ตามรอยเส้นทางเหมืองทองคำ สู่หุ้นทองคำ หน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 04 พฤศจิกายน 2556 เวลา 23:29 น.
เขียนโดย
thaireform
หมวดหมู่
Tags
เสียงที่ไม่ได้ยินของชาวบ้านกว่า 800 คน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถูกภาครัฐและบริษัทที่ได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ เพิกเฉย แม้คนเหล่านั้นจะร่ำร้องเรียกหาความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ไปพร้อมๆกับถามหาความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการขอเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ก็ดูจะเป็นเรื่องยากเต็มที
หากประเมินจากเหตุการณ์ที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีมาโดยตลอดนั้น ช่วงสายของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย นำชาวบ้านเมืองเลยที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ บริษัททุ่งคำ จำกัด เดินทางมายังหน้าหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมป้ายแขวนคอ มีคำบรรยายประกอบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ที่มาที่ไป ท่ามกลางความสนใจของผู้สัญจรไปมาบริเวณนั้น
"จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา" นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเผยแพร่สิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มนักศึกษาดาวดิน หนึ่งในผู้ที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านในการดำเนินการคัดค้านการดำเนินธุรกิจของบริษัททุ่งคำ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
เขาเล่าว่า การเข้าร่วมช่วยเหลือชาวบ้านวังสะพุงนั้น เกิดมาจากช่วงที่ไปออกค่ายเรียนรู้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2549) เนื่องจากเห็นว่า ชุมชนแห่งนี้ได้รับความเดือดร้อนจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาและร่วมทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านมาโดยตลอด
จตุภัทร์ บอกว่า จากวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่มีการจัดเวทีกำหนดของเขตการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประกอบการขอสัมปทาน ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และทางบริษัทไม่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแต่อย่างใด โดยมีการนำตำรวจมาปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลที่ออกมาคือเวทีรับฟังผ่านการยอมรับจากชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม
จากวันนั้นถึงวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่เกิดความรุนแรงขึ้นมาก
"เราเชื่อว่า การเคลื่อนไหว การต่อสู้ด้วยพลังประชาชน จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขมากกว่าจึงเดินทางมาร้องเรียนในกรุงเทพ เพราะรู้ดีว่าหากไปเจรจากับทางบริษัทก็คงไม่เกิดผลดีอะไรตามมา" จตุภัทร์ ระบุ
ขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ นางระนอง ทองแสน บอกว่า ก่อนที่จะมีการสร้างโรงงานถลุงแร่ทองคำในชุมชนนั้น ทางบริษัทมาบอกชาวบ้านว่า จะมีการสร้างโรงงานให้ชาวบ้านได้มีงานทำ แต่ไม่ได้แจ้งถึงผลเสียที่จะตามมาแต่อย่างใด
"เราก็ดีใจที่จะมีโรงงานในหมู่บ้าน แต่พอสร้างได้สักพักก็เกิดมลพิษในอากาศ ชาวบ้านอยู่ไม่ไหว แหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่สามารถนำมาใช้ได้ พอไปร้องเรียนกับทางบริษัทเขาก็ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นเพราะโรงงาน แต่เป็นเพราะชาวบ้านใช้สารเคมีทำนา"
ความเดือนร้อนเหล่านี้ เธอบอกว่า ไม่รู้จะให้ใครมาช่วยเหลือ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้าข้างฝ่ายนายทุน ตอนนี้มีเพียงผู้ใหญ่บ้านที่ยังอยู่ฝ่ายชาวบ้านอยู่ และโชคดีที่มีกลุ่มลูกหลานนักศึกษาเข้ามาช่วยดำเนินการร้องเรียน เป็นปากเป็นเสียงให้
ขณะที่นางพรทิพย์ ธงชัย ชาวบ้านอีกคนที่ได้รับผลกระทบ และร่วมกันต่อสู้กันมาหลายปี ทั้งทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานรัฐเกือบทุกแห่งเพื่อให้ยับยั้งกิจการที่ทำลายวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข มิหนำซ้ำสถานการณ์กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการวางระเบิดปลอมข่มขู่ชาวบ้าน
"แม้แต่ข้าวปลาอาหารที่เคยหามากินได้ง่ายบริเวณหมู่บ้าน ณ วันนี้เจือปนไปด้วยสารพิษ น้ำต้องซื้อกิน อาหารต้องซื้อกิน ข้าวที่ปลูกเองกินไม่ได้มีสารแคดเมียม เอาไปขายก็ไม่มีใครซื้อ" นี่คือปัญหาที่ชาวบ้านอย่างเธอ อยากได้รับการใส่ใจจากภาครัฐ
เธอ เล่าต่อว่า คนในหมู่บ้านตรวจพบสารไซยาไนด์ ปรอทในเลือด ก็ไม่มีใครสนใจ เด็ก คนแก่ ล้วนได้รับสารพิษกันถ้วนหน้า เวลานี้ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่ได้รับสารพิษพวกนี้เท่านั้น แม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในท้อง ยังไม่คลอดก็มีสารปรอทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ "ถามว่า แล้วเขาจะเติบโตมาอย่างแข็งแรงได้อย่างไร นายทุนเคยเห็นใจพวกเราบ้างไหม”
"ที่ต้องออกมาเรียกร้อง ก็เพื่อรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน เรียกร้องธรรมชาติให้กลับคืนมา พวกเราทำผิดอะไร เราทำกำแพงกั้นเพื่อไม่ให้รถบรรทุกขนสารเคมีเหล่านั้นเขาไป เราก็รักชีวิตของเราเช่นกัน ทำไมต้องฟ้องชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท เรามีอาชีพทำนา ไม่มีเงินจะจ่ายพวกท่าน
ทุกวันนี้เราไม่กลัวการถูกฟ้องอีกต่อไปแล้ว แต่เรากลัวชีวิตของเราจะป่วยมากกว่า และแม้การเดินทางมาครั้งนี้เสียงจะดังไม่พอ พวกเราก็ขอยืนยันว่าจะต่อสู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
ส่วนนางหนูจร พงษ์ทะวงศ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอีกราย เล่าว่า ลูกสาววัย 10 ขวบของเธอตรวจพบสารปรอทในร่ายกายมากถึง 600 มิลลิกรัม จากการสุ่มตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์จากกรุงเทพฯ ปรากฏว่า ผู้ที่ถูกสุ่มตรวจเกือบทุกคนพบสารพิษในร่ายกาย อย่างปรอทและไซยาไนท์ เชื่อว่าหากนำชาวบ้านทุกคนไปตรวจจะพบมากกว่านี้
จากนั้น ชาวบ้าน และตัวแทนนักศึกษา ตามรอยหุ้นทองคำ ยื่นใบหุ้นเป็นสัญลักษณ์ ด้วยการขอซื้อหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยมีทั้งใบหุ้นธรรมชาติที่ดี ใบหุ้นชีวิตที่ดี ใบหุ้นอากาศบริสุทธิ์ เป็นต้น พร้อมกับฝากข้อความไปถึงบริษัททุ่งคำ จำกัด ให้หยุดทำลายชาวบ้านและขอร้องให้นายทุนต่างๆ อย่าซื้อหุ้นบริษัททุ่งคำ อย่าส่งเสริมกลุ่มคนเหล่านี้
"หุ้นที่พวกเราขอซื้อมีขายให้หรือไม่ ไม่ได้ประชดแต่นั่นคือสิ่งที่อยากได้จริงๆ ธรรมชาติที่ดี อากาศที่ดี และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุข" หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน พูดต่อรอง
หลังจากนั้น นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตัวแทนรับแถลงการณ์จากชาวบ้าน
ใจความสำคัญของแถลงการณ์ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อร ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกผลของการจัดเวที Public scoping เพื่อจัดทำรายงาน EHIA เพราะเป็นเวทีที่ขาดความชอบธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยใช้กองกำลังตำรวจปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองเวที
2.ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนโดยดำเนินการสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจของทุ่งคาฮาร์เบอร์ ที่เป็นบริษัทแม่ของทุ่งคำอย่างเร่งด่วน และต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบสู่สาธารณะ การไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาล การกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการฟ้องคดี
3.ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนหลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นการลงโทษขั้นร้ายแรง ต่อการก่ออาชญากรรมขั้นร้ายแรงกับชาวบ้านในต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
4.ขอให้กำกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลด้วยการสั่งให้บริษัททั้งสองถอนฟ้องคดีชาวบ้านทั้งหมด
ทั้งนี้ นายบดินทร์ ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่ในการซื้อขายหุ้น ส่วนในเรื่องจริยธรรมหรือตรวจสอบจะต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งถ้ามีข้อร้องเรียนมาเราก็จะส่งเรื่องให้อีกครั้ง
ส่วนนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรเหมืองแร่ ระบุว่าการเดินทางมายื่นหนังสือที่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ทุ่งคำ รับทราบถึงข้อเท็จจริงของการทำสัมปทานของทุ่งคาฮาเบอร์ และต้องการแสดงเจตนารมณ์ให้คนทั่วไปได้รับทราบว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคม
"ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกปิดกั้นในการเข้าร่วมเวทีบางทีถูกมองว่า จะไปล้มเวที ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เราแค่ต้องการทำเช่นวันนี้ แค่ต้องการบอกว่า เราคิดเห็นอย่างไรและต้องการอะไรเท่านั้นเอง"
เมื่อถามว่า หลังจากการเคลื่อนไหวแล้วจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป นายเลิศศักดิ์ บอกว่า เหตุการณ์วันนี้จะเป็นการออกมาบอกกับสังคมว่า เกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นคงจะไปยื่นหนังสือที่ ก.ล.ต. และสถานทูตเยอรมันซึ่งเป็นประเทศของธนาคารด้อยซ์เพื่อไม่ให้ปล่อยกู้ให้กับ บริษัทที่มีการปั่นหุ้นหรือดำเนินธุรกิจที่ไร้คุณธรรมจริยธรรม
เล่าด้วยภาพ
กั้น และกลัวชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ
เหมืองทอง นี่ไง "ทอง" ความร่ำรวยที่อยากได้
ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษเหมืองแร่ทองคำ
กล้ากอดผมไหมครับ
โรครุมเร้า
สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เป็นของประชาชน
เรามาซื้อหุ้น