เจรจาดับไฟใต้ส่อวุ่น - ขวาง "กัสตูรี" ร่วมวง อดีตประธานพูโลจ่อพักโทษ-พ้นคุก
อนาคตของการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ในการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้แล้วก็ตาม
เมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวว่า ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้หารือร่วมกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ถึงกำหนดนัดการพูดคุยครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวๆ ต้นเดือน ธ.ค. เลื่อนจากกำหนดเดิมคือสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค.ออกไปนานพอสมควร
ในการหารือดังกล่าว ดาโต๊ะซัมซามิน ยังแจ้งว่าจะมีตัวแทนจากองค์การพูโลและขบวนการบีไอพีพี เข้าร่วมการพูดคุยครั้งต่อไปด้วย โดย พล.ท.ภราดร ระบุว่าจะมีที่นั่งสำหรับองค์การพูโล 2 ที่นั่ง และบีไอพีพี 1 ที่นั่ง
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า การจัดสรรที่นั่งในส่วนขององค์การพูโลยังไม่ลงตัว เนื่องจากพูโลแตกออกเป็นหลายกลุ่ม โดยกลุ่มที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งแรกๆ คือ "พูโลเก่า" นำโดย นายลุกมัน บิน ลิมา ขณะที่พูโลใหม่หนึ่งในสองกลุ่มที่แยกตัวออกไปจากกลุ่มเก่า นำโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา อ้างกับคณะผู้สื่อข่าวท้องถิ่นชายแดนใต้ในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เขาได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย และมีแนวโน้มว่าเขาจะเข้าร่วมวงพูดคุยด้วยตนเอง
ท่าทีของนายกัสตูรี ไม่ได้รับการยอมรับจากแกนนำกลุ่มพูโลเก่า โดยมีข่าวว่าทางกลุ่มจะมีการหารือเพื่อประกาศท่าทีในเรื่องนี้เร็วๆ นี้
มีข่าวว่าการดึงนายกัสตูรีเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นความต้องการของทางการไทยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีการส่งคณะเดินทางไปพบปะกับแกนนำกลุ่มพูโลใหม่รายนี้ถึงประเทศสวีเดน ขณะที่พูโล่ใหม่อีกกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ นายซัมซูดิน คาน ยังคงสงวนท่าที
มีรายงานว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ และบางส่วนแสดงตัวเป็น "กลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทย" หรือที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า "จูแว" ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ได้เปิดเฟซบุ๊คชื่อ Patani Voice n Opinion เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
ขณะเดียวกันมีข่าวจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า ทาง ศอ.บต.และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันดำเนินการเรื่อง "พักการลงโทษ" ให้กับนักโทษเด็ดขาดในคดีความมั่นคงจากปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยนักโทษที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษเป็นรายแรกและมีข่าวว่าจะได้รับการปล่อยตัวในเร็วๆ นี้ คือ นักโทษชาย บาบอแมบือโด เบตง อายุ 74 ปี อดีตประธานขบวนการพูโล ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร เมื่อปลายปี 2554
สำหรับหลักเกณฑ์การพักการลงโทษ เป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ โดยการพักการลงโทษ หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด อย่างไรก็ดี การพักการลงโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ อายุของผู้ต้องขังก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของการพักการลงโทษ โดยหากผู้ต้องขังมีอายุเกินกว่า 70 ปี หรือมีอาการป่วยเรื้อรัง ก็อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพิจารณา
สำหรับคุณสมบัติอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เป็นนักโทษเด็ดขาด (ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว) หากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ถ้าเป็นนักโทษชั้นดีมาก ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 หากเป้นนักโทษชั้นดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5
ช่วงระหว่างการคุมประพฤติ จะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อที่กำหนดไว้ หากประพฤติผิดเงื่อนไขจะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย
เงื่อนไข 8 ข้อ ได้แก่ 1.จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก 4.ประกอบอาชีพโดยสุจริต 5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา 6.ห้ามพกพาอาวุธ 7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ 8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
สำหรับปี 2556 นี้ มีผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 1,000 คนที่เข้าข่ายได้รับการพักการลงโทษ และบางรายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เช่น นายชลอ เกิดเทศ หรืออดีต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ซึ่งถูกคุมขังในคดีสังหารสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ อันเป็นคดีสืบเนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ
ส่วนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในปีนี้มีเพียงคนเดียวที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ บาบอแมบือโด เบตง โดยก่อนหน้านี้ ศอ.บต.และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมการดำเนินการย้ายนักโทษเด็ดขาดคดีความมั่นคงกลับไปคุมขังยังเรือนจำตามภูมิลำเนาเดิมของตน เพื่อให้ครอบครัว ญาติพี่น้องสามารถเดินทางไปเยี่ยมได้อย่างสะดวก ลดค่าใช้จ่าย โดยนักโทษเด็ดขาดชุดแรกเฉพาะคดีความมั่นคงจำนวน 2 รายที่ได้ย้ายกลับเรือนจำตามภูมิลำเนาของตน คือ นักโทษชาย สะมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายอิสมาแอล กัดดาฟี อายุ 61 ปี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล กับ นักโทษชาย บาบอแมบือโด เบตง ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางและเรือนจำกลางสงขลาตามลำดับ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บาบอแมบือโด เบตง
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคพรางภาพเพื่อรักษาสิทธิผู้ต้องขังโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา