“Gen me ” เยาวชนคนรุ่นใหม่ ขอพื้นที่และโอกาส เพื่อเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนสังคม
เมื่อเร็วๆนี้ โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่น 1 โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. จัดงานโชว์พราว ตอน Generation Me อิสรภาพทางความคิดและปฏิบัติการของคนรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนสังคม” เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ในการแสดงและนำเสนอผลงาน ความคิด ความเชื่อ และศรัทธาของคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในรูปแบบเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลายจากพื้นที่ต่างๆ ที่ร้าน Dialogue ถ.พระสุเมรุ เขตพระนคร กทม.
นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มมส.) และในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กล่าวว่า โครงการฯ มุ่งเน้นการพัฒนาแกนนำเยาวชน มีความเป็นผู้นำ เห็นคุณค่าตัวเอง มีทักษะการเรียนรู้ ทำงานเป็นทีม สร้างเครือข่ายเยาวชนและภาคีความร่วมมือ ซึ่งได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้จากภายในควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ทางสังคมภายนอกที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางความคิด และด้วยความเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างสังคมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีได้ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ มีกลุ่มคนหนุ่มสาว “เยาวชนกลุ่มคนรุ่นใหม่” ที่ต้องการขับเคลื่อนสังคม จำนวน 41 คน จากภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ตะวันตก และตะวันออก ด้วยแนวคิดเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนสังคม รวมตัวกันแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมเชื่อมโยง และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมร่วมกับคนรุ่นต่างๆ ได้เห็นถึงความสามารถของหนุ่มสาวกับการทำงานเพื่อสังคม
"สังคมโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเปิดพื้นที่และโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่หรือที่สังคมเรียกกันว่า Gen me (Generation Me) คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นยุคที่เด็กและเยาวชนมองตนเองเป็นที่ตั้ง สนใจเฉพาะประเด็นตนเอง จึงเป็นที่มาของประเด็นขบคิด ซึ่งความจริงแล้วยังมีเยาวชนจำนวนมากที่มีหัวใจ มีความพร้อม และจิตสำนึกที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นประประโยชน์ให้กับสังคม และพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวต่อไปข้างหน้า"
“ป้ามล” นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เส้นทางชีวิตของคนหนึ่งคนที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จนั้นตอบยากเพราะโลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ชีวิตจึงต้องอยู่บนความจริง สถานการณ์จริง สังคมจริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งไม่มีขาวล้วน ดำสนิท แต่เป็นสีเทาๆ ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องไม่ตัดสินและไม่ชี้นำ เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ความคิดเคลื่อนที่เสมอ และชีวิตไม่มีทางลัด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามจังหวะของมัน ฉะนั้น เด็กและเยาวชนทุกคนต่างมีแสงสว่างในตัวเองมีศักดิ์ศรีและศักยภาพที่จะสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ หากเราไม่ต่อต้านการกระทำของเขา เด็กเหล่านั้นก็จะสามารถปล่อยแสงที่อยู่ในตัวออกมาได้อย่างเต็มที่
“ป้าเป็นคนที่ล้มเหลวในหลายเรื่องๆ ทั้งเรื่องครอบครัว การทำงาน เรียนก็ไม่เก่ง เคยแม้กระทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเล่นพนันขั้นเซียน แต่ทุกคนในวันนี้เห็นป้าในภาพที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในสังคมแล้วนี่คือตัวอย่างชีวิตที่ผ่านมา และป้าอาจจะโชคดีที่มีแม่พูดเป็นอยู่คำเดียวคือไม่เป็นไร จะทำผิดกี่เรื่องก็ตามแม่ก็บอกว่าไม่เป็นไร คำๆ นี้ศักดิ์สิทธิ์และเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ จึงอยากชี้ให้เห็นว่า แต่ละช่วงชีวิตของคนสามารถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาได้ ชีวิตจึงตัดสินไม่ได้ เพราะเมื่อถูกตัดสินไปแล้ว เขาจะเสียความเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราจะตัดสินใครควรตัดสินที่คุณค่าในตัวตนของเขา ไม่ควรหยิบเอาคุณค่าทางสังคมมาเป็นตัวตัดสิน นั่นหมายถึงเราจะมีพื้นที่ยืนที่กว้างใหญ่ไพศาล” นางทิชา กล่าว
ด้านนายพฤหัส พหลกุลบัตร ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มมะขามป้อม) กล่าวต่อว่า เพราะการศึกษาหลักไม่ตอบโจทย์ เป็นการศึกษาที่เป็นความจริงจำลอง ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างการเรียนรู้ที่เกิดจากชีวิต สังคมและโลกของความเป็นจริง ได้ทดลองทำร่วมกัน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่สัมผัสได้ด้วยตนเอง จะเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ดี และที่สำคัญถ้าตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร ก็ต้องทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ที่กำหนดหรือตั้งเป้าหมายต้องทำร่วมกันกับเด็กลงมือปฏิบัติร่วมกัน