"หาดใหญ่โพลล์" ชี้ คนใต้ไม่เอานิรโทษสุดซอย รัฐบาลล้มละลายทางความเชื่อมั่น
กระแสต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับ "สุดซอย-เหมาเข่ง" ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนมากที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน (โพลล์) ใน 14 จังหวัดภาคใต้ก็ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
ผศ.ดร.กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หรือ "หาดใหญ่โพลล์" เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯฉบับสุดซอย ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.2 เห็นว่าควรถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกจากวาระของสภา (ปัจจุบันยังไม่ถอน เนื่องจากวุฒิสภายังไม่ได้ประชุม) รองลงมา ร้อยละ 8.5 เห็นว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.5 ยังเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
เมื่อตั้งคำถามว่า มีความเห็นอย่างไรหากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ประชาชนร้อยละ 36.3 เห็นว่า สถานการณ์การเมืองน่าจะมีการชุมนุมต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ต่อไป รองลงมา ร้อยละ 32.9 เห็นว่าน่าจะมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 15.7 เห็นควรให้ถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯออกจากการพิจารณาของสภา
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.2 ระบุว่าไม่เชื่อคำกล่าวของคนในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับการถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีเพียงร้อยละ 12.8 ที่เชื่อคำกล่าวของคนในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี
นอกจากนั้น ประชาชนร้อยละ 46.5 ยังมีความวิตกกังวลในระดับสูงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และร้อยละ 66.6 เห็นว่าการชุมนุมอาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้
ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 91.6 ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศต่อไป โดยประชาชนร้อยละ 83.7 เห็นว่าน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในต้นปี 2557 และเมื่อสอบถามถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนร้อยละ 84.9 เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่สามารถกลับประเทศไทยได้
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.8 ยังต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ในขณะที่ร้อยละ 22.3 ไม่แน่ใจว่าควรมีการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 5.9 ที่เห็นว่าไม่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง
นศ.-คณาจารย์ ม.อ.ปัตตานีแสดงพลัง
ทางด้านความเคลื่อนไหวของมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีการออกมาแสดงพลังต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กันอย่างคึกคัก โดยไฮไลท์อยู่ที่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่ได้พร้อมใจกันเดินขบวนและยื่นหนังสือคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
ขบวนเดินเท้าเริ่มจากหน้าสำนักงานอธิการบดี ผ่านถนนเจริญประดิษฐ์ ถนนหนองจิก และถนนเดชา เข้าสู่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยมี นายวิทยา พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ออกมารับฟังแถลงการณ์และรับแถลงการณ์เพื่อดำเนินการต่อไป
แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า จากการที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นั้น เป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยหลักการ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน หากรัฐสภาและรัฐบาลยังยืนยันการตรากฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการคุกคามต่อระบบนิติรัฐ นิติธรรมอย่างร้ายแรง ส่งผลต่อบรรทัดฐานการกระทำความผิดของบุคคลต่อไปในอนาคต เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อเจตนารมณ์แห่งประชาชนและขัดหลักการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยการที่กฎหมายไม่บังคับใช้ต่อบุคคลภายในรัฐอย่างเท่าเทียม เนื่องจากเป็นการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อยกเลิกความผิดให้กับตนเองและพวกพ้อง จึงเป็นการละเมิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
ผศ.กมล คงทอง ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี ที่เข้าร่วมเดินขบวน กล่าวว่า สถาบันการศึกษาต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ การออกมาแสดงพลังครั้งนี้เป็นจุดยืนที่ถูกต้อง การนิรโทษกรรมต้องดูเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่เหมาเข่งหรือเหมารวม หากปล่อยให้ทำไปแล้วเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ ถ้าสถาบันการศึกษาไม่มีจุดยืน ไม่ทำอะไร แล้วชาวบ้านจะพึ่งใคร
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ องศารา นายกสโมสรนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การออกมาคัดค้านคือการบอกความต้องการของนักศึกษาและบุคลากรถึงการไม่ยอมรับในร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
"หากเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ไม่รุกล้ำลากยาวไปถึงปี 2547 หรือเจาะเป็นเรื่องๆ ก็อาจจะเห็นด้วย เราออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของทุกคน ไม่ใช่ให้อภิสิทธิ์แก่นักการเมืองให้พ้นผิด พลังที่ออกมาเป็นพลังนักศึกษาและประชาชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง มาด้วยความตั้งใจและจิตสำนึกที่มีต่อประเทศชาติ"
หมอ-พยาบาล ฮือต้านสุดซอย
ส่วนที่บริเวณหน้าอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา คณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ชุดกู้ชีพกู้ภัย และประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันแสดงพลังต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ โดยมีการถือป้ายผ้า ป้ายกระดาษ เขียนข้อความต่อต้านคัดค้านกันอย่างคึกคัก พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนใน จ.ยะลา รวมทั้งประชาชนคนไทยทั้งประเทศออกมาแสดงพลังอย่างสันติวิธีทุกรูปแบบเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จะแยกย้ายกันไปทำงาน ได้เป่านกหวีด 1 ครั้ง พร้อมชูมือไขว้เป็นกากบาทแสดงสัญลักษณ์ต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิเสธการนิรโทษกรรมในคดีคอร์รัปชั่นด้วย
ส่วนที่ จ.ปัตตานี ข้าราชการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปัตตานีจำนวนกว่า 300 คน ใช้เวลาช่วงพักเที่ยงจัดขบวนถือป้ายข้อความต่อต้านคัดค้านการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ จากนั้นได้เดินออกจากโรงพยาบาลปัตตานี ไปตามถนนหนองจิก ถนนเดชา และ รวมตัวกันที่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี และมีการเป่านกหวีดพร้อมโห่ร้องต่อต้านร่างกฎหมายฉบับอื้อฉาว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1,5,6 แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และคนไข้โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ชุมนุมต้านนิรโทษสุดซอย
2,3, นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ม.อ.ปัตตานี เดินขบวนยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
4 ผศ.กมล คงทอง
7,8 แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปัตตานีร่วมต้านล้างผิดคนโกง