เช็คจุดยืนหลากหลายองค์กร ต่อกม.นิรโทษสุดซอย
ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎร ก็พิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ วาระ 2 และ 3 จบเพียงวันเดียว ปฏิกิริยาก่อนและหลังสภาฯ ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า มีหลายองค์กร บ้างก็ออกแถลงการณ์ บ้างก็จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารกับสาธารณะคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี
ชมรมหมอชนบท ชวนแสดงจุดยืน
อย่างล่าสุด วันที่ 31 ต.ค. ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 "ขอให้รัฐบาลยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในทันที"
เนื้อหาใจความ ชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องต่อสมาชิกและรัฐบาลดังนี้
1. ขอให้สมาชิกชมรมแพทย์ชนบท พี่น้องชาวโรงพยาบาลชุมชน พี่น้องชาวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พี่น้องชาวกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งชาวไทยผู้รักประเทศชาติ ให้ความเห็น แชร์ความคิด เขียนป้ายบอกทัศนะและจุดยืนติดหน้าบ้านหน้าโรงพยาบาล แม้แต่ถ่ายรูปพร้อมป้ายจุดยืนส่วนบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ตามแต่ การกดดัน ส.ส.ในพื้นที่ การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ หรือแม้แต่ร่วมการชุมนุม ด้วยความหวังว่า พลังมติมหาชนไม่เอานิรโทษกรรมเหมาเข่งจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลยอมถอย ถอยก่อนที่จะเป็นชนวนไปสู่ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ไม่อาจหวนกลับ
2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ในทันที แล้วกลับไปตั้งต้นที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทั่วไปที่กระทำความผิดจากการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งแก่ระดับแกนนำ ดังที่เสียงของประชาชนทุกกลุ่มเรียกร้อง
นิด้าเปิด 100 รายชื่อค้าน
ขณะที่คณาจารย์และบุคลากรสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 100 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ เรื่อง การคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี เช่นกัน
โดยในแถลงการณ์เห็นว่า “ผู้มีความผิดกรณีทุจริต และคอร์รัปชั่นซึ่งคือความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ไม่ควรได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้การทุจริต คอร์รัปชั่น กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคม
แม้ว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในการใช้อำนาจดังกล่าวควรพิจารณาผลที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะกระทบต่อความยั่งยืนของฐานรากสังคม”
กรรมสิทธิ์ ห่วงร่างกม.ขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ธรรมาภิบาล
เฉกเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง
โดยแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาวะที่ละเอียดอ่อน ประชาชนอันเป็นองคาพยพที่สำคัญยิ่งของรัฐยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดต่อกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐ
กสม.ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
1. การพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา จะต้องยึดถือหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมหลักธรรมาภิบาล และหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ดังนั้น การตรากฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนสมควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
2. ควรเร่งรีบพิจารณาถึงสวัสดิภาพของประชาชนที่มิใช่ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองไปในทิศทางใด แต่ได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การถูกจับกุม การถูกกักขัง การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการถูกจำคุกด้วยเหตุที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง เพื่อให้เกิดผลเห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
หวั่นนิรโทษแบบไม่มีเงื่อนไข สร้างวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ
1.คณะกรรมาธิการจะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้
2.การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
พร้อมแสดงความกังวล หากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรยังดำเนินการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไป จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด และทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงความขัดแย้งและไม่อาจออกจากวงเวียนของความรุนแรงได้ในระยะยาว ดังนั้นแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากรอบการนิรโทษกรรมให้รอบคอบ เคารพถึงหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
เอกชนหวั่นคอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรง
ด้านองค์กรที่ถือได้ว่า เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ อย่าง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสมาชิกองค์กรภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมนัก วิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านล้างผิดคดีโกง ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ก่อนที่สภาฯ ลงมติเสียอีก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ เห็นว่ามติดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันที่ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียงบประมาณไปกับการคอร์รัปชั่น แทนที่นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในร่างกฎหมายมาตรา 3 เป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริต ส่งผลให้ผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมิอาจประมาณความสูญเสียได้
“การล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง สังคม ไทยและโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ จะมีค่านิยมใหม่ว่าโกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วล้วนได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้”
ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อในคำตัดสิน และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมาย เพื่อชดใช้และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อแผ่นดินและคนไทยทั้งประเทศได้
อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล รวมถึงการที่ รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ด้วย
และ กรณีนี้อาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก
ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อมั่นว่า กระแสการคัดค้านระหว่างนี้ก็ยังมีอีกหลายองค์กร หลายสถานบัน กำลังทยอยออกมาแสดงท่าที เฉกเช่นเดียวกับคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง โดยเสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นต้นตอของความขัดแย้งในสังคมก่อน