กังขานิรโทษสุดซอยส่อรวมกรือเซะ-ตากใบ "อังคณา"หวั่นอุ้มฆ่าไฟใต้ได้อานิสงส์
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... หรือที่เรียกกันว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย" นั้น กำลังถูกจับตาถึงความต้องการล้างผิดให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวโยงกับกรณีคาใจต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่
เพราะสาระสำคัญในร่างกฎหมายที่ถูกแปรญัตติเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้รับลงมติเห็นชอบวาระ 3 ไปเรียบร้อยแล้วนั้น ได้ขยายเวลาการนิรโทษกรรมย้อนหลังไปถึงปี 2547 ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้แต่อย่างใด
เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย มีข้อความค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการนิรโทษให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและแสดงออกทางการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เท่านั้น กล่าวคือ
(มาตรา 3) "ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
สำหรับร่างที่แปรญัตติเพิ่มเข้าไปใหม่ และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เขียนเอาไว้แบบนี้
(มาตรา 3) "ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
ปชป.เคาะระฆังเตือนนิรโทษเหมากรือเซะ-ตากใบ
ก่อนหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2556 ส.ส.ชายแดนใต้ของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า การนิรโทษกรรมอาจครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์สำคัญๆ หลายเหตุการณ์ที่ชายแดนใต้จนทำให้ผู้กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้รับอานิสงส์ไปด้วย
นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประชาชนคนไทยต้องรอดูว่า รัฐบาลจะกล้าลากเอาปัญหาชายแดนใต้ที่เปราะบางไปเหมารวมยกเข่งด้วยหรือไม่
ขณะที่ นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากเหมารวมคดีชายแดนใต้เพื่อเซ็ตซีโร่ (ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ หรือเริ่มต้นกันใหม่) ให้คนที่สั่งสลายการชุมนุมที่ตากใบ กรือเซะ หรือแม้แต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 บรรดาผู้สูญเสียในเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวหรือแม้แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเองก็อาจไม่พอใจได้ เพราะเหมือนรัฐบาลกำลังบอกว่า คนที่ทำร้ายพี่น้องของเขากำลังลอยนวลพ้นผิด
กมธ.วุฒิฯชี้กระทบกระบวนการสันติภาพใต้
ด้านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า การขยายเวลาการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมการกระทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 นั้น อาจมีผลต่อผู้ที่มีความผิดในการสลายการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้กระทำความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
คณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
2.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
3.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตอย่างไร
4.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
"อนุศาสน์" หวั่นเข้าทางบีอาร์เอ็นกดดันไทย
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา จาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า กรรมาธิการฯมีข้อสังเกตร่วมกันว่า การนิรโทษกรรมแบบนี้น่าจะมีเป้าหมายรวมเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบเข้าไปด้วย คำถามคือการนิรโทษกรรมกับเหตุการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการเกินกว่าเหตุจนมีประชาชนเสียชีวิต จะส่งผลมุมกลับต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังดำเนินการกับขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ด้วยหรือไม่
"ต้องไม่ลืมว่าทางบีอาร์เอ็นก็เสนอข้อเรียกร้องหนึ่งใน 5 ข้อให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เป็นคนของเขาเช่นกัน เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษให้กับบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างกรือเซะ ตากใบได้ จะส่งผลให้บีอาร์เอ็นกดดันไทยมากขึ้นให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พวกเขาด้วยหรือไม่"
ย้อนอดีตโศกนาฏกรรม "กรือเซะ-ตากใบ"
อนึ่ง กรณีกรือเซะ คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 เมื่อวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมหลายร้อยคนบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจและโรงพักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวม 11 จุดใน จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา แต่จุดใหญ่อยู่ที่ป้อมจุดตรวจกรือเซะ หน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งมีการยิงปะทะกัน และกลุ่มผู้โจมตีส่วนหนึ่งได้หนีเข้าไปหลบในมัสยิด ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ล้อมอยู่หลายชั่วโมง กระทั่งตอนบ่ายได้สั่งยิงอาวุธหนักเข้าไปด้านในมัสยิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย ขณะที่เหตุการณ์โจมตีป้อมจุดตรวจในวันนั้นทั้ง 11 จุด มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 108 ราย
หลังเหตุการณ์ในวันนั้น รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ โดยมี นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน ผลการไต่สวนสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการในวันนั้น (ที่มัสยิกรือเซะ) กระทำการเกินสมควรแก่เหตุ
ขณะที่เหตุการณ์ตากใบ คือเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปควบคุมสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม 7 ราย และระหว่างการเคลื่อนย้ายด้วยการจับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถบรรทุกของทหารอีก 78 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ราย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงเหมือนกัน โดยมี นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน สรุปว่าการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และขาดความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี คดีอาญาที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่ยังอยู่ในอายุความที่ผู้เสียหายหรือญาติจะยื่นฟ้องเอง โดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่อยู่ในข่ายมีหลายราย ปัจจุบันบางรายเกษียณอายุราชการไปแล้ว บางรายยังอยู่ในราชการ
"อังคณา" เชื่อ "แก๊งอุ้มฆ่าชายแดนใต้" ได้อานิสงส์
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2547 หลังรับทำคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากชายแดนใต้ กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงคดีต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ จะส่งผลต่อความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีของคนมลายูอย่างมาก เพราะเท่ากับทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้จะเหมารวมกรณีอุ้มฆ่าทั้งหมด ไม่ใช่แค่คดีตากใบที่มีการกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีการขู่ว่าจะนำไปร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้น เนื่องจากกรณีของศาลอาญาระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
"คำถามคือแรงจูงใจทางการเมืองคืออะไร การต่อสู้ขัดขืนการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือต่อต้านรัฐจากความขัดแย้งทางการเมืองตามที่ระบุในร่างกฎหมาย กินความแค่ไหน กรณีตากใบ กรือเซะ เป็นมูลเหตุทางการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ"
"นอกจากนั้นส่วนตัวยังเชื่อว่าการนิรโทษกรรมรอบนี้เป็นความพยายามล้างผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีอุ้มฆ่าทุกคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งคดีของพี่สมชาย (ทนายสมชาย นีละไพจิตร) ด้วย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของญาติผู้สูญเสียอย่างร้ายแรง"
อนึ่ง การตรากฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไม่เฉพาะเจาะจงเหตุการณ์ หรือคดีที่เกี่ยวข้อง และยังขยายช่วงเวลาการนิรโทษกรรมให้ยาวนานตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 รวมเกือบ 10 ปี ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้ง "คณะนิติราษฎร์" ที่นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายชื่อดังจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีปัญหากับหน่วยปฏิบัติในแง่ของการพิจารณาว่าคดีใดเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมบ้างอย่างแน่นอน
โดยบางช่วงบางตอนของแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ที่เพิ่งแถลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด
นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2547 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่ พ.ศ.2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แกนนำและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ด้านหน้ารัฐสภา
2 อนุศาสน์ สุวรรณมงคล
3 อังคณา นีละไพจิตร
ขอบคุณ : ภาพที่ 1 และ 2 จากศูนย์ภาพเนชั่น