นิรโทษฯ เหมาเข่ง กับคำถามจากคนที่ไม่ได้นามสกุล “ชินวัตร”
“...คุณทรยศประชาชนที่เลือกเข้ามา เขาตั้งความหวังเรื่องความยุติธรรม สุดท้ายคุณหักหลังเขา แล้วจะมาบังคับให้ลืม ถ้าเกิดคนที่ตายมีตระกูลชินวัตร จะยอมกลืนเลือดหรือไม่...”
เพียง 1 วัน จากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้ ครอบครัวญาติวีรชนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวน 27 ครอบครัว เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง กระทั่งผู้นำประเทศสะอื้นไห้ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อ ที่มีการเอ่ยคำว่า “ให้อภัย” ครั้งแล้ว-ครั้งเล่า
ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ญาติวีรชนปี 2553 อีกกลุ่มที่นำโดย พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาต อาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามระหว่างสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 หรือ ก็เข้าร่วมเวทีสัมมนา “นิรโทษกรรมเหมาเข่งเพื่อไทย? นิรโทษกรรมเหมาเข่งเพื่อใคร?” ที่จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อพูดถึงความไม่ชอบมาพากลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ผู้ร่วมเวทีคนอื่นๆ ทั้ง สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะอดีตกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์
แม้การสัมมนานี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาพร้อม ส.ว.เลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ประกาศว่าจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในการพิจารณาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นี้ก็ตาม
ทว่าเนื้อหาการคัดค้านนิรโทษฯเหมาเข่ง-สุดซอย บน “เวทีคอกวัว” นี้ก็ยังคงความเข้มข้น และน่าสนใจ
โดยเฉพาะคำถาม จากคนที่ไม่ได้มีนามสกุล “ชินวัตร” ถึงคนนามสกุล “ชินวัตร”
ขอเชิญติดตาม…
-----
พะเยาว์ อัคฮาด
ดิฉันออกมาคัดค้านในฐานะกลุ่มญาติผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับออกมาพูดว่า ต้องให้พวกเรากลืนเลือด ให้ลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไป ขอยืนยันเลยว่า จะไม่ยอมกลืนเลือดของลูกเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เสียแรงที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ความยุติธรรมต่อการตายของประชาชนตั้งแต่ปี 53
คุณทรยศประชาชนที่เลือกเข้ามา เขาตั้งความหวังเรื่องความยุติธรรม สุดท้ายคุณหักหลังเขา แล้วจะมาบังคับให้ลืม ถ้าเกิดคนที่ตายมีตระกูลชินวัตร จะยอมกลืนเลือดหรือไม่
ตกลง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทำเพื่อใครกันแน่ ขณะที่ประชาชนซึ่งถูกจองจำในคุกต่างออกมาห้ามปรามดิฉัน เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ออกจากคุกนั้น ขอบอกเลยว่าจริงๆ เขาควรจะออกมาได้ตั้งนานแล้ว ทำไมต้องเอาพวกเขาไปเป็นเหยื่อ เป็นตัวประกันด้วย
รัฐบาลชุดนี้คุณจะยกโทษให้หมดเลยเหรอ เท่ากับว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) สั่งฆ่าประชาชน แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) กลับขุดหลุมฝังคนตาย แล้วอ้างวีรชน ขอบอกเลยว่าลูกดิฉันที่ตายไม่อยากได้คำว่าวีรชน
หลายเรื่องที่รัฐบาลหลอกประชาชน เช่น เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ที่รัฐบาลกำลังล่ารายชื่อ เพื่อไปลงนาม อยากบอกว่าแค่ รมว.ต่างประเทศ หรือ รมว.ยุติธรรม หรือแม้แต่นายกฯ เองก็สามารถลงได้ ทำไมถึงไม่ทำ
เรื่องสำคัญที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัยกลับไม่ทำ แต่กลับทำเรื่องที่ประชาชนไม่รู้ อย่างเรื่องพาสปอร์ตของคุณทักษิณ คุณทำเองโดยไม่มีใครใช้ ตกลงคุณไม่กล้ารับใช้ประชาชนใช่หรือไม่
สมชาย หอมลออ
กระบวนการการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่โปร่งใส เปรียบเสมือนการมัดมือชก และใช่วิธีการรวบรัดในการผ่านกฎหมายในวาระ 2 และ 3 ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงข้างมากย่อมได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาล แต่ในระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วย ซึ่งเสียงข้างน้อยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่หมายถึงเสียงของคนในสังคมด้วย
การผ่านกฎหมายอย่างรวบรัดและไร้เหตุผลนั้น ได้สร้างประชามติที่เมื่อก่อนอาจไม่เคยสนใจเรื่องนี้ แต่พอทราบเรื่องก็รู้สึกตกใจและโกรธ ซึ่งบางกลุ่มถึงขั้นไปเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก หรือยุบสภาด้วยซ้ำ
เนื้อหาใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังไม่ถูกต้อง เพราะการนิรโทษกรรมนั้น ต้องคำนึงอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และต้องไปสู่การปรองดองจริงๆ และการอภัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อน ตามข้อเสนอของ คอป. ก็พูดถึงการนิรโทษกรรมว่า ควรจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ เนื่องจากต้องเกิดขึ้นหลังความปรองดอง และคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ที่กระทำความผิดสมควรได้รับการอภัย
และแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะอ้างเรื่องเมตตาธรรมก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีกระบวนการปรองดองเกิดขึ้นเสียก่อน
สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำคือคิดว่าเงินสามารถซื้อทุกสิ่งได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะปัญหาจริงๆ คือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์สั่งปราบประชาชนขึ้นมาอีก ทำอย่างจะต้องให้เกิดกฎระเบียบที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถใช้ทหารเข้ามาควบคุมฝูงชนได้อีก ซึ่งรัฐบาลจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจ ให้ประโยชน์ต่อพรรคพวกหรือรัฐบาลตัวเองเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงประเทศชาติเลย
ผมจึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาล 2 ข้อ
1. จะต้องไม่เหมาเข่งความผิดร้ายแรง เช่น บุคคลที่บาดเจ็บหรือล้มตายจากการกระทำของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และผู้นำที่มีส่วนในการสังหาร แต่สิ่งที่ควรได้รับนิรโทษกรรมคือความผิดทางเทคนิค เช่น การละเมิดคำสั่ง ศอฉ. การชุมนุมขัดขวางการจราจร หรือแม้แต่ความผิดเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ควรจะต้องพิจารณาเช่นกัน
และ 2.กระบวนการนิรโทษกรรมควรจะทอดเวลาไว้ ให้มีเงื่อนไขต่างๆ กัน เช่น เงื่อนไขในการเยียวยาว ในการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง ปรับปรุงโครงสร้างบทบาทของกองทัพหรือพรรคการเมือง เป็นต้น
สุณัย ผาสุข
สิ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์คัดค้านอย่างชัดแจ้งต่อรัฐบาล ก็คือการใช้ข้ออ้างเอากฎหมายอาญามาคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ยิงคนไม่มีทางสู้ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งตามหลักการสากลนั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่สามารถนำมาปกป้องการไม่รับผิดชอบต่อการฆ่าประชาชนได้
รัฐบาลกำลังตระบัดสัตย์ทรยศมวลชนที่สนับสนุนตนเอง ที่บาดเจ็บล้มตายในนามของรัฐบาลเพื่อไทย (พท.) และเป็นการทรยศต่อพันธกิจกรณีที่มีต่อกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เราเห็นคุณทักษิณ ชินวัตร พูดกับคุณพะเยาว์ตรงๆ เลยว่า คุณแม่ให้ผมเดินหน้าได้ไหม พอคุณพะเยาว์ไม่ยอม คุณทักษิณก็ให้สัมภาษณ์ไปว่า คุณพะเยาว์เป็นคนเจ็บแค้นกับเรื่องที่ลูกตนเองเสียชีวิต ไม่ได้คิดถึงภาพรวมประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป นั่นถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ารัฐบาลพร้อมจับมือเกี๊ยเซี๊ยกับฆาตกร เป็นการเล่นละครหลายฉากหลายตอนมาตั้งแต่ต้น
ถามว่าถ้ากังวลเรื่องมวลชนที่ติดคุกจริง ๆ ก็ควรจะช่วยเหลือคนเหล่านั้นตั้งแต่ปีแรก แต่ทำไมรอมาถึง 2 ปีกว่า แสดงว่าเอาคนเหล่านั้นเป็นตัวประกัน เอาคนเหล่านั้นเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมใช่หรือไม่
ผมยังมีข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 2 ข้อ
1.กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง แต่ทำไมตีความกว้างไปถึงคดีคอร์รัปชั่นได้
2.มันเกินเลยไปจากการรับหลักการวาระที่ 1 ของสภาเอง ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่มีคณะกรรมการชุดไหนกล้าละเมิดกฎระเบียบรัฐสภาแบบหน้าด้านอย่างนี้ ซึ่งมันผิดแบบเห็นได้ชัด แต่นักการเมืองก็ยังผลักดันจนได้
นี่คือการตอกย้ำอีกครั้งต่อการไม่เคารพ ไม่แยแสใดๆ ต่อหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การเคารพความยุติธรรม การเคารพสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับคนไทย ย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเลี่ยงไม่ได้ว่านี่เป็นอุบัติเหตุ แต่เป็นสันดานที่จะทำเยี่ยงนี้
ผมรู้สึกสะเทือนใจกับคำแถลงการณ์ของนายกฯ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปิดแถลงข่าวด่วนเรื่องจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันเดียวกัน) และถ้ารัฐบาลคิดแบบนั้นแสดงว่ากำลังเดินบนกองซากศพ และที่น่าตกใจคือซากศพเหล่านั้นเป็นมิตรรักของรัฐบาล ยอมออกมาต่อสู้และตายแทนรัฐบาล ถ้าไม่เรียกว่าอำมหิตก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว
สถานการณ์ตอนนี้น่ากังวลอยู่ 3 เรื่องคือ
1.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นระเบิดเวลา โดยสาระของกฎหมายฉบับนี้จะทำลายหลักนิติรัฐ การเคารพความยุติธรรม ทั้งกฎหมายไทยและต่างประเทศ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้สังคมไทยว่า ฆ่าไปเถิอ เดี๋ยวนิรโทษกรรมให้ หลังจากนั้นกฎหมายก็ตาย แล้วเราก็เหยียบย่ำศพคนตายกันต่อไป
2. กฎหมายฉบับนี้บอกว่าจะสร้างความสมานฉันท์ ตอนนี้เห็นความสมานฉันท์หรือไม่
3.มีการเลือกตราหน้าปะยี่ห้อแต่ละฝ่ายเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็ตราหน้าคนคัดค้านว่าล้มรัฐบาล ฝ่ายคัดค้านก็ตราหน้ารัฐบาลว่าลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นกัน พูดง่ายๆ ตอนนี้เตรียมลับมีดกันแล้ว หลังจากนั้นก็คงจะจ่อคอ แล้วซุ่มแทงกัน
ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์การเมือง ในการผลักดันเหมาเข่งครั้งนี้ มันจึงเป็นพันธกิจที่ต้องทำโดยเร็วที่สุด สิ่งทีเห็นเฉพาะหน้าคือ วุฒิสภา เป็นด่านที่สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทยได้ โดยการคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
-----
ภาพประกอบ - พะเยาว์ อัคฮาค (ที่ 3 จากขวา) ครั้งเข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ซ้ายสุด) เพื่อขอให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาติวีรชน เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ภาพจากแฟนเพจ Yingluck Shinawatra