กยศ.พร้อมแก้หนี้นักเรียน-นักศึกษา
กยศ.หวังลูกหนี้ค้างชำระจำนวน 50% จาก 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท จะเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ หลังให้สิทธิพิเศษในการชำระหนี้จากโครงการรณรงค์ชำระหนี้กองทุนระยะ 5 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.56 ถึง 31 มี.ค.57...
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กยศ.มีลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินกู้กับ กยศ.ประมาณ 50% จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 12,000 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ในระยะที่กองทุนได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ชำระหนี้ กยศ.เป็นเวลา 5 เดือน หรือระหว่างวันที่ 1 พ.ย.56 ถึง วันที่ 31 มี.ค.57
ทั้งนี้ กยศ.จะให้สิทธิพิเศษสำหรับลูกหนี้ที่เข้ามาชำระหนี้ แบ่งเป็น 1. กรณีของลูกหนี้ไม่ค้างชำระ หากปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนหนี้ 3.5% ของเงินต้นที่มาปิดบัญชี โดยกองทุนจะคืนส่วนลดเงินต้นให้ภายใน 30 วัน เมื่อตรวจสอบการปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 2. กรณีลูกหนี้ค้างชำระ โดยหากมาชำระเงินงวดที่ค้างทั้งหมดจะได้รับการลดเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ 100% กรณีที่มาปิดบัญชีจะได้รับการลดเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ 100% และได้ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ยืมอีก 50%
“กยศ.ได้สำรวจจำนวนลูกหนี้ 1.2 ล้านรายที่ค้างชำระหนี้ดังกล่าว พบว่า เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้จากงานประจำจำนวน 70% อีก 20% มีรายได้แต่ไม่ทำงานประจำ ซึ่งเชื่อว่า หาก กยศ.เร่งรณรงค์ก็จะช่วยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เข้ามาชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการเร่งรัดหนี้ดำเนินการอย่างไม่เข้มข้นทำให้มีปัญหาต่อการชำระหนี้ แต่วันนี้ กองทุนได้ปรับโครงสร้างและรณรงค์การชำระหนี้ โดยร่วมมือกับองค์กรนายจ้างถึงจำนวน 24 แห่ง ซึ่งจะมีหน่วยงานภายใต้การกำกับอีกเป็นจำนวนมากรวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานเหล่านี้ จะเป็นกลไกสำคัญต่อการชำระหนี้” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว
ทั้งนี้ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามคาด จะมีจำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่จะได้รับประโยชน์จำนวนมากหรือประมาณ 830,000 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่จะขอกู้ใหม่ในปีการศึกษาหน้าจำนวน 230,000 ราย และ ผู้กู้รายเก่าที่ยังต้องได้รับเงินทุนในการเรียนต่อเนื่องอีก 600,000 ราย
ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่เราต้องเร่งรัดให้เกิดการชำระหนี้ ของผู้กู้รายเก่า เพราะหากไม่ดำเนินการเด็กรุ่นน้องที่จะเข้ามาเรียน และรุ่นปัจจุบันที่ยังศึกษาอยู่ก็จะไม่มีเงินทุนในการเล่าเรียนต่อ ซึ่งส่วนหนึ่ง เพราะถูกตัดงบประมาณในปี 57 ไปจำนวน 6,700 ล้านบาท จากที่ขอไปจำนวน 35,000 ล้านบาท ทำให้ไม่มีเงินทุนเพียงพอ
หากลูกหนี้ดังกล่าวไม่เข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ จะกระทบต่อเครดิตส่วนตัว เพราะเราได้ประสานงานกับองค์กรนาย จ้างให้ร่วมตรวจสอบทั้งก่อนเข้าทำงานและทั้งที่ทำงานอยู่ ขณะเดียวกัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า กองทุนจะส่งข้อมูลลูกหนี้ทั้ง หมดเข้าเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมการเงินในอนาคต นอกจากนี้ ในส่วนลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง หากยืนยันไม่ชำระหนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีหรือยึดทรัพย์ ซึ่งขณะมีอยู่ประมาณ 4,000 รายจากที่ฟ้องร้องทั้งหมด 600,000 ราย
“องค์กรนายจ้างเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพราะถือว่า เป็นความรับผิดชอบของทุกคน เนื่องจาก เงินที่ให้กู้นั้น เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน และการใช้หนี้ก็ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบและความมีวินัยขั้นพื้นฐานของเด็ก เพราะหากจะรับเด็กที่ไม่มีวินัยเข้าทำงาน จะถือเป็นความเสี่ยงขององค์กรเช่นกัน” เธอกล่าวและว่า ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยกู้ให้กับนัก ศึกษาไปแล้วจำนวน 4.3 ล้านราย เป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว.
ขอขอบคุณข่าวจาก