รัฐบาลจะสั่งปลด "พลเอกประยุทธ์” ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐประหารจริงหรือ?
ฟังชัดๆ “ประชา พรหมนอก”ตอบกระทู้แทนนายกฯ ถึงกระแสข่าวปลดตำแหน่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง“ผู้บัญชาการทหารบก” ท่ามกลางกระแสข่าว“รัฐประหาร” อำนาจอยู่ในมือ “ยิ่งลักษณ์”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานงานว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำตอบกระทู้ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกระแสข่าวการเมือง ในกรณีที่รัฐบาลจะปลดผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ออกจากตำแหน่ง ตามที่ นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
โดยนายวัชระ ตั้งกระทู้ถามว่า เนื่องจากมีกระแสข่าวจากสื่อมวลชนให้ข้อมูลในกรณีที่รัฐบาลจะปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สร้างความวิตกกังวลต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ว่าอาจเกิดการรัฐประหารขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
จึงขอเรียนถามว่า รัฐบาลจะให้ความชัดเจนในกรณีเรื่องนี้ได้หรือไม่ ว่าใช้มาตรการใดเป็นหลักในการพิจารณาและจะปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ เมื่อใด อย่างไร และมีเหตุผลประการใด ขอทราบรายละเอียด ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี ตอบว่า จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมทราบว่า อำนาจการแต่งตั้งทหารชั้นนายพลเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา 25 สรุปได้ว่าการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอคณะกรรมการพิจารณา โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รมว.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม\ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายพลของส่วนราชการ และระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมกับส่วนราชการในกองทัพไทย
สำหรับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้ง นั้น ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ.2551 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบการประชุมของคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 สรุปได้ดังนี้
1) หมวด 2 ข้อ 11 ให้แต่ละส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการเป็นประธานผู้ที่หัวหน้าส่วนราชการกำหนดเป็นกรรมการ และให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการกำลังพลเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่ละวาระแล้วเสร็จ และเสนอรายชื่อผู้ที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมพิจารณา ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม หรือวันที่ 1 เมษายน แล้วแต่กรณี
2) หมวด 3 ข้อ 15 ตำแหน่งนายทหารชั้นนายพลที่เป็นตำแหน่งขึ้นตรงต่อ รมว.กลาโหม ให้ รมว.กลาโหมเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3) หมวด 3 ข้อ 17 การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลวาระแรกเดือนตุลาคม ให้แต่งตั้งได้เป็นการทั่วไป วาระที่สองเดือนเมษายน ให้แต่งตั้งได้เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการกำลังพล การแต่งตั้งนอกวาระให้กระทำเท่าที่จำเป็นต่อการบริหารราชการ การแต่งตั้งทดแทนจะมีจำนวนเท่าใด ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมกำหนดโดยยึดถือแผนแม่บทปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมเป็นสำคัญ
4) หมวด 3 ข้อ 18 การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ให้คำนึงถึงอาวุโสทางทหารประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ จริยธรรม และความรู้ความสามารถประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตอบคำกระทู้ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ไม่ได้มีการยืนยันชัดเจนว่ากระแสข่าว กระแสข่าวจากสื่อมวลชนให้ข้อมูลในกรณีที่รัฐบาลจะปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นความจริงหรือไม่
ระบุแต่เพียงขั้นตอนและข้อปฏิบัติการแต่งตั้งนายทหารทหารชั้นนายพล ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการชุดที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
ซึ่งปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมอยู่
ภาพประกอบ - พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา จากเว็บไซต์ www.voicetv.co.th