AI ระบุประชาชนเวียดนามหลายสิบคนถูกจับกุมคุมขังเพราะการแสดงความเห็น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการเวียดนามต้องยุติการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยทันที เพื่อคุ้มครองนักเคลื่อนไหวไม่ให้ถูกคุกคามและถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนอีกต่อไป
ในรายงานฉบับใหม่เรื่อง "เสียงที่ถูกปราบปราม: นักโทษทางความคิดในเวียดนาม" (Silenced Voices: Prisoners of Conscience in Viet Nam) วิเคราะห์การใช้กฎหมายและพระราชกฤษฎีกาเพื่อเอาผิดกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งทางอินเตอร์เน็ตและในระหว่างการประท้วง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษด้านความคิด 75 คนในเวียดนาม ซึ่งหลายคนได้ถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้ายมาเป็นเวลาหลายปี
รูเปิร์ต แอบบ็อต (Rupert Abbott) นักวิจัยประเทศเวียดนาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
เวียดนามกำลังกลายเป็นที่คุมขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างเสรีของประชาชนโดยรัฐบาลต้องยุติลง
"ในปีนี้ เวียดนามมีการถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขใหม่ และพยายามหาเสียงเพื่อให้มีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลกำลังบอกต่อโลกว่า ตนเองเคารพหลักนิติธรรม แต่การปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นการทำลายพันธกิจที่เวียดนามให้ไว้กับประชาคมนานาชาติว่าจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออก"
ทางการได้จับกุม ตั้งข้อหา ควบคุมตัว หรือคุมขังผู้ที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐหลายร้อยคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดทำเว็บบล็อก นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิที่ดิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอย่างสงบ ทั้งยังมีเป้าหมายการคุกคามสมาชิกกลุ่มทางศาสนาด้วย
นับแต่ต้นปี 2555 ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลานานกับนักเคลื่อนไหวอย่างสงบอย่างน้อย 65 คนรวมกันกว่า 20 คดี เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นักโทษทางความคิดมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน ไม่อนุญาตให้ครอบครัวและทนายความเข้าเยี่ยม การพิจารณาคดีมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมักกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และไม่ยึดมั่นตามหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับการพิจารณาคดีผู้จัดทำเว็บบล็อกที่สำคัญสามคนเมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยผู้พิพากษารับฟังการไต่สวนเพียง 15 นาที ก่อนจะกลับมาอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มโดยใช้เวลาในการอ่าน 45 นาที แสดงให้เห็นว่าต้องมีการเตรียมคำพิพากษาไว้ล่วงหน้า
ในระหว่างถูกคุมขัง นักโทษด้านความคิดต้องอยู่ในสภาพที่เลวร้าย บางครั้งถูกขังเดี่ยวหรือแยกจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ บางคนยังถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม
ในบรรดานักโทษเหล่านี้ได้แก่ โดทิมินฮันห์ (Do Thi Minh Hanh) อายุ 28 ปี เขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานซึ่งถูกสั่งคุมขังเป็นเวลาเจ็ดปีเมื่อปี 2553 ในข้อหาแจกจ่ายใบปลิวสนับสนุนให้คนงานเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น เมื่ออยู่ในเรือนจำเธอต้องทนทุกข์ทรมานมาก ถูกเพื่อนนักโทษซ้อมหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่ได้เข้ามาห้าม
"โดทิมินฮันห์และนักโทษทางความคิดคนอื่น ๆ เพียงแค่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบ ต้องมีการปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข" รูเปิร์ตกล่าว
"รายงานของแอมเนสเตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นข้อมูลนักโทษ 75 คนซึ่งในความจริงไม่ควรจะถูกจับกุมเลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยังมีนักโทษอีกหลายสิบคนที่อาจถือได้ว่าเป็นนักโทษด้านความคิด และยังมีนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวอีกเป็นจำนวนมากซึ่งถูกซ้อม ถูกคุกคาม ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี หรือถูกกักบริเวณในบ้าน"
แม้โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญของเวียดนามจะประกันเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายและพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับเพื่อควบคุมสิทธิดังกล่าว
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2542 อนุญาตให้ทางการคุมขังผู้ที่มีเจตจำนง "โค่นล้ม" หรือ "โฆษณาชวนเชื่อ" เพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งมักเป็นข้อหาที่ใช้เพื่อลงโทษผู้ที่แสดงความเห็นแตกต่างจากรัฐอย่างสงบ
ในวันที่ 1 กันยายนปีนี้ รัฐบาลได้ใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งานอินเตอร์เน็ต มีการกำหนดโทษอย่างรุนแรงต่อการเผยแพร่รายงานข่าวทางเว็บบล็อกและสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่ออินเตอร์เน็ตอื่น ๆ ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ
ในช่วงปีที่ผ่านมา คนเวียดนามถกเถียงกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขใหม่ โดยคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมปัจจุบันในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ในปีนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการ "ปรึกษาหารือกับประชาชน" เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่จากการวิเคราะห์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ยังคงมีช่องโหว่ในข้อบัญญัติซึ่งปล่อยให้รัฐบาลสามารถจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีปัญหาในขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับร่างฉบับก่อน ๆ และจะไม่มีส่วนช่วยคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ ที่เสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมาของทางการ ทั้งการใช้กฎหมายและพระราชกฤษฎีกาเพื่อปราบปราม"
"รัฐธรรมนูญควรคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และควรมีที่มาจากข้อบัญญัติในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งเวียดนามเป็นรัฐภาคีด้วย บัดนี้เป็นโอกาสที่เวียดนามจะปฏิบัติเช่นนั้น และดูแลให้มีการบังคับใช้ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ"
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์