3 ปราชญ์ ปาถกฐา เพราะการศึกษา “คือรากฐานแห่งชีวิต”
ท่ามกลางปัญหานโยบาย "การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7 พันแห่ง" ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ร่วมปาถกฐาว่าด้วยการศึกษาเพื่อรากหญ้าแข็งแรง-สังคมเข้มแข็ง ในงานซึ่งจัดโดยสภาการศึกษาทางเลือกเมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอ…
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส
“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ การศึกษาที่ดีจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาชีวิตในทุกๆด้าน และการศึกษาที่ดีนั้นจะต้องมีการบูรณาการทั้ง 8 ประการร่วมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย"
โลกกำลังเกิดวิกฤติการใหญ่ คือวิฤติทางอารยธรรม เกิดปัญหาการอยู่ร่วมกันทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กับธรรมชาติ อารยธรรมตะวันตกที่เพิ่งเกิดไม่นานนี้ ทำให้เกิดวิฤติการณ์ทางสังคม เพราะการพัฒนาต่างๆมุ่งเน้นแต่คิดเรื่องเงิน ดังนั้นเราต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ สร้างวิธีคิดใหม่โดยเฉพาะเรื่องการอยู่ร่วมกัน
ระบบการศึกษาไทย เกิดขึ้นในสมัย ร. 5 ซึ่งเป็นลักษณะการเรียนรู้แบบท่องจำตำราจากตะวันตก ต่างไปจากอดีตที่เคยเรียนรู้จากฐานชีวิตและการอยู่ร่วมกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด "การไม่มีกระทรวงศึกษาไม่ได้แปลว่าไม่มีการศึกษา"
ปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบันมีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ หนึ่ง เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน โดยมองว่า ชีวิตอย่างหนึ่ง ส่วนการศึกษาอีกอย่างหนึ่ง สอง ระบบราชการที่เป็นการควบคุมส่วนการศึกษาที่เป็นความเจริญงอกงาม มันขัดแย้งกัน เหมือนการศึกษาถูกจำกัดการเจริญเติบโตเอาไว้ มันต้องปล่อยออกจากกระถาง เพื่อเติบโตข้างนอก บนความหลากหลายตามธรรมชาติของผู้คน ชุมชนในท้องถิ่น
โครงสร้างการศึกษาไทย รวบยอดความคิดจากบนลงล่าง ไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะการไล่ต้อนคนจากชุมชนเข้ามาเรียนประถมเพื่อมุ่งสู่มัธยมสู่อุดมศึกษา แล้วกลายเป็นคนเคว้งคว้างในสังคมเหมือนมนุษย์ประหลาดไม่เต็มคน ซึ่งการศึกษาที่ดีควรสร้างจากข้างล่างขึ้นมา คือชุมชนท้องถิ่น
ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ ขาดความเป็นธรรมมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้าอำนาจกระจายสู่ท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองทุกเรื่อง แต่ก่อนที่จะมีรัฐบาล ชุมชนจัดการตนเองอยู่แล้ว พอรัฐมีอำนาจ ก็มาบอกว่าทรัพยากรเป็นของรัฐและเข้าไปจัดการ เกิดกรมที่ดิน กรมป่าไม้ ฯลฯ แย่งชิงอำนาจจากชุมชนมาเป็นอำนาจรวมศูนย์ ก่อให้เกิดหายนะอย่างน้อย 5 ประการ คือ หนึ่ง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ นับว่าเป็นการทำให้ฐานของชาติอ่อนแอด้วย สองทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายนำไปสู่ความรุนแรง สาม ทำให้ระบบราชการอ่อนแอ สี่ ปัญหาคอรัปชั่น ถ้ามีการกระจายอำนาจประชาชนจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ และควบคุมใกล้ชิด ห้า ทำให้เกิดการรัฐประหารได้ง่าย หากเป็นศูนย์อำนาจเดียวอาจโดนยึดได้ง่ายกว่าการกระจายอำนาจที่ไม่รู้จะไปยึดกับใคร
กระทรวงการศึกษาควรคืนการศึกษาให้ท้องถิ่น และเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากการใช้อำนาจควบคุมเป็นสนับสนุนเชิงนโยบายและวิชาการ ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ชุมชนต้องสามารถจัดการการศึกษาที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งทุกทาง ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาโดยชุมชนเพื่อชุมชน
หลักการเรียนรู้โดยสรุปมี 3 องค์ประกอบ วัฒนธรรม กระบวนการวิทยาศาสตร์ จิตตปัญญา เพื่อนำไปสู่การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ คือไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง คนอื่นและสังคม เป็นบ่อเกิดสังคมร่มเย็นเป็นสุข
ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา
“การยุบโรงเรียน ไม่ใช่หน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นดุลพินิจของประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะประวัติศาสตร์การศึกษาไทยนั้นโรงเรียนประชาบาลที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศให้ลูกหลานได้เรียนนั้น เกิดจากน้ำพักน้ำแรงประชาชนที่เห็นคุณค่าการศึกษา อดีตการเรียนการสอนไม่ได้มุ่งเน้นหนังสืออย่างเดียว แต่สอนวิชาที่เป็นรากเหง้าและการดำรงชีวิต มีครูที่มีความรู้ในสาขานั้นมารวมตัวกันอบรมสั่งสอนเด็ก แต่สมัยนี้กระแสโลกตะวันตกเข้ามามาก เราหลงลืมรากเหง้าและความเป็นตัวของเรา”
โรงเรียนขนาดเล็กถูกประเมินว่าด้อยคุณภาพ บริหารจัดการยาก ไม่เหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งโรงเรียนสมัยนี้ถูกครอบงำด้วยระบบการเรียนแบบเมืองนอก การเป็นตัวเองหรือรากเหง้าจากบรรพบุรุษไม่มีจากในเมือง แต่เรายังสามารถฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ได้ ยังดีที่กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มเนื้อหาการเรียนรู้ให้เด็กเรียนในท้องถิ่น 30 เปอร์เซ็นต์ได้เรียนรู้จากวิถีชุมชน และน่าจะทำให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
การที่จะยุบโรงเรียนเล็กมาควบรวมกับโรงเรียนใหญ่หรือไม่นั้น น่าจะทดลองสิ่งเหล่านี้ก่อน สัก 5 ปี 10 ปี เช่น ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กมีครูแค่ 2-3 เราควรจะเพิ่มครู อย่าเอาจำนวนเด็กเป็นเกณฑ์ ควรเพิ่มอุปกรณ์ให้ เพิ่มความรู้ให้ครูผู้สอนในด้านต่างๆไปถ่ายทอดเด็ก
การศึกษาต้องไม่ผูกขาดกับครูแค่ 2-3 คน ต้องเชิญคนที่มีความรู้ในท้องถิ่นมาสอน พระสงฆ์ผู้รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชาวนาผู้รู้เรื่องการทำเกษตร อาหาร ปุ๋ย เราจะผลิตเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียวหรือ ในขณะที่โลกกำลังขาดแคลนอาหาร เราต้องผลิตอาหารคนจากลูกหลานที่ทำเกษตรกรรมเป็น
เรารับวัฒนธรรมตะวันตกมากจนเกินจนลืมตัวเอง เด็กสมัยนี้อ่านหนังสือไม่เป็นและไม่ชอบอ่าน ไม่สามารถใช้วิจารณญานได้ โรงเรียนต้องสอนให้รู้จักคิดรู้จักเลือกรู้จักทำ เราต้องผนึกกำลังกันให้โรงเรียนมีคุณภาพ สร้างสรรค์คนดี ขยันหมั่นเพียรใฝ่รู้ และทำให้ครูบาอาจารย์และโรงเรียนเป็นแหล่งส่องสว่างโซติช่วง ดังนั้นโรงเรียนขนาดเล็กจึงไม่ควรยุบทิ้ง แต่ควรช่วยกันจรรโลงให้ดำรงอยู่ ปรับเปลี่ยนจุดอ่อนให้เข้มแข็ง ถ้าทำได้เราจะสร้างคนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม
“เวลาพูดถึงการศึกษาเราก็มักจะมองไปที่เมืองฝรั่ง เวลานี้เราได้นายกรัฐมนตรีที่จบจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของเมืองผู้ดีอังกฤษ แล้วเรายังไม่สรุปไม่ได้อีกหรือว่าทิศทางการเมือง การปกครอง การศึกษา ที่เอามาจากฝรั่งนั้นให้โทษยิ่งกว่าให้คุณยิ่งนัก”
เป้าหมายการศึกษา ควรให้ผู้เรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ตนเองและรับผิดชอบสังคม สอนเด็กเล็กที่กำลังเติบโตให้รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ให้เขาผ่านพ้นความเห็นแก่ตัวขั้นพื้นฐานได้ แต่ไม่ใช่เข้มงวดกวดขันจนหมดศักยภาพที่ซ่อนไว้ในแต่ล่ะบุคคล การศึกษาดังกล่าวควรเริ่มจากที่บ้าน เมื่อเข้าสู่โรงเรียนหรือระดับวิทยาลัย เขาต้องรู้จักสิทธิหน้าที่และบทบาทการเป็นพลเมือง เป็นสมาชิกชุมชนที่ดี สามารถคิดนึกได้ด้วยตัวเอง ปฎิเสธการครอบงำจากศาสนาหรือลัทธิต่างๆทั้งระบบทุนนิยม สังคมนิยม โลกนิยม
การศึกษาต้องทำให้แต่ละคนเรียนรู้ในสาขาวิชาชีพต่างๆจนมีความรู้ความชำนาญใช้ทำมาหากินได้โดยสัมมาชีพไม่เอาเปรียบผู้อื่น และต้องตอบสนองความต้องการของสังคมของชุมชนนั้นๆ การศึกษาต้องฝึกความคิดอ่านได้อย่างเหมาะสม รู้จักแยกว่าอะไรเท็จอะไรจริง ที่สำคัญต้องช่วยให้ความเป็นมนุษย์เจริญงอกงาม จึงจะเข้าถึงคุณธรรม วัฒนธรรม และรากเหง้าบรรพชุนและสืบทอดต่อไปได้
การรับผิดชอบและเกื้อกูลต่อสังคมต้องเกิดจากจิตใจที่ดี เราควรหันมาเน้นการเป็นกัลยาณมิตรกับคนต่างเพศ ต่างวัย ต่างชั้นวรรณะ ศิษย์เรียนจากครู ครูเรียกจากศิทย์ คนจนเรียนจากคนรวย คนรวยเรียนจากคนจนโดยต่างก็เพื่อนต่างกัน จึงจะเปิดประตูการเรียนรู้ได้มากกว่า
“การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความงอกงามของแต่ละคน คือพื้นของความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งต้องไปพ้นพรมแดนชาตินิยม พ้นการเมืองเศษฐกิจกระแสหลัก เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรม คุณธรรม ศาสนธรรม” .
ที่มาภาพ : http://sewanaietv.blogspot.com/2011/05/112_22.html และ http://mculture.tripod.com/h2_1.htm