ชั่วโมงสุดซอย ! ผ่าน กม.นิรโทษกรรม
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย ถูกลากยาวพิจารณาชนิดม้วนเดียวจบ โดยมาตรา 3 หัวใจสำคัญ ถูกชิงจังหวะให้โหวตผ่านกลางดึก
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย วาระสอง เริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 31 ต.ค.2556 แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งญาติผู้สูญเสีย นักกฎหมาย นักวิชาการ แพทย์พยาบาล กระทั่งสื่อมวลชน
-ตีสอง- ของวันที่ 1 พ.ย.2556 ที่ประชุมสภานัดพิเศษ ก็เข้าสู่ช่วงไคลแมกซ์ เมื่อมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไข ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา
"มาตรา 3 การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"
ท่ามกลางการยกมือประท้วงอย่างแข็งขันของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้พักการประชุม แต่ ส.ส.เพื่อไทย ก็เสนอสวนให้เดินหน้าต่อไป
กระทั่ง “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา คนที่ 1 ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉย ต้องพักการประชุม 10 นาที
-ตีสาม- สภาก็กลับมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อ โดยครั้งนี้ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมด้วยตัวเอง
“คงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามอีกฝั่ง ก็จะโดนอีกฝั่งว่า ผมจึงขอใช้อำนาจในฐานะประธาน วินิจฉัยให้ประชุมต่อ” ขุนค้อนกล่าว ก่อนสั่งเดินหน้าประชุมต่อ
แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งจะลุกฮือเข้าไปประท้วงที่หน้าบัลลังก์ พร้อมส่งเสียงดังแสดงความไม่พอใจ
หลัง ส.ส.เสนอผู้คำแปรญัตติอภิปรายไปได้ไม่กี่คน “สหรัฐ กุลศรี” ส.ส.เพื่อไทย จาก จ.สุพรรณบุรี ก็เสนอให้ปิดอภิปรายพร้อมลงมติทันที
307 ต่อ 0 เสียง คือมติที่ประชุมสภา เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก
เมื่อหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านพ้นไป มาตราที่เหลือ ทั้ง 4, 5, 6 และ 7 ก็ผ่านฉลุย
-ตีสี่- เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระสาม มติ 310 ต่อ 0 เสียง คือบทสรุปของทุกสิ่ง ขณะที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ วอล์กเอ๊าท์ไปก่อนหน้านี้แล้ว
จากนั้น ประธานสภาจึงสั่งปิดประชุม
18 ชั่วโมงเศษ คือระยะเวลาที่สภาใช้ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระสอง-สาม ชนิดม้วนเดียวจบ โดยขั้นตอนต่อไป คือส่งไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาซึ่ง “นิคม ไวยรัชพาณิช” ประธานวุฒิสภา ก็ระบุว่า น่าจะสามารถหยิบมาพิจารณาในวาระหนึ่ง ได้อย่างเร็วที่สุด คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 อย่างช้าที่สุด คือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นี้
ภาพประกอบ - สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com