ปฏิรูป "ที่ดิน" ก่อนไม่มีที่ดินให้ปฏิรูป
ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นฐานชีวิตและปัจจัยการผลิตที่สำคัญ สำหรับคนทุกคน แต่โครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศไทย โดยปล่อยให้รัฐและอำนาจทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่สังคม
ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ การถือครองที่ดิน ที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสังคมจะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความทันสมัยเป็นอย่างมาก
ในประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์ถึงความก้าวหน้าและทันสมัยเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นไปพร้อมกับความพยายามที่จะสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและการเมืองของคนในสังคม ในทางตรงกันข้ามความก้าวหน้าเหล่านี้กลับเป็น "ตัวเร่ง" ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันทางด้านต่างๆ ในสังคมมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งในสังคมไทยมีความเจริญเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ การกระจุกตัวของอำนาจและความมั่นคงยิ่งทวีความกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยในสังคมเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบกับสัดส่วนที่คนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวย และมีอำนาจในสังคมได้รับ (คู่มือการปฏิรูปที่ดิน น.49)
ที่น่าสนใจ ข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร โดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เคยมีข้อเสนอไว้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ ดังต่อไปนี้
1.ให้โอกาสและสิทธิคนจนที่ต้องคดีที่ดิน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
- คดีที่ดิน ที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
- คดีที่ดิน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
-กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คดีที่ดินทำกินที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
2.การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกิน หรือมีที่ดินไม่พอทำกิน
- จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ
-การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่
-คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
-กำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสม
-ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง
-กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บที่ดินที่ที่ถือครองเกินขนาดจำกัดในอัตราก้าวหน้า
-จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร
-การจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร
- ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สร้างกลไกประกันการสูญเสียที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนอีก