‘ดร.สิริกร มณีรินทร์’ ชี้ห้องสมุดยุคใหม่ต้องเป็นศูนย์กลางพบปะ-สร้างแรงบันดาลใจได้
สสส.จับมือสอร.ร่วมพัฒนาสติปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ 4 มิติ หวังปลูกฝังค่านิยมเยาวชน-คนไทยมีนิสัยรักการอ่านสู่คนคุณภาพประเทศ ‘ดร.สิริกร มณีรินทร์’ ชี้ไทยจะมีแหล่งเรียนรู้ที่ดีต้องได้รับแรงหนุนจากเอกชน-ท้องถิ่น หวังทลายกำแพงระบบราชการ แปลงโฉมห้องสมุดกศน.ทั่วประเทศใหม่
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ (TK Park) เซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผอ.สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ในฐานะผอ.สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส.และสอร.มีโครงการและกิจกรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยเป็นคนคุณภาพ เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมที่น่าอยู่ โดยสสส.ทำหน้าที่จุดประกาย สานพลัง และประสานความร่วมมือกับกลุ่มบุคคล องค์กร และชุมชนทั่วไป มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม
ผจก.สสส. ยังกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้ คือ 1.กระตุ้นและปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ มีนิสัยรักการอ่าน 2.เข้าใจความหมายของการมีสุขภาวะ และเกิดแรงบันดาลใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี 3.ขยายโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเครือข่ายของสสส.และสอร. รวมถึงคนในชุมชนโดยรอบศูนย์การเรียนรู้ สสส.ได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัย และ 4.ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ เรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
“กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนสื่อเพื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน การนำชุดนิทรรศการหมุนเวียนของศูนย์เรียนรู้ที่สสส.ไปจัดแสดงยัง TK Park ภูมิภาค และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างห้องสมุดสร้างปัญญาและห้องสมุด TK Park” ทพ.กฤษดา กล่าว
ด้านดร.ทัศนัย กล่าวว่า สอร.เป็นหน่วยงานที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย โดยการสร้างต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตในรูปของอุทยานการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุดเด็ก ลานสานฝัน ส่วนกิจกรรมในปี 2557 ที่จะดำเนินงานร่วมกันนั้น จะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงโครงข่ายการทำงาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางสุขภาวะที่กว้างขวาง ซึ่งเชื่อว่าการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สู่สาธารณะ นับว่าเป็นสุขภาวะทางปัญญาที่จะส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน
ทำแหล่งเรียนรู้ให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง
อย่างไรก็ตาม ในเวทียังได้รับเกียรติจากดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ปาฐกถาหัวข้อ ‘แหล่งเรียนรู้ของสังคมไทยในวันพรุ่งนี้’ ด้วยว่า ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่าง ‘เกาหลีใต้’ ที่ถูกจับตามองเป็นเสือเศรษฐกิจของโลกได้ลงทุนพัฒนาแหล่งเรียนรู้เป็นพิพิธภัณฑ์กว่า 100 แห่ง โดย 2 แห่งมีชื่อติดอันดับโลก และห้องสมุดอีกกว่า 100 แห่งเช่นกัน นอกจากนี้ในกรุงโซล เมืองหลวงยังมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เร็วที่สุดในโลก และไม่มีทีท่าที่เกาหลีใต้จะหยุดยั้งการพัฒนาระบบความเร็วดังกล่าว
ขณะที่ ‘สิงคโปร์’ ที่มีประชากรเพียง 5-6 ล้านคน ได้วางอนาคตประเทศที่จะให้ประชากรมีขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทำให้เป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ โดยริเริ่มตั้งคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติ วางวิสัยทัศน์ที่จะใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งการอ่านตลอดชีวิต พร้อมสร้างจินตนาการและสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหอสมุดแห่งชาติ 1 แห่ง ห้องสมุดประชาชน 26 แห่ง ที่สำคัญ เร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กเล็กที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
“โลกวันนี้ไม่หยุดนิ่ง นานาประเทศเน้นเรื่องการสร้างปัญญา โดยทำแหล่งเรียนรู้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ซึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อนพระมหากษัตริย์จะสร้างวัดและวัง แต่ปัจจุบันวัดและวังได้ถูกลดความสำคัญลงจากการเป็นสัญลักษณ์แห่งวิทยาการสมัยใหม่” ดร.สิริกร กล่าว และว่าขณะนี้ผู้นำหลายประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออกได้สร้างแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ และเปลี่ยนห้องสมุดไม่ให้เป็นพื้นที่เฉพาะการอ่านหนังสือหรือทำวิจัยเท่านั้น แต่ให้เป็นศูนย์กลางพบปะของชุมชน พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ
สำหรับแหล่งเรียนรู้ในไทยนั้น ประธานอนุฯ สอร. ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งได้นำรูปแบบการเรียนรู้ของ TK Park ไปทำ แต่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกคนในชาติต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันเฉกเช่นเกาหลีใต้และสิงคโปร์ เพราะหากต่างคนต่างทำจะทำให้งบประมาณที่มีจำกัดยิ่งแตกกระจาย
“ห้องสมุดกศน.ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตั้งในพื้นที่ทองของชุมชน ถ้าอบจ.หรือเทศบาลต่างแข่งกันพัฒนาจะไม่สำเร็จ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันจึงจะไปรอด ขอเพียงทลายกำแพงระบบราชการไทยได้ก็จะดีมากขึ้น” ดร.สิริกร ทิ้งท้าย.
ภาพประกอบ:http://www.tkpark.or.th