ข้อมูลอีกด้านเรื่องพูดคุยสันติภาพไทย-BRN
การเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลของ ดาโต๊ะ สรี อะห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา เพื่อหารือกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยนั้น ต้องถือว่าไม่มีอะไรใหม่มากนัก
เพราะ ดาโต๊ะซัมซามิน ก็เคยเดินทางมาไทย อย่างน้อยก็เมื่อต้นเดือน ก.ย.2556 เพื่อนำเอกสารอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ความยาว 38 หน้า ที่ระบุว่าเป็นของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน มามอบให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย
ขณะที่ผลการหารือเมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย. ทั้งเรื่องการดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่น เช่น องค์การพูโล และบีไอพีพี เข้าร่วม ก็เคยเป็นข่าวไปแล้ว ส่วนการเลื่อนนัดพูดคุยครั้งต่อไปยาวไปถึงเดือน ธ.ค. ก็มีรายงานของหน่วยงานความมั่นคงมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นเดียวกัน
การเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลของ ดาโต๊ะซัมซามิน จึงมีน้ำหนักไปในทางทำให้ปรากฏข่าวความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นด้านหลัก ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังดุเดือดร้อนแรงใกล้ทะลักจุดแตกจากปัญหาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
เป็นความเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับข่าวที่ปรากฏผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกบางแขนงในพื้นที่ชายแดนใต้ก่อนหน้านี้ ว่าด้วยประเด็นทางการไทยส่งคำตอบ (เชิงตอบรับ) 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว และยังแถมให้อีก 2 ข้อ ขณะที่ นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโลใหม่ (แตกจากพูโลดั้งเดิม) ก็ประกาศท่าทีเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยครั้งต่อไป
จากการรวบรวมข้อมูลหลายแหล่ง พบว่าประเด็นต่างๆ ดังกล่าวบางประเด็นไม่ตรงกับรายงานของหน่วยงานความมั่นคงไทยนัก ขณะที่บางประเด็นก็ไม่ได้เป็นข่าวดีในแง่ความคืบหน้าของโต๊ะพูดคุยสันติภาพมากมาย เพราะแก่นของเรื่องก็ยังวนอยู่ตรงจุดเดิม
"ทีมข่าวอิศรา" ขอนำเสนอข้อมูลด้านอื่นๆ เพิ่มเติมดังนี้
1.การพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป (นับอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 4 ไม่นับวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่เป็นวันลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) ที่ว่าจะมีกลุ่มพูโลและบีไอพีพีเข้าร่วมด้วยนั้น ปรากฏอยู่ในเอกสารอธิบาย 5 ข้อเรียกร้อง ความยาว 38 หน้าที่อ้างว่าบีอาร์เอ็นส่งถึงรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.2556 อยู่แล้ว รวมทั้งประเด็นที่ว่าพูโลจะได้ที่นั่ง 2 ที่นั่ง บีไอพีพี 1 ที่นั่ง บีอาร์เอ็น 4 ที่นั่ง (รวมหัวหน้าคณะพูดคุย) ส่วนที่เหลือเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ [อ่านได้ใน แกะรอยเอกสาร BRN (ตอน 2) จัดทีมพูดคุยใหม่ – ยันไม่แยกดินแดน http://bit.ly/1dqSbsW ]
ทั้งหมดจึงเป็นการเตรียมการล่วงหน้า และเป็นการแสดงเจตนาของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐอยู่แล้ว ขณะที่ข่าวบางกระแสระบุว่าเอกสารชี้แจง 38 หน้ามาจากการจัดการของทางการมาเลเซีย ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นนอกจากบีอาร์เอ็นเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
2.พูโลซึ่งแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พูโลเก่า หรือพูโลดั้งเดิม 1 กลุ่ม กับพูโลใหม่ 2 กลุ่ม (นำโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา และนายซัมซูดิน คาน) ยังไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามการกล่าวอ้างของนายกัสตูรี เพราะอย่างน้อยกลุ่มของนายซัมซูดิน คาน (หรือซำซูดิง คาน) ก็น่าจะยังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในการพูดคุยครั้งหน้า และเจ้าตัวก็ไม่ได้เข้าพบปะหารือกับคณะของฝ่ายไทยที่นำโดยหน่วยพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเดินทางไปพบปะพูดคุยกับแกนนำผู้เห็นต่างจากรัฐที่ประเทศสวีเดนเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดมีข่าวยืนยันจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ประชา และ พล.ท.ภราดร เองว่า จะมีที่นั่งสำหรับพูโล 2 ที่นั่ง ซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่า "บาบอแซ" หรือ นายลุกมัน บิน ลิมา ตัวแทนพูโลเก่าที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยก่อนหน้านี้อยู่แล้ว นับเป็น 1 ที่นั่งแล้วหรือยัง ถ้ายัง...ก็เท่ากับว่ากลุ่มของนายกัสตูรี จะได้แค่ 1 ที่นั่ง โดยไม่มีตัวแทนของกลุ่มนายซัมซูดิน
3.ประเด็นความเป็นเอกภาพของพูโลยังคงถูกตั้งคำถาม และไม่มีความชัดเจนว่าการดึงพูโลกลุ่มนายกัสตูรี เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นเจตนาของทางการมาเลเซียและบีอาร์เอ็นหรือไม่ เพราะมีข่าวค่อนข้างต่อเนื่องว่า หน่วยงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นหน่วยที่ติดต่อประสานงานกับนายกัสตูรีโดยตรง และพยายามดึงเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ขณะที่บีอาร์เอ็นและพูโลกลุ่มอื่นๆ แสดงท่าทีปฏิเสธนายกัสตูรีมาตลอด
4.การดึงนายกัสตูรีเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย น่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกพอสมควร โดยเฉพาะการให้การยอมรับระหว่างกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบนโต๊ะพูดคุยเอง รวมทั้งบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งจากข้อมูลทางการยังยืนยันว่าเป็นของบีอาร์เอ็นอยู่
5.การเลื่อนกำหนดวันนัดพูดคุยจากเดือน พ.ย.เป็น ธ.ค. ไม่ได้เป็นความต้องการของฝ่ายรัฐบาลไทย แต่เป็นความต้องการของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ เหตุผลด้านหนึ่งเพื่อจัดทีมพูดคุยใหม่ให้ลงตัว
อย่างไรก็ดี มีเหตุผลอีกด้านหนึ่งระบุว่า เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบของกลุ่มผู้เห็นต่าง เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าสถานะของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง การเร่งรีบพูดคุยในช่วงนี้อาจเสียเปล่า โดยเฉพาะหากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภา หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากแรงเสียดทานเรื่องร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสถานะของ พล.ท.ภราดร ที่ศาลปกครองสูงสุดน่าจะมีคำสั่งเกี่ยวกับตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ของ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูกรัฐบาลชุดนี้เด้งออกไป และนายถวิลยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ได้ตัดสินให้นายถวิลเป็นฝ่ายชนะมาแล้ว กล่าวคือรัฐบาลสั่งย้ายนายถวิลโดยมิชอบ ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้นายถวิล ต่อมารัฐบาลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นยืนตามศาลปกครองกลาง ฉะนั้นโอกาสที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้นายถวิลชนะคดีมีสูง และจะกระทบกับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. (ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ) ของ พล.ท.ภราดร ไปโดยปริยาย
ขณะที่ นายถวิล แสดงจุดยืนมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยแบบ "เปิดหน้า" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐดังที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการอยู่
การทอดเวลานัดพูดคุยออกไป ดูเผินๆ เหมือนรัฐบาลไทยได้เปรียบ เพราะฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐจัดทีมไม่ลงตัว แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยประเมินว่าฝ่ายผู้เห็นต่างไม่ได้เสียเปรียบ ด้วยเหตุผลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล และสถานะของ พล.ท.ภราดร ดังกล่าว
6.ข่าวที่ว่าไทยรับ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นแล้ว หรือมีการแสดงท่าทีเชิงบวกต่อ 5 ข้อเรียกร้องนั้น หน่วยงานความมั่นคงไทยยืนยันว่าเป็นเพียงการ "รับข้อเรียกร้องไว้พิจารณา" โดยไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ เชิงตอบรับ ส่วนอีก 2 ข้อที่มีข่าวว่ารัฐบาลไทยแถมให้ จริงๆ แล้วเป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยที่ส่งกลับไปยังบีอาร์เอ็น ถือเป็นมาตรการเชิงรุกกลับไปบ้าง โดย 2 ข้อดังกล่าวได้แก่
- การเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนทุกศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยขอให้บีอาร์เอ็นจัดทำมาตรการดูแลประชาชนชาวไทยพุทธในพื้นที่
- การเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นขีดกรอบให้ชัดเรื่องความไม่เป็นธรรมที่อ้างว่าตนเองได้รับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ไม่ใช่พูดคลุมไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะอิสระในการนับถือศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจ และการดำรงอัตลักษณ์ พร้อมขอให้บีอาร์เอ็นเสนอแนวทางการพัฒนาร่วมกัน เช่น การพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
7.การพูดคุยผ่านช่องทางลับอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Track 2 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านหน่วยงานด้านการพัฒนาชายแดนใต้ และฝ่ายทหารที่มีสายสัมพันธ์กับแกนนำผู้เห็นต่างจากรัฐบางปีก รวมทั้งองค์กรวิชาการที่ยังคงเดินหน้าพูดคุยเป็นระยะ
อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการพูดคุยแต่ละช่องทางยังคงแตกต่างกัน โดยฝ่ายทหารต้องการผลเชิงยุทธวิธีเพื่อลดอำนาจต่อรองของกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่หน่วยงานด้านการพัฒนาและองค์กรวิชาการพยายามปูทางเรื่องตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ให้เป็นคำตอบสุดท้ายของการหยุดยิงและสร้างสันติสุขที่ชายแดนใต้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดาโต๊ะซัมซามิน เมื่อครั้งเปิดแถลงข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นว่าจะลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนและหลังจากนั้น รวมเวลา 40 วัน แถลงเมื่อ 12 ก.ค.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย