ไม่ฟันธงสร้างดาวเทียมใหม่ ‘ดร.อานนท์’ ชี้ธีออส 2ใช้งบสูงหวั่นกระทบศก.
‘ดร.อานนท์’ ไม่ฟันธงสร้างดาวเทียมธีออส 2 ตามข้อเสนอบริษัทที่ปรึกษาฯ เหตุข้อจำกัดค่าใช้จ่ายสูง หวั่นสร้างแล้วใช้งานไม่คุ้มค่า เตรียมนำเข้าสู่สภาพัฒน์ฯ ศึกษา คาดปี 58 ได้ข้อสรุป
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จีสต์ด้า (Gistda) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ‘โครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ ระยะที่ 2 (Thailand Earth Observation System Phase 2:THEOS 2) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
โดยผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์ นำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนา 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.เลือกไม่พัฒนาระบบต่อ แต่เน้นการซื้อข้อมูลแทน 2.เลือกพัฒนาระบบด้วยการตั้งสถานีรับสัญญาณ แต่ไม่เป็นเจ้าของดาวเทียม และ 3.เลือกพัฒนาระบบครบวงจร พร้อมมีดาวเทียมของไทย ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า ไทยควรเลือกแนวทางที่ 3 แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม แต่หากไม่จัดสร้างดาวเทียมเป็นของตนเองจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงในการรับข้อมูล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สำคัญ
ขณะที่ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ไทยอาจมีอำนาจการต่อรองที่จำกัดหากไม่มีข้อมูลที่ดี ซึ่งจะทำให้ตกอยู่ในฐานะ ‘ผู้ซื้อ ผู้ขอ หรือผู้ใช้’ แทนที่จะอยู่ในฐานะ ‘ผู้ให้’ อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหลายประเทศในอาเซียนมีการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นหากไทยไม่พัฒนาต่ออาจทำให้เสียองค์ความรู้เมื่อเทียบกับประเทศที่มีดาวเทียมของตนเองได้
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ดาวเทียมธีออส 1 (ไทยโชต) ยังมีข้อจำกัดในการนำไปใช้อยู่มาก เพราะหน่วยงานที่มีภาระต้องดำเนินการนั้นยังขาดการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงระบบ ระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขาดช่องทางนำไปใช้ที่ดี ส่งผลให้ดาวเทียมกลายเป็นของแถมที่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชนประเทศอื่นในโลกนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาประยุกต์ใช้งานมากมาย เช่น เครื่องนำทางจีพีเอส ดังนั้น มองว่าภาครัฐของไทยควรขับเคลื่อนให้ทันเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
เมื่อถามถึงการนำเทคโนโลยีดาวเทียมไปใช้ ดร.อานนท์ เห็นว่าปัจจุบันบุคลากรมีงานล้นมือ ทำให้ขาดเวลาและโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการไปกำกับงานที่จะพัฒนา อย่างไรก็ตาม ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศจะต้องสนับสนุนและตอบสนองต่อภารกิจที่สำคัญอย่างน้อย 5 ด้าน คือ ด้านภัยพิบัติ การเกษตร การวางแผนและบริหารพื้นที่ ความมั่นคง และสุขภาพอนามัย
ดร.อานนท์ ยังกล่าวถึงความคุ้มทุนจากการใช้ดาวเทียมธีออส 1 ว่ายังไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดให้ใช้ภาพจากดาวเทียมประมาณ 70,000 ภาพ ซึ่งปรากฏปัจจุบันใช้เพียงแค่ 20,000 ภาพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ามีความคุ้มทุนในเชิงสังคมอยู่
“ธีออส 1 ใช้ดาวเทียมประมาณ 24 ดวง ธีออส 2 อาจใช้ดาวเทียมถึง 100 ดวง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะมีดาวเทียมของเราเองหรือไม่มีก็ได้ โดยจะต้องพิจารณาต่อไป” ดร.อานนท์ กล่าว และว่าจะต้องคิดทำอย่างไรให้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมธีออส 2 มากที่สุด ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน มิใช่ต่างคนต่างใช้
สำหรับข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษาฯ ที่ระบุให้ไทยควรสร้างดาวเทียมเพื่ออำนาจการต่อรอง ดร.อานนท์ กล่าวว่า ไทยยังไม่ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ แต่ทั้งนี้การต่อรองไม่จำเป็นต้องมีดาวเทียมเสมอไป ซึ่งน่าจะมีต้นทุนอื่นมาเกี่ยวข้องมากกว่า อย่างในเวียดนามมีการปล่อยดาวเทียม VINASAT ขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้เลย ประกอบกับงบประมาณระหว่างทางเลือกที่ 2 และ 3 แตกต่างกันมาก สัดส่วน 1:10 จึงต้องนำไปประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง
“เราคงไม่ฟันธงว่าจะเลือกแนวทางไหน ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะศึกษาวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมด้วย จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2558 จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายนี้” ดร.อานนท์ ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดาวเทียมธีออส 1 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย โดยได้รับพระราชทานชื่อในภายหลังส่งเข้าสู่วงโคจรเมื่อปี 2551 ว่า ‘ไทยโชต’ และเป็นดาวเทียมถ่ายภาพเชิงแสงรายละเอียดสูงที่เป็นกำลังสำคัญดวงหนึ่งของระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศในปัจจุบัน ร่วมกับดาวเทียมของต่างประเทศ 24 ดวง ที่ไทยรับสัญญาณได้เองหรือมีสัญญากับเจ้าของดาวเทียมในการเข้าถึงข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งานครบ 5 ปีแล้ว .
ภาพประกอบ: http://www.neutron.rmutphysics.com