ทาง 3 แพร่ง คดีพระวิหาร ในมุมมอง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”
“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เปิด 3 แนว “คำตัดสินที่เป็นไปได้” ของศาลโลก ในคดีเขาพระวิหาร ซึ่งผลสุดท้ายอาจวิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย?
-11 พฤศจิกายน 2556- น่าจะเป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยทั้งประเทศอาจต้องกลั้นใจรอฟังคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ “ศาลโลก”ในคดีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 ที่ศาลโลกเคยตัดสินว่า “ปราสาทพระวิหาร” อยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา แต่ไม่มีการระบุเรื่องเส้นเขตแดนตาม “แผนที่ภาคผนวก 1” แต่อย่างใด
หนึ่งในผู้ที่ติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเขียนบทความเกี่ยวกับ “คดีปราสาทพระวิหาร” อยู่เป็นระยะก็คือ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ซึ่งบวรศักดิ์คาดคะเนผลตัดสินของศาลโลกผ่านเอกสารประกอบการประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติ หัวข้อ “คดีปราสาทพระวิหาร : เบื้องลึก เบื้องหลัง และแนวโน้มของข้อยุติ” ว่าน่าจะออกได้ “3 แนวทาง”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอสรุปใจความสำคัญ ดังนี้
1.ศาลโลก “ไม่รับตีความ” ตามคำขอของกัมพูชา
แม้บวรศักดิ์จะเห็นว่า แนวทางนี้หากดูอย่างผิวเผินไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการที่ศาลโลกออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวให้มีเขตปลอดทหารรอบเขาพระวิหาร ศาลโลกต้องเข้าใจในเบื้องต้นมีว่าเขตอำนาจที่จะตีความ กรณีข้อพิพาทเรื่องบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาปี ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 ใน 3 ประการ (1) ความเห็นที่แตกต่างเรื่องการตีความคำว่าบริเวณใกล้เคียง (2) ความเห็นที่แตกต่างเรื่องพันธกรณีที่จะต้องถอนทหาร และ (3) ความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการยอมรับเส้นเขตแดน
เมื่อศาลโลกเห็นเบื้องต้นว่ามีข้อพิพาท ในท้ายที่สุดศาลจะกลับลำมาบอกว่า ตนไม่มีอำนาจก็ดูกระไรอยู่
แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ศาลโลกจะไม่รีบตีความ เมื่อดูจากคดีก่อนหน้านี้ที่ศาลโลกเคยไม่รับตีความใน “คดี อวีนา vs ชาวเม็กซิกัน” เมื่อปี ค.ศ.2004/พ.ศ. 2547 แม้จะมีการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ศาลโลกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 16 เสียง ยกคำร้องของไทยที่ขอไม่ให้รับคำร้องของกัมพูชาไว้พิจารณาตั้งแต่แรก ดังนั้นการจะตัดสินว่าศาลโลกไม่มีอำนาจจึงไม่รับไว้ตีความ “คงมีโอกาสน้อยเต็มที”
ทั้งนี้ น่าพิจารณาด้วยว่าผู้พิพากษาของศาลโลก ที่พิจารณาออกมาตรการชั่วคราว เมื่อปี ค.ศ.2011/พ.ศ.2554 ในจำนวน 14 คน นอกจากผู้พิพากษาที่ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาตั้งฝ่ายละคน มีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาใหม่ถึง 3 คน ที่ยังไม่เคยพิจารณาคดีนี้มาก่อนซึ่งความเห็นของผู้พิพากษาใหม่ทั้ง 3 คน อาจจะส่งผลต่อคำตัดสินของศาลโลกในขั้นสุดท้าย
2.ศาลโลก “รับตีความ” ตามคำขอของกัมพูชา
แนวทางนี้อาจคะเนการตัดสินออกไปได้อีก 2 แนวทางย่อย
กรณีที่ 1 หากศาลโลกตีความตามที่กัมพูชาเสนอว่าเส้นเขตแดนบน “แผนที่ภาคผนวก 1” เป็น “บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร” อย่างที่กัมพูชาอ้างหากเป็นเช่นนี้ กัมพูชาจะได้ประโยชน์ ส่วนไทยเสียประโยชน์ และศาลโลกต้องเผชิญปัญหาไม่น้อยกว่า 4 ประการ
- หากศาลโลกกำหนดว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาต้องเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 (หรือแผนที่อัตราส่วน 1:200,000) อาจเกิดปัญหาไปยังที่อื่นๆ ที่ยังไม่พิพาทกัน ทำให้เกิดการปะทะกันได้
- ไทยย่อมชี้ให้เห็นถึงปัญหาการนำแผนที่ดังกล่าวไปขีดลงบนพื้นที่จริง ซึ่งศาลโลกต้องอธิบายให้ได้ทั้งทางเทคนิคและทางข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของไทยไม่ถูกต้องอย่างไร
-ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือในปี ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 กัมพูชาเคยขอให้ศาลโลกเคยตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนและสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ศาลโลกไม่ตัดสินให้ เหตุใดผ่านมา 50 ปี ศาลโลกจึงพิพากษาให้กัมพูชาตามที่ขอให้ตีความเรื่องดังกล่าวใหม่ จะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ “การขอให้พิจารณาใหม่-การขออุทธรณ์” อย่างไร เพราะตามกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาไม่สามารถยื่นคำขอทั้ง 2 กรณีดังกล่าวได้แล้ว
- หากศาลโลกเสี่ยงตัดสินตามที่กัมพูชาขอ คำพิพากษาคดีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป ซึ่งน่าเชื่อว่าจะทำให้มีผู้ยื่นขอให้ตีความคำพิพากษามากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าสามารถรื้อฟื้นเรื่องที่ศาลโลกเคยปฏิเสธไปแล้วได้
กรณีที่ 2 หากศาลโลกตีความตามที่ไทยเสนอ โดนดูจากแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของคู่กรณี ว่ากัมพูชาเคยรับทราบการกั้นรั้วตามมติ ครม.เมื่อปี ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 มาแล้ว หากเป็นไปตามนี้ก็จะถือว่าไทยชนะ-กัมพูชาแพ้ แต่กรณีนี้ยังมีข้อคำนึงเพราะศาลโลกเคยวางบรรทัดฐานไว้ว่า จะไม่สามารถอ้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 ได้
3.ศาลโลกตีความแบบตุลาธิปไตย คือไม่มีใครแพ้ใครชนะ
ผลการตัดสินถือว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ โดยศาลโลกกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว ด้วยการลากเส้นเชื่อพิกัดในเส้นรุ้งเส้นแวงตามใจชอบของศาล โดยไม่ตัดสินตามคำขอของทั้งกัมพูชาหรือไทย และให้ทั้ง 2 ประเทศใช้กลไกคณะกรรมาการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ตามเอ็มโอยูเมื่อปี ค.ศ.2000/พ.ศ.2543 ในการหาทางออกร่วมกัน
แต่แม้แนวทางนี้จะดูเป็นทางออกที่บังคับให้เกิดสันติภาพที่สุด แต่ศาลโลกจะถูกงวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ได้ตัดสินโดยยึดหลักของกฎหมาย แต่ตัดสินตามอำเภอใจ และจะเป็นการพิพากษาเกินคำขออีกด้วย
ดังนั้น คำตัดสินในแนวทางที่ 3 นี้ น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก หากศาลโลกยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าแนวทางนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการที่ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว ก็เป็นแนวโน้มที่ทำให้เห็นว่ามีโอกาสที่ศาลโลกจะตัดสินตามแนวทางตุลาธิปไตย