ย้อนรอย“อารยะขัดขืน”ต้าน“ทักษิณ–รัฐประหาร”บนหลักการ“ความยุติธรรม”
"..เป็นที่น่าสังเกตว่าปรากฎการณ์ “อารยะขัดขืน” นั้น ประกอบด้วยประชาชนทั้งสองฝ่ายคือ “ฝ่ายต้านระบอบทักษิณ” กับ “ฝ่ายไม่เอารัฐประหาร” ซึ่งต่างออกมาแสดงท่าทีคัดค้านโดยใช้หลากหลายยุทธวิธี ในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่า “ไม่ยุติธรรม” กับสังคม.."
พลันที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประกาศกร้าวกลางเวทีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย สั่งให้ประชาชนยกระดับการต่อสู้ โดยให้กระทำการ “อารยะขัดขืน” คือ 1.หยุดงานทั่วประเทศ 2.หยุดชำระภาษี 3.ให้บ้านหรือสำนักงานชักธงชาติขึ้นทั่วประเทศ และ 4.หากเจอคนฝ่ายรัฐบาลให้เป่านกหวีดใส่ทันที
หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า “อารยะขัดขืน” คืออะไร และเคยมีเหตุการณ์ใดในประเทศไทยที่ถือเป็น “อารยะขัดขืน” บ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ทำการรวบรวมไว้ดังนี้
“อารยะขัดขืน” หรือ “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) คำนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในไทยโดย “ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยอธิบายว่า อารยะขัดขืนเป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่ทั้งเป้าหมายและตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ Civil Disobedience ส่งผลให้การทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี ‘อารยะ’ มากขึ้น การจำกัดอำนาจรัฐนั้นเอง เป็นหนทาง ‘อารยะ’ ยิ่งกว่าจำกัดอำนาจรัฐโดยพลเมืองด้วยวิธีการอย่างอารยะคือ เป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้สันติวิธีแนวนี้ เพื่อให้สังคมการเมือง ‘เป็นธรรม’ ขึ้น เคารพสิทิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยขึ้น
โดยอธิบายคุณลักษณะ 7 ประการของ “อารยะขัดขืน” ในฐานะของปฏิบัติการทางการเมือง คือ
1. เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจละเมิดกฎหมาย
2. ใช้สันติวิธี (ไม่ใช้ความรุนแรง)
3. เป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า
4. ประกอบด้วยความเต็มใจที่จะรับผลทางกฎหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว
5. ปกติกระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล
6. มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง
และ 7. มุ่งเชื่อมโยงสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและสถาบันทางสังคม (1)
ทั้งนี้หากกล่าวถึงเหตุการณ์ “อารยะขัดขืน” ในประเทศไทย มักพ่วงกับเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่ไม่น้อย โดยเริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้ “ไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในไทย ปี 2549” เนื่องจากเห็นว่าการยุบสภาของรัฐบาลทักษิณทำไปเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปราย นอกจากนี้ยังเจอมรสุมการเมืองรุมเร้ามากมาย นอกจากนี้รัฐมนตรียังไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนต่อประชาชนได้ จึงต้องยุบสภาเพื่อไม่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกตรวจสอบเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนมากขึ้นอันจะเป็นผลเสียต่อตนเอง
ต่อมาเริ่มมีการรณรงค์โดยภาคประชาชน เช่น มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) และเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญและแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มนักศึกษารักประชาชน ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ร่วมกัน “กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน” เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ “ทักษิณ” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง (2)
ขณะที่การเคลื่อนไหวแบบปัจเจก เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งหนีไม่พ้นกรณีอื้อฉาวที่สุดคือ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวลีอันลือลั่น "ผมขอทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง" ทั้งนี้ให้เหตุผลว่าการยุบสภาและการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม โดยยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพร้อมสู้คดีในทางกฎหมาย โดยขอยืนยันสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี และศาสพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2553 (3)
นอกเหนือจาก รศ.ดร.ไชยันต์ แล้ว นายเอกราช ราษฎร์ภักดีรัช เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ก็ได้กระทำการ “อารยะขัดขืน” ฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เช่นเดียวกัน (4)
นอกจากนี้ยังมีกรณี นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ แกนนำ “กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย จ.สงขลา” และชาวบ้านอีก 6 ราย ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งและทำให้เสียทรัพย์ จากการฉีกบัตรเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน 2549 อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (5) – (6)
อย่างไรก็ตามกรณีของนายทศพร กาญจนะภมรพัฒน์ อดีตผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางหมาก อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อปี 2548 และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จำเลยในคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 2 ใบ (ระบบเขต – ระบบบัญชีรายชื่อ) แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อมาถึงศาลฎีกา ได้กลับคำวินิจฉัย พิพากษาจำคุก 3 เดือน แต่รอลงอาญา 1 ปี พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี เมื่อปี 2555 (7)
นอกจากนี้ยังมีกรณีนายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้ใช้ไม้จิ้มฟันเจาะปลายนิ้วตนเอง แล้วนำเลือดไปกากบาทบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ โดยยืนยันว่าสิ่งที่ทำเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ “ทักษิณ” พร้อมระบุว่า หากคณะกรรมการนับคะแนนบอกว่าบัตรของตนเป็นบัตรเสีย จะร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการนับคะแนนอีกครั้งทันที (8)
คำถามคือท่าที “อารยะขัดขืน” มีแต่ขบวนการ “ล้มล้างระบอบทักษิณ” จริงหรือ?
หลังรัฐประหารเพียงหนึ่งวัน ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และนายทวี ไกรคุปต์ อดีต ส.ส. ทำการประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กางป้ายขนาดใหญ่ระบุว่า “ขออดข้าวประท้วงผู้ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก” โดยในเวลาต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาเชิญตัว ร.ต.ฉลาด ขึ้นรถไปที่หน่วยบังคับบัญชา และอีก 3 ชั่วโมงต่อมาเจ้าหน้าที่ทหาร 7 นายได้ล็อกตัวนายทวี ขึ้นรถตู้และขับออกไปทันที หลังจากนั้นทหารบางส่วนได้เข้ามาเก็บป้ายประท้วงอกอจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หลังจากนั้นการประท้วงครั้งแรกมีขึ้นที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 โดยมีผู้ประท้วงกว่า 100 คน โดยแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และชูป้ายประท้วงมีข้อความว่า “No to Thaksin No to Coup” (“ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร”) และไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องไหนรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ The Independent รายงานว่า มีตำรวจติดอาวุธหลายนายฝ่าฝูงชนเข้าไปจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิง ซึ่งเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหารอีกด้วย (9)
ต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2549 มีกลุ่มประท้วงอีกกลุ่ม มีผู้ชุมนุมราว 60 คน มาชุมนุมที่ลานปรีดี หน้าตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อจัดเสวนาในหัวข้อ “ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร” นำโดยนายกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ, น.ส.อรุณวนา สนิกะวาที นักศึกษา คณะวารสารฯ ม.ธรรมศาสตร์, นายเมธัส บัวชุม ศิษย์เก่า คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และดำเนินรายการโดย นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา โดยมีการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมเพื่อแสดงจุดยืน “อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติ คัดค้านคณะรัฐประหาร” อีกด้วย (9) – (10)
หลังจากนั้นในวันที่ 27 กันยายน 2549 “เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ” ได้จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ “ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร” นำโดย นายศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และภายในวันเดียวกันนี้ “เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่” ได้จัดเสวนา “เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร” ซึ่งเมื่อเสวนาไปได้ระยะหนึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นายมาขอให้ยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามงานเสวนาดังกล่าวก็ยังมีต่อไปด้วยสถานการณ์ตึงเครียด (9)
ทั้งนี้การกระทำทั้งหมดข้างต้นถือเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งขัดต่อกฎอัยการศึก ตามประกาศ คปค .ฉบับที่ 7 ที่ระบุว่า ในระหว่างกฎอัยการศึกษห้ามมิให้มั่วสุม ประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (11)
และเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดสำหรับ “อารยะขัดขืน” ต่อคณะรัฐประหารคือ “นวมทอง ไพรวัลย์” อาชีพขับรถแท็กซี่ ได้ขับแท็กซี่พ่นสีดำคำว่า “พลีชีพ” ที่กระโปรงท้าย ส่วนประตูรถทั้งสองข้างพ่นคำว่า “พวกทำลายประเทศ” พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนรถพังยับเยินและตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549
ต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 นายนวมทองก็ได้ทำการอัตวินิบาตกรรมตนเองด้วยการผูกคอตายกับราวสะพานลอยบริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ “พ.อ.อัคร ทิพโรจน์” รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ (12)
หลังจากนั้นวันที่ 2 ตุลาคม 2549 “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” จัดกิจกรรม “อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร” ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก โดยในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค. อีกด้วย (9)
เป็นที่น่าสังเกตว่าปรากฎการณ์ “อารยะขัดขืน” นั้น ประกอบด้วยประชาชนทั้งสองฝ่ายคือ “ฝ่ายต้านระบอบทักษิณ” กับ “ฝ่ายไม่เอารัฐประหาร” ซึ่งต่างออกมาแสดงท่าทีคัดค้านโดยใช้หลากหลายยุทธวิธี ในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่า “ไม่ยุติธรรม” กับสังคม
น่าสนใจว่าการประกาศ “อารยะขัดขืน” ของ “สุเทพ” นั้นจะไปจบลงที่จุดไหน ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย คลุ้งกลิ่นคาวเลือดฉบับนี้ ?
------
อ้างอิงที่มาข้อมูลจาก
(1) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87
(2) http://news.sanook.com/election49/election_17896.php
(3) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288336222&grpid=00&catid=
(4) http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9490000055356
(5) http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9490000053469
(6) http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9490000067742
(7) http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000063076
(8) http://thaioctober.com/smf/index.php?topic=2914.0;wap2
(9) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2549
(10) http://www.siamintelligence.com/history-on-19-september-2006-coup/
(11) http://hilight.kapook.com/view/2212
(12) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C