โวยเข้าเว็บลงชื่อหนุนแคมเปญ"ขอล้านชื่อหยุดกม.ล้างผิดคนโกง”ไม่ได้
ยอดแคมเปญ "ขอล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคนโกง” ทะลุ 2 แสนแล้ว แต่ยังขาดอีก 7 แสน - “สมเกียรติ อ่อนวิมล” โพสต์ช่วยเชิญชวนด้วย ประชาชนโวยเข้าเว็บลงชื่อไม่ได้
กรณี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำแคมเปญรณรงค์ “ขอล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคนโกง” ใน www.change.org ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า จากการตรวจสอบแคมเปญรณรงค์ “ขอล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคนโกง” ดังกล่าว ในช่วงเวลา 8.30 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556
พบว่า มีประชาชนเข้าไปแสดงจุดยืนรวมลงชื่อแล้ว จำนวน 283,474 รายชื่อ ยังขาดอีก 716,526 ชื่อ ก็จะครบเป้าหมาย 1 ล้านชื่อ ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตั้งเป้าไว้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลในเพจส่วนตัวของบุคคลดังหลายคน พบว่า มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนเข้าไปลงชื่อ ใน แคมเปญรณรงค์เรื่องนี้ อาทิ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นต้น
ขณะที่มีประชาชนหลายราย ร้องเรียนเข้ามาว่า การเข้าไปลงชื่อไม่สามารถทำได้โดยสะดวกนัก เข้าไปหน้าเว็บไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุเหตุผลในการสร้าง แคมเปญรณรงค์เรื่องนี้ว่า เนื่องจากกรรมาธิการเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ความบางส่วนว่า “..หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง..” ซึ่งมีเจตนามุ่งหมายที่จะลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตต่างๆ และให้คดีที่ยังค้างคาเป็นอันต้องยุติ ให้ผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดพ้นจากความรับผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลดังต่อไปนี้
1. ลบล้างคำพิพากษาในคดีทุจริตที่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินแล้วทั้งหมด
2. คดีทุจริตทั้งหมดที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการไม่ว่าอยู่ในชั้น ป.ป.ช. อัยการ ศาลฎีกาฯ หรือหน่วยงานอื่น จะต้องยุติ ไม่มีการดำเนินคดีอีกต่อไป จะไม่มีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ
3. ส่งผลกระทบต่อคดีคอร์รัปชันทั้งหมดที่ดำเนินการโดย ป.ป.ช. คตส. หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ไม่ว่าการทุจริตนั้นจะเกิดก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือไม่ เนื่องจากหากมีการดำเนินการโดย ป.ป.ช. คตส. หรือ คตง. ก็ถือว่าเข้าเงื่อนไขร่างมาตรา 3
4. ร่างมาตรา 3 มีเนื้อหาที่เป็นการ “ส่งเสริม” ให้เกิดการทุจริตมากยิ่งขึ้น ผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ หรือถูกบังคับให้ทำ จะไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ทำให้คอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนสามารถประมาณความสูญเสียได้
5. สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้นในทุกระดับ ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างมาก
6. การล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง สังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีค่านิยมใหม่ว่าโกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้
7. ส่งผลเสียโดยตรงและอย่างรุนแรงต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากถูกตัดโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด กระบวนการยุติธรรมจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมาย เพื่อชดใช้และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อแผ่นดินและคนไทยทั้งประเทศได้
8. การแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รัฐบาลไม่อาจปัดความรับผิดชอบว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติได้
9. เนื้อหาร่างมาตรา 3 ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (UNCAC 2003) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อ 1 มีนาคม 2554 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก
10. ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงคนไทยทั้งสังคม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ย้ำจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชันทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมในสังคม และเพื่อให้การปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ และขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้ต้องการเห็นสังคมไทยปราศจากคอร์รัปชันร่วมสนันสนุนในการคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ครั้งนี้ เราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้ด้วยพลังของสังคม” ข้อความในเว็บไซต์รณรงค์ ระบุ