ฟังชัดๆไทยไม่ขายหน้าจากปาฐกถามองโกฯ"ยิ่งลักษณ์"-เรื่องตระกูล"ชินวัตร"?
โปรดฟังชัดๆ (อีกครั้ง) คำชี้แจงปาฐกถาพิเศษมองโกเลีย "ยิ่งลักษณ์" วิพากษ์เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 เรื่องราวตระกูล "ชินวัตร" ติติงกระบวนการประชาธิปไตย "ถดถอย-เสื่อมลง" ไทยไม่ขายหน้า สุรพงษ์ ยันฝรั่งชื่นชมถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ไทยให้เป็นตัวอย่างชาวโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำตอบกระทู้กรณีการปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ที่สาธารณรัฐมองโกเลีย
โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม ตามที่นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม และให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
นายวัชระ เพชรทอง ตั้งกระทู้ถามว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ณ เมืองอุลันบาตอร์ สาธารณรัฐมองโกเลีย ในเวทีการประชุมประชาธิปไตย ที่มีสมาชิกระดับรัฐมนตรีจากชาติต่าง ๆ มาร่วมฟังมากกว่า 150 ประเทศ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556
โดยเนื้อหาของปาฐกถา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์
เมื่อมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 พร้อมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวติติงต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศว่ามีการถดถอยและเสื่อมลง
โดยอ้างว่าตัวนายกรัฐมนตรี พี่ชาย และครอบครัวของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและยังกล่าวว่านายกรัฐมนตรีนั้น เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยกล่าวหาว่ามีกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยดำรงอยู่ภายในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประชาธิปไตยสร้างความเสียหายให้ประเทศไทย การปาฐกถาดังกล่าวทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจต่อบรรยากาศการเมืองในประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว
จึงขอเรียนถามว่า
1. รัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีพูดในฐานะตัวแทนของประเทศไทย และจะมีมาตรการสร้างความสมานฉันท์ ความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
2. รัฐบาลมีมาตรการในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร เมื่อมีประชาชนชาวไทย ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ เกิดความไม่พอใจต่อเนื้อหาสาระที่ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของประเทศไปปาฐกถาที่สาธารณรัฐมองโกเลีย ขอทราบรายละเอียด
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ดังนี้
คำตอบข้อที่ 1
ขอเรียนว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของประชาคมประชาธิปไตย ครั้งที่ 7 (The 7thMinisterial Meeting of the Community of Democracies - CD) ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลียเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะแขกเกียรติยศของประธานาธิบดีมองโกเลีย ซึ่งในโอกาสดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดการประชุมโดยแสดงจุดยืนในการส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตย รวมถึงแสดงความเชื่อมั่นในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะปกป้อง
และยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของไทยในการพัฒนาประชาธิปไตยในแง่มุมต่าง ๆ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความท้าทายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวถือเป็นประสบการณ์สำคัญต่อการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตย ทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศตลอดจนการเสริมสร้างความสมานฉันท์ความปรองดองให้เกิดขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกประชาคมประชาธิปไตย หรือคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมมิได้แสดงปฏิกิริยาในเชิงลบกับการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี แต่มีการชื่นชมคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี และถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของไทยให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยต่อมานายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ป.คอป.) ซี่งเป็นหนึ่งในกลไกในการดำเนินและเสนอแนะมาตรการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและความสมานฉันท์ภายในประเทศ
คำตอบข้อที่ 2
ขอเรียนว่า รัฐบาลได้แสดงความโปร่งใสในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบคำกล่าวปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยสาระสำคัญของปาฐกถาประกอบด้วย การกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีแห่งมองโกเลียที่ได้เชิญให้มาปาฐกถา และกล่าวเน้นในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย โดยกล่าวว่าประเทศมองโกเลียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในความเป็นประชาธิปไตย
และปิดท้ายคำกล่าวปาฐกถาว่า ขอให้ทุกคนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเพื่อที่เสรีภาพและอิสรภาพของมนุษย์ได้รับการปกปักษ์รักษาเพื่อลูกหลานและคนรุ่นต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556