยการรักษาความเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจให้กับกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม – 7 เมษายน 2553 เป็นเงินจำนวน 484,404,225 บาท
ประกอบด้วย
1.ค่าตอบแทนและค่าอาหารเหมาจ่าย จำนวน 394,885,031 บาท
2.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 43,428,680 บาท
3.งบปฏิบัติการ/งบบริหาร
(งบการข่าว การปฏิบัติการ การเช่ารถเครื่องขยายเสียง) จำนวน 19,199,500 บาท
4.การจัดหาวัสดุสนับสนุนการปฏิบัติงานและทดแทนการรองจ่าย
(จัดหาแบตเตอรี่แห้ง ยาและเวชภัณฑ์ เสบียงสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย
ที่จำเป็น การปรับปรุงอาคารสถานที่รองรับการปฏิบัติภารกิจ) จำนวน 26,891,014 บาท
ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี จ.หนองบัวลำภู จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.นครสวรรค์ และ จ.น่าน ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน – 25 พฤษภาคม 2553 เป็นเงินจำนวน 1,442,662,407 บาท
ประกอบด้วย
1.ค่าตอบแทนและค่าอาหารเหมาจ่าย จำนวน 923,366,120 บาท
2.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 105,026,809 บาท
3.งบปฏิบัติการ/งบบริหาร
(งบการข่าว การปฏิบัติการ การเช่ารถเครื่องขยายเสียง) จำนวน 94,007,758 บาท
4.การจัดหาวัสดุสนับสนุนการปฏิบัติงานและทดแทนการรองจ่าย
(จัดหาแบตเตอรี่แห้ง ยาและเวชภัณฑ์ เสบียงสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย
ที่จำเป็น เครื่องกีดขวาง วัสดุจัดตั้งด่าน ชุมปฐมพยาบาลฉุกเฉิน
กระสุนลูกซองยาง แก๊สน้ำตา การปรับปรุงอาคารสถานที่รองรับการปฏิบัติ
ภารกิจ และการซ่อมแซมยานพาหนะที่เสียหายจากการปฏิบัติภารกิจ) จำนวน 320,261,720 บาท
รวมแล้วกองทัพบกใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,069,565,226 บาท
กองทัพเรือ
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) จัดกำลังรักษาความสงบร่วมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) รักษาความปลอดภัยบริเวณโรงพยาบาลศิริราช แม่น้ำเจ้าพระยา และสนับสนุนการดำเนินการของ ศอฉ. ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม – 15 กรกฎาคม 2553 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 76,311,840 บาท
ประกอบด้วย
ค่าตอบแทน ค่าอาหาร ค่าจัดซื้อสิ่งอุปกรณ์ ค่าน้ำมัน ค่าบริหารหน่วย จำนวน 76,311,840 บาท
กองทัพอากาศ
การปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยของกองทัพอากาศ ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากรัฐบาลผ่าน ศอ.รส. และ ศอฉ. เนื่องจากเป็นภารกิจพิเศษที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ในแผนงานประจำปี ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18,731,513.19 บาท
ประกอบด้วย
1.ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง หล่อลื่น และค่าพัสดุ/อะไหล่อากาศยาน จำนวน 6,923,960.09 บาท
2.ค่าอาหารประกอบเลี้ยงและค่าอาภรณ์ จำนวน 9,119,675 บาท
3.ค่าวัสดุสนับสนุนการปฏิบัติการ จำนวน 2,687,878.10 บาท
ตำรวจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการจัดสรรและใช้จ่ายเงินงบประมาณตลอดระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจนสิ้นสุดสถานการณ์ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 768,155,839.34 บาท
ประกอบด้วย
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการบริหาร จำนวน 768,155,839.34 บาท
เมื่อนับรวมจำนวนเม็ดเงินทั้งสิ้นที่ถูกใช้ไปกับการป้องปรามการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 จะอยู่ที่ตัวเลขสูงถึง 2,932,764,418.53 บาท
ส่วนตัวเลขการควบคุมการชุมนุมครั้งอื่นๆ รวมถึงการชุมนุมครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น ทั้งที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่อื่นยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด