คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. ให้เสนอเรื่องคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ให้ประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
2. รับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย รายงาน
3. ให้คณะที่ปรึกษากฎหมายศึกษารายละเอียดและสาระสำคัญของคำพิพากษาเพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบการพิจารณาดำเนินการของรัฐบาลต่อไป ต่อจากนั้นฝ่ายไทยและกัมพูชาจะต้องเจรจาหารือภายใต้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย โดยจะต้องคำนึงถึงขั้นตอน และกระบวนการตามกฎหมาย ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
4. ให้ฝ่ายทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน รักษาอธิปไตยและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เพื่อสันติภาพ สันติสุข และความสงบเรียบร้อยดังที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด
สาระสำคัญของเรื่อง
สลค. รายงานว่า
ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดอ่านคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เวลาประมาณ 16.00 น. และนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยให้เชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมตามนัยมาตรา 8 วรรคสอง ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผลการประชุมมีดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่อง คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ และอยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเข้าข่ายเป็นกรณีที่เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่สมควรจะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาด้วย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย สรุปได้ว่า คำพิพากษาของศาลฯ ให้ความสำคัญกับการที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาจะต้องเจรจากัน โดยมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
2.1 ศาลฯ รับฟังข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย และได้ยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505
2.2 ศาลฯ รับฟังข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย โดยยืนยันว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งหมายความว่าศาลฯ ไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลกเมตร และที่สำคัญศาลฯ ไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ผูกพันกับไทย โดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505
2.3 ศาลฯ รับตีความเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (vicinity) ตามคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยอธิบายว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งกำหนดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ประกอบขึ้นเป็นยอดเขาพระวิหาร โดยไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน และที่สำคัญไม่รวมพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนี้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไปโดยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่
2.4. ศาลฯ ได้แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการที่จะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก