สธ. โชว์ชุดทดสอบสารรมควันตกค้าง รู้ผลเร็ว ใน 20 นาที
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมให้ความรู้วิธีการรมควันข้าวสารให้ได้คุณภาพมาตรฐานปลอดภัย ไร้ปัญหาตกค้าง พร้อมปิดตัวชุดตรวจสอบสารฟอสฟีนที่ใช้รมควันข้าวสารชุดแรกของไทย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้ประกอบการผลิตข้าวสารถุง โรงสีข้าวทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตร (อ.ต.ก.) กรมวิชาการเกษตร สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมควบคุมโรค ประมาณ 100 คน เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายข้าวสาร เรื่องสารพิษตกค้างในข้าวและวิธีการรมควันข้าวสารที่ถูกต้อง ปลอดภัย ยกมาตรฐานข้าวสารไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก สร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทุกคน และส่งเสริมการส่งออกข้าวสารไทยสามารถแข่งขันตลาดโลกได้ พร้อมทั้งมอบชุดทดสอบสารรมควันชนิดฟอสฟีน ให้ผู้ประกอบการจำนวน 100 ชุด
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า หลังจากมีปัญหาการตรวจพบสารที่ใช้รมควันเพื่อป้องกันมอดและแมลง ตกค้างในข้าวสารตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของข้าวสารไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคชาวไทย และสร้างการยอมรับระดับโลก โดยมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีกรรมวิธีผลิตที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายข้าวสารทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายคือประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 361 พ.ศ.2556 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 และมีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ได้กำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residues Limit : MRL) ในข้าวสารทั้งข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ดังนี้
1.สารไฮโดรเจนฟอสไฟด์ (Hydrogen Phosphide)ตกค้างได้ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
2.สารเมทิลโบร์ไมด์ (Methyl Bromide) ตกค้างได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
3.สารโบรไมด์ ไอออน (Bromide Ion) ตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
และ4.สารซัลฟิวริล ฟูลออไรด์ (Sulfuryl Fluoride) ตกค้างได้มีเกิน 0.1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ด้านนายแพทย์นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตข้าวสารให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และมีเครื่องมือทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เบื้องต้นหลังจากผลิตก่อนที่จะส่งออกท้องตลาด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดน้ำยาทดสอบหาสารไฮโดรเจนฟอสไฟด์หรือสารฟอสฟีน ที่นิยมใช้รมควันป้องกันมอดหรือแมลงในข้าวสารที่ใช้บ่อย โดยสารนี้มียอดการนำเข้าในปี 2555สูงกว่าสารเมทิล โบรไมด์ถึง 3 เท่าตัว เพื่อใช้เป็นชุดตรวจในภาคสนามอย่างง่ายชุดแรกของประเทศ และรู้ผลเร็วเพียง 20 นาที ให้ผลแม่นยำใกล้เคียงกับผลตรวจในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ตรวจสอบสารฟอสฟีนได้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ในการพัฒนาระบบการผลิตและป้องกันสารรมควันตกค้างเกินค่ามาตรฐานปลอดภัยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น รวมทั้งพ่อค้าข้าวสารก็สามารถนำชุดทดสอบนี้ไปใช้ตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยข้าวสารก่อนซื้อจากผู้ผลิต เป็นการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับภาครัฐได้เช่นกัน โดยใช้เวลาพัฒนา 2-3 เดือน
ชุดทดสอบดังกล่าวประกอบด้วยขวดแก้วทรงลูกชมพู่ หลอดตวงขนาด 20 ซี.ซี. แถบกระดาษและน้ำยาทดสอบสารฟอสฟีนซึ่งกำหนดค่าไว้ที่ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ขั้นตอนการใช้ไม่ยุ่งยาก โดยนำข้าวสาร 25 กรัมบรรจุลงในขวดแก้ว หยดน้ำยาที่เตรียมไว้จำนวน 20 ซี.ซี.ลงไปในข้าว และใส่เม็ดสังกะสีลงไป 2 เม็ด เพื่อใช้เร่งให้เกิดปฏิกิริยา จากนั้นให้เตรียมแถบกระดาษกรองพิเศษ และจุ่มน้ำยาทดสอบสารฟอสฟีน แล้วนำมาวางที่ปากขวด เพื่อตรวจไอระเหยจากข้าวในขวด ทิ้งไว้ 20 นาที หากปลายกระดาษกรองเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลเข้ม แสดงว่ามีสารรมควันตกค้าง ใช้บ่งบอกความปลอดภัยในขั้นต้นได้อย่างดีและรู้เร็ว ส่วนจะรู้ละเอียดว่าตกค้างเท่าไรต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,100 บาท ซึ่งชุดทดสอบ 1 ชุด จะสามารถใช้ตรวจได้ 5 ครั้ง
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับอย.เฝ้าระวังความปลอดภัยข้าวสาร โดยสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวสาร ทั้งข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวซ้อมมือ บรรจุขายในถุงสำเร็จและบรรจุกระสอบแบ่งขาย ที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านปลีกในเขตกรุงเทพและปริมณฑลตรวจอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ครั้งละ 25-30 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่า ยังมีการตกค้างของสารรมควันคือสารฟอสฟีน เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดอยู่บ้าง โดยตรวจพบ 6 รายการใน 103 รายการ ซึ่งระดับที่พบยังห่างไกลกับการเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมาก มั่นใจว่าหลังจากผู้ประกอบการผ่านอบรมไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะลดลงอีก