ชาวบ้านกัมพูชาร้องกสม.-คปก.สอบบ.น้ำตาลไทยละเมิดสิทธิ์ฯ-แย่งที่ดินทำกิน
ชาวบ้านกัมพูชาบุกไทยร้องกสม.-คปก.สอบบริษัทน้ำตาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทบวิถีชีวิตถูกนายทุนแย่งที่ดิน-ตกหลุมวงจรหนี้-สุขภาพเสื่อมโทรม ฟากกลุ่มผู้ปลูกอ้อยภาคอีสานไทยหนุนเชียร์ด้วย
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวบ้านจ.เกาะกง โอดอร์เมียนเจยและกำปงสปือ ประเทศกัมพูชา ร่วมกับองค์กร Equitable Cambodia และ Inclusive Development International เปิดตัวรายงานผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนตามโครงการ ‘ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์ (Everything But Arms)’ ของสหภาพยุโรป พร้อมแถลงข่าวถึงปัญหาผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนได้รับจากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีการขายสินค้าโดยปลอดภาษีจากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2544 แต่โครงการดังกล่าวกลับเอื้อให้เกิดการย้ายทุนจากต่างแดนเพื่อลงทุนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่และโรงงานตาลในกัมพูชา นำมาซึ่งปัญหาการแย่งที่ดินและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ มีบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ในไทยเกี่ยวข้องด้วย
เดวิด เพลด (David Pred) ผู้จัดการโครงการสากลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง (Managing Associate of Inclusive Development International) นำเสนอรายงานว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country: LDC) ในการส่งสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปขายในตลาดยุโรปได้โดยปลอดภาษี ทว่า นโยบายถ้อยคำสวยหรูนี้ กลับกำลังก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ จึงเสนอให้เห็นภาพปัญหาการเข้าครอบครองที่ดินสัมปทานของบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศหลายบริษัท
ด้านนางฮอยไม (Hoy Mai) ตัวแทนชุมชนจากอ.สำโรง (Samrong) จ.โอดอร์เมียนเจย กล่าวว่า การลงทุนปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล เป็นสาเหตุของปัญหาการยึดแย่งที่ดินจากชาวบ้านที่เลวร้ายที่สุดในประเทศของเราและเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ชาวบ้านกลับโดนขับไล่และไล่ล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ฉันเองโดนจับติดคุก 8 เดือนหลังจากร่วมประท้วงบริษัท และต้องคลอดลูกในคุก อย่างไรก็ตาม ดิฉันรู้สึกผิดหวังที่บริษัทไทยยังปฏิเสธที่จะพบพวกเราเพื่อพูดคุยกัน
นายเตง กาว (Teng Kao) ตัวแทนชุมชนจากอ.สเรอัมบึล (Sre Ambel) จ.เกาะกง กล่าวเสริมว่า คนกัมพูชาหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกินและประสบกับความยากจนอย่างสาหัส ลูกหลานของเราต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานจุนเจือครอบครัวโดยการเป็นคนงานในไร่อ้อยแทนและไม่มีหลักประกันในชีวิตใด ๆ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสานของไทยร่วมแถลงสนับสนุนการเรียกร้องของชาวบ้านกัมพูชาด้วย โดยนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรทางเลือก มองการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และประชาชนในภูมิภาคไม่ควรยอมให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกต่อไป
นายพิชิตพล แสนโคตร เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญา กล่าวว่า ประชาชนไทยจำนวนมากเติบโตมากับการปลูกอ้อย แต่ชีวิตเรากลับไม่มีอะไรดีขึ้น ตรงกันข้าม เรากลับต้องเสียที่ดินให้บริษัท เพราะตกอยู่ในวงจรหนี้และสุขภาพเสื่อมโทรมจากการปลูกอ้อยด้วยสารเคมีมาชั่วนาตาปี โดยที่บริษัทไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของเราที่ทำงานกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ต่างยืนยันว่าการตรวจสอบบริษัทไทยเพื่อให้สังคมเข้าใจประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนสามารถทำได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับความก้าวหน้าของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบัน ประชาชนและองค์กรในกัมพูชากำลังทำการยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบบริษัทน้ำตาลมิตรผลและบริษัทน้ำตาลขอนแก่นของไทยและเป็นกรณีที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
ภาพประกอบ:www.holidaythai.com