จุฬาฯ แสดงพลังชุมนุมต้านกฎหมายนิรโทษฯ
“เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม” รวลพลคนจุฬาฯ เดินขบวนประกาศจุดยืนต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายเสียงเชื่อกฎหมายนี้ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 16.00 น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล คณะผู้บริหารจุฬาฯ นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน ในนามเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม มารวมตัวกัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระ 3 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อธิการบดีจุฬาฯ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตามด้วยตัวแทนองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ อ่านแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จนกระทั่งเวลา 17.00 น. มีการเคลื่อนขบวนออกจากจุฬาฯ ไปยังหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์ประชาชนร่วมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศตลอดเส้นทางการชุมนุม มีการชูป้ายคัดค้าน และเป่านกหวีด เพื่อเป็นสัญลักษณ์คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นำรถที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาร่วมขบวน จากนั้นเมื่อขบวนเดินทางถึงหน้าหอศิลป์ฯ มีการร่วมกันอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนของเครือข่ายฯ โดยมีบุคคลสำคัญร่วมอ่านแถลงการณ์ด้วย อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัฒนชัย สมิทธากร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะอาจารย์ที่เข้าร่วมการชุมนุม กล่าวว่า ตนได้ติดตามข่าวสารพ.ร.บ.นี้มาโดยตลอด ซึ่งตนคัดค้านในประเด็นการนิรโทษให้กับนักโทษการเมืองทุกคน ซึ่งมีความคลุมเครืออยู่มาก รวมถึงการที่กฎหมายจะมีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารปี 2549 เพราะเชื่อว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์พวกพ้องมากกว่า และหากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านออกมาได้จะสร้างปัญหาในการตีความและบังคับใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ส่วนนางภาวิณี ธีระสวัสดิ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้ติดตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตั้งแต่รัฐบาลนี้ขึ้นมาบริหารประเทศ กล่าวว่า ซึ่งตนเห็นด้วยกับร่างเดิมที่ผ่านวาระ 1 เพราะเป็นการนิรโทษเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ที่ไม่เห็นด้วยกับฉบับที่ผ่านวาระ 3 นี้ เพราะมีการแปรญัตติให้มีการนิรโทษกรรมในคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว การมาร่วมชุมนุมในวันนี้เพราะต้องการให้รัฐบาลเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนต้องการ
ขณะที่นายฐนกร เจริญสุข นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากที่ร่างของนายวรชัย เหมะ เข้าสภาฯ แล้วก็ติดตามมาโดยตลอด พอทราบว่ามีการแปรญัติให้มีการนิรโทษให้แกนนำและนักการเมืองด้วย เกรงว่าจะเป็นการนำผลของการนิรโทษมาใช้เพื่อผลประโยชน์พรรคพวก อีกทั้งยังมีการนิรโทษคดีความสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีการยึดทรัพย์ด้วย ดูเป็นการไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการเอาเหตุผลโดยรวมมาเป็นข้ออ้างในการทำเพื่อประโยชน์พวกพ้องเห็นชัดเจนจากการคืนเงินที่ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ไปแล้ว
"คาดว่าถ้ารัฐบาลยังดันทุรังอาจจะต้านยาก และเชื่อว่ามวลชนที่มาในวันนี้จะมีส่วนทำให้ยุติและกลับไปทวบทวนใหม่ แต่ก็คงไม่หยุดอยู่ดี" นายฐนกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ยังมีนิสิตที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมของจุฬาฯ โดยนายชนินทร ใหม่อุด ให้เหตุผลว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งฉบับ แต่ไม่เข้าร่วม เพราะเหตุผลในการต่อต้านไม่แสดงความชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านในประเด็นไหน
"พ.ร.บ. นี้มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการนิรโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ บางคนก็ต่อต้านเพราะไม่มีการนิรโทษนักโทษมาตรา 112 หรือต่อต้านว่ากลัวบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปที่คนทำผิดก็ถูกอภัยโทษ ซึ่งคนทำผิดก็ต้องยอมรับผิด โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะล้างผิดในคดีที่มีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่มีประชาชนเสียชีวิต ทั้งผู้สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหา รรวมถึงแกนนำทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง แกนนำของรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการ ควรนิรโทษให้แค่ประชาชนที่มาร่วมเฉยๆ ผมเห็นด้วยกับฉบับนายวรชัย เหมะ แต่ร่างนั้นก็ควรมีการเพิ่มกรณีความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย"