มวลชนชายแดนใต้ฮือต้าน "ล้างผิดเหมาเข่ง" หวั่นรวมตากใบกระทบจิตใจพี่น้องมุสลิม
กระแสต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... หรือที่เรียกกันว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย" นั้น ลุกลามลงไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม้จะยังต้องอดทนกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน แต่ก็ยังไม่วายออกมาแสดงพลังต้านกฎหมายที่พวกเขาเชื่อว่าจะส่งผล "ล้างผิดแบบเหมาเข่ง"
การเคลื่อนไหวต่อต้านประเดิมที่ จ.ปัตตานี มีกลุ่มพลังมวลชนออกมาเคลื่อนไหวก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อเหลือง จากนั้นวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. "ประชาคม ม.อ.ปัตตานี รักประชาธิปไตย" ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และแสดงพลังที่บริเวณลานพระบรมรูปพระบิดา หน้าตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ทั้งนี้ กลุ่มประชมคม ม.อ.ปัตตานี รักประชาธิปไตยเห็นว่า เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยของสังคม จึงขอเรียกร้องและสนับสนุนให้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ และขอเรียกร้องให้วุฒิสภาทำหน้าที่อย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วย
ยะลาชุมนุมต้านล้างผิดเหมาเข่ง
วันเดียวกันนั้น ที่ จ.ยะลา กลุ่มหน้ากากขาวยะลา กลุ่มกองทัพประชาชน กลุ่มกองทัพนิรนาม กองทัพของพระราชา กลุ่มรักประเทศไทย กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และ กลุ่มไม่เอาระบอบทักษิณ จำนวนกว่า 200 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าร้าน 07 คัลเลอร์แล็บ ถนนปิติตัดกับถนนรวมมิตร ในเขตเทศบาลนครยะลา เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และต่อต้านการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทั้งนี้ ผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมได้เขียนป้ายข้อความระบุว่า "บ้านนี้...ขอคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและทุจริตคอร์รัปชั่น" พร้อมถือธงชาติโบกสะบัดไปมา บางรายก็เป่านกหวีด (สัญลักษณ์ให้หยุดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) และแจกเอกสารคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ให้กับประชาชนทั่วไปที่สัญจรผ่านไปมาด้วย ขณะเดียวกันก็ปราศรัยเรียกร้องให้ชาวยะลาทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา ออกมาต่อต้านและเดินทางไปร่วมชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ
หลังการรวมตัวได้ไม่นาน กลุ่มนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ตามไปสมทบ จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายรวมมิตร เพื่อเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติร่วมกัน แล้วจึงสลายตัว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสารักษาดินแดน (อส.) คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
แนะล้างหนี้ให้ชาวบ้านดีกว่าล้างผิดนักการเมือง
ผู้ชุมนุมรายหนึ่งเผยว่า หลายคนที่มาร่วมแสดงพลังเห็นพ้องกันว่า จะเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อประชาชน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.กฎหมายล้างหนี้ให้กับประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความยากจน ส่วนนักการเมืองเป็นคนส่วนน้อย แต่กลับร่ำรวยมหาศาลเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉะนั้นควรล้างหนี้ให้ประชาชนดีกว่ากู้ให้นักการเมืองโกง
2.กฎหมายกระจายหุ้น ปตท.ให้ประชาชน โดยกระจายหุ้นให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหุ้น ปตท.เสมือนถูกปล้นไปจากประชาชน มีนักการเมืองไม่กี่ตระกูลถือหุ้นจำนวนมากในมือ แล้วก็มาขายน้ำมันกับก๊าซแพงๆ ให้ประชาชน ส่วนกฎหมายล้างคนผิดแบบเหมาเข่งนั้น คนไทยไม่เอาด้วย เพราะจะล้างผิดให้กับกลุ่มที่ฆ่าคน เผาบ้านเผาเมือง และทุจริตคอร์รัปชั่น
หวั่นรวม "ตากใบ" กระทบใจพี่น้องมุสลิม
นายสมภพ สุดนรานนท์ ผู้บุกเบิกเสื้อยืด "คนยะลาไม่เอาระเบิด" ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมด้วย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และทนไม่ไหวกับการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ออกมาแสดงพลังโดยไม่มีการเมืองหนุนหลัง ไม่มีเรื่องสีเสื้อ ฉะนั้นหากรัฐบาลยังดื้อดึงหรือพยายามงัดข้อกับประชาชนก็คงจะสู้ไม่ไหว เพราะแม้แต่คนเสื้อแดงเองก็ไม่เอาด้วย
"คำว่านิรโทษกรรม รัฐนำมาใช้ผิดที่ผิดเวลา ในความรู้สึกของผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคนทำผิดก็ควรได้รับโทษ หากเป็นอย่างนี้ก็จะยกทุกอย่างหมด ถือว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และจะกระทบกับเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะย้อนนิรโทษไปถึงปี 2547 โดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบ เป็นเรื่องที่กระทบจิตใจพี่น้องชาวไทยมุสลิมเป็นอย่างมาก" นายสมภพกล่าว
เบตง-ร้านน้ำชาวิจารณ์แซ่ด
ส่วนบรรยากาศตามร้านอาหารและร้านกาแฟในเขตเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา อำเภอใต้สุดแดนสยามนั้น ประชาชนล้วนให้ความสนใจและเกาะติดข่าวคราวความเคลื่อนไหวการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จากสื่อแขนงต่างๆ อย่างใกล้ชิด หลายคนแสดงความรู้สึกว่าเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมือง อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้สติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าก้าวออกจากความขัดแย้งต่อไป
นายเอกสิทธิ์ ธารีลาภรักษา ชาวอำเภอเบตง กล่าวว่า ขณะนี้ชมรมคนรักษ์เบตง และกลุ่มเพื่อน ว.ส.26/29 (โรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน) รวมถึงสมาชิกเครือข่ายเฟซบุ๊คชาวเบตง พร้อมใจกันเปลี่ยนภาพประจำตัวเป็นสัญลักษณ์คัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ พร้อมนัดรวมกลุ่มแสดงพลัง "ใต้สุดด้ามขวานไทย คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ในวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น. ที่ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองเบตง เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคี ความรักชาติบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับวงพูดคุยตามร้านน้ำชาของพี่น้องมุสลิมที่อยู่นอกเขตเทศบาลในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เช่นกัน ถือเป็นประเด็นที่ชาวบ้านให้ความสนใจไม่น้อยทีเดียว
ใต้ป่วนวางวัตถุต้องสงสัย 3 จุดนราฯ-ตากใบ
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดวันอังคารที่ 5 พ.ย.2556 ยังคงมีเหตุป่วนต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่รับแจ้งพบวัตถุต้องสงสัย 3 จุดบนทางหลวงหมายเลข 4084 จาก อ.เมืองนราธิวาส มุ่งหน้า อ.ตากใบ
จุดแรก ห่างจากแยกสะปอม 500 เมตร เป็นร่องรอยการขุดดิน แต่ไม่มีวัตถุระเบิดหรือวัสดุอื่นใด
จุดที่ 2 บนสะพานข้ามคลอง พบกระสอบป่านสีขาว ภายในมีแท่งปูน วางทิ้งไว้ข้างถนน โดยกระสอบวางอยู่ใกล้เสาไฟ มีกระป๋องปลากระป๋องแขวนไว้ และมีนาฬิกาผูกติดอยู่ ตรวจสอบพบเป็นระเบิดปลอม แต่ด้านล่างมีกับระเบิดแบบเหยียบ คาดว่าวางไว้เพื่อดักทำร้ายเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรืออีโอดี
จุดที่ 3 ก่อนถึงโรงเรียนไพรวัน (อ.ตากใบ) ประมาณ 500เมตร มีถุงขยะต้องสงสัยวางอยู่ ตรวจสอบแล้วไม่มีวัตถุระเบิดซุกซ่อนภายใน
นอกจากนั้นในพื้นที่ อ.เมืองนราธิวาส ยังมีความพยายามเผาธงชาติไทยที่ติดอยู่หน้าธนาคารแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มวลชนต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชุมนุมกันบริเวณย่านการค้า ในเขตเทศบาลนครยะลา
2-3 บรรยากาศตื่นตัวที่ อ.เบตง ใต้สุดแดนสยาม (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)