ซี.พี.ลุยธุรกิจ"ยางพารา"ครบวงจร เจ้าสัว"ธนินท์"ลั่นใช้ไฮเทคโนโลยีปั้นเกษตรยั่งยืน
เจ้าสัว "ธนินท์" เผยเคล็ดลับขึ้นผู้นำธุรกิจ "ยางพารา" ไฮเทคครบวงจร ปี"54 เร่งใช้ฮอร์โมนสร้างพันธุ์ยางอายุยืน 20 ปี ปั๊มน้ำยางได้ 100% ปรับ กลยุทธ์ผุดโลจิสติกส์ใกล้โรงงานแปรสภาพ พร้อมกระตุ้นรัฐปรับราคาสินค้าเกษตร "ข้าว-กุ้ง-ยาง" ผงาดในตลาดโลก
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินค้าที่จะครองตลาดโลกคือภาคเกษตร 3 สาขา ได้แก่ข้าว กุ้ง และยางพารา
"ซี.พี.ส่งเสริมการปลูกยางพาราแบบครบวงจร ถือเป็นพระเอก เพราะเมื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป หากน้ำมันลดน้อยลงจนหมดทั่วโลก จะต้องหันมาปลูกยางธรรมชาติ ตั้งแต่ ปี 2554 ได้วางกลยุทธ์ตั้งหน่วยงานศึกษาควบคู่ไปด้วยว่า ในอนาคต มีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาแทนยางเทียมได้บ้าง แต่วันนี้ ซี.พี. ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกยางด้วยพันธุ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกร และจะเป็นกุญแจแห่งชัยชนะของผู้ประกอบการ"
นายธนินท์กล่าวว่า ซี.พีได้วางแผนให้ผู้เชี่ยวชาญและพนักงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ บริเวณไหนสามารถปลูกยางได้ผลผลิตมากที่สุด จากนั้นจึงนำพันธุ์ยางที่ดี เข้าไปส่งเสริม โดยให้ความช่วยเหลือครบวงจร ตั้งแต่การหาสถาบันการเงินสนับสนุนแหล่งเงินกู้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนเงิน ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาต่อยอดพันธุ์ยาง แผนงานขั้น ต่อไป กำลังเตรียมนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามามีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น
ขณะนี้กำลังทดลองใช้ฮอร์โมนกับต้นยางอยู่ว่าจะตาย หรือมีอายุถึง 20 ปีได้ ด้วยวิธีใช้เครื่องเจาะยาง ไม่ต้องกรีดแล้ว แรงงานที่ทำไม่เป็นก็ทำได้ ที่สำคัญต้นยางไม่เสียหาย เมื่อใส่ฮอร์โมนเข้าไป น้ำยางจะไหลออกมาตามท่อ ได้น้ำยาง 100% โดยไม่มีสิ่งเจือปน
"ต่อไป ผมจะสร้างโรงงานให้ใกล้ที่สุด เพราะอนาคตเรื่องโลจิสติกส์สำคัญมาก อาจเป็นโรงงานไม่ใหญ่มาก แต่ต้องใกล้แหล่งยางดิบ เพื่อให้ส่งมาได้เร็วก่อนแปรสภาพ อย่างนี้ผมจะเสียหายตรงไหน เพราะผมมีพันธุ์ยางที่ดี"
นายธนินท์กล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จการพัฒนาธุรกิจ ซี.พี.จะต้องศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก ขั้นตอนต่อจากนั้น คือนำดินแต่ละแห่งมาศึกษาความเหมาะสมกับพืชที่จะนำไปปลูก ก่อนจะเลือกพื้นที่ส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ทั้งยาง อ้อย ข้าว ขณะนี้ต้องการให้รัฐบาลยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ตามหลักทฤษฎี 2 สูง
"เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงว่าของต้องแพง ถ้าไม่แพงประเทศไม่รวย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของเรา วันนี้เรามีอ้อยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ดีอย่างนี้แล้ว ทำไมเกษตรกรยังจน เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจ มองเฉพาะรายได้ขั้นต่ำ ทำไมไม่ทำให้มันสูงขึ้น ถ้าเราพัฒนาพันธุ์อ้อยให้ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีใส่เข้าไป ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เหมือนผมเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ วันนี้เจ้าหน้าที่ผม 1 คน เลี้ยงหมูได้ 5,000 ตัว เลี้ยงไก่ได้ 150,000 ตัว ฉะนั้น วันนี้เรามีทรัพย์สินมากมาย แต่กลับไปกดทรัพย์สินให้ต่ำลง ทำให้ประเทศยากจน" นายธนินท์กล่าว