9 ปีตากใบ...ทำอย่างไรจึงจะลบประวัติศาสตร์บาดแผล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 1 ทศวรรษไฟใต้ เรื่องราวร้ายๆ ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมและถูกพูดถึงมากที่สุดกรณีหนึ่งคือ "เหตุการณ์ตากใบ" ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
เหตุการณ์ในวันนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 85 ราย ทั้งช่วงสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ และช่วงการเคลื่อนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมกว่า 1 พันคนไปสอบสวนต่อยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยวิธีถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วจับไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถบรรทุกของทหาร
สาเหตุาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ตากใบยังคงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซ้ำยังกลายเป็นประเด็นที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้เป็นเงื่อนไขในการขยายมวลชนต่อต้านรัฐ ก็คือ การที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถสร้างความกระจ่าง หรือหาตัวผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้
วันนี้เหตุการณ์ผ่านมานานถึง 9 ปีแล้ว แต่ "คดีตากใบ" ในส่วนของคดีอาญากรณีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากมายถึง 85 ศพยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากคำสั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตยังคาใจเท่านั้น
บทเรียนของคดีตากใบกับการลบประวัติศาสตร์บาดแผลที่ก่อความขัดแย้งอย่างลึกล้ำยังมีทางออกอื่นอีกหรือไม่ ลองฟังทัศนะอันหลากหลายของนักวิชาการและผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม...
โชคชัย : รัฐก็หาความชอบธรรมจากตากใบ
โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) กล่าวว่า หากมองอย่างเป็นธรรม "การขยายผล" ในกรณีตากใบเกิดขึ้นกับหลายๆ ฝ่าย ไม่เฉพาะแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น กลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐในระยะหลังหลายคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ บางคนรอดตาย เห็นเพื่อนสนิทตายและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ แถมศาลยังมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพอย่างมีข้อกังขาว่า "ตายเพราะขาดอากาศหายใจ" โดยไม่กล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ก่อนหน้า ผู้เห็นต่างที่รับไม่ได้ย่อมลุกขึ้นมาตอบโต้รัฐดังเช่นหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา พิสูจน์ชัดว่าผู้ก่อการหลายคนสารภาพว่าทำไปเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุการณ์นี้ อันนี้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็ใช้เหตุการณ์ตากใบในการขยายผลหาความชอบธรรมเช่นเดียวกัน เช่น การตั้งคำถามต่อภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "สังคมมักไม่ค่อยตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้นำพา หรือหลอกชาวบ้านจากที่ต่างๆ ไปร่วมชุมนุมกันหน้าสถานีตำรวจตากใบในวันนั้น" บางท่านใช้คำแรงว่า "ใครที่พาคนไปตาย" เป็นการถามหาต้นเหตุของเหตุการณ์ในวันนั้น โดยบดบังส่วนอื่นๆ ของเหตุการณ์ เช่น ล้อมปราบด้วยกระสุนและอาวุธบริเวณหน้าสถานีตำรวจ การทารุณกรรมต่อผู้ชุมนุมที่ถูกเหมารวมและถูกหลอกนำมาที่ตากใบด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น บางส่วนตั้งใจไปซื้อของฝั่งมาเลย์ และปลายเหตุจากการนำผู้ชุมนุมไพล่หลังซ้อนกันบนรถทหารจนเสียชีวิต
การมองเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรพิจารณาตั้งคำถามกันอย่างรอบด้าน ควรมองอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่เมื่อแยกส่วนมอง ต่างฝ่ายก็มักจะเลือกเฉพาะส่วนที่ฝ่ายตนได้เปรียบจากเหตุการณ์ที่เกิดการสูญเสีย แล้วนำมาอ้างเป็นเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมสำหรับฝ่ายตน
จี้กระจายความเป็นธรรมเท่าเทียมทุกกลุ่ม
โชคชัย กล่าวต่อว่า 9 ปีที่ผ่านมาประเด็นเรื่องตากใบมีพลวัตและผันผ่านเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องมาอย่างมากมาย จนปัจจุบันต้องยอมรับว่า "นโยบายเอาชนะใจมวลชน" ด้วยการจ่ายค่าชดเชยเท่ากับคนเสื้อแดง ที่นำโดยเลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในรัฐบาลปัจจุบัน นับว่าทำได้ดีที่สุดในระดับหนึ่งสำหรับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว แม้จะเป็นการเทียบจากการกำหนดค่าเยียวยาผลกระทบจากการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดงในกรณีราชประสงค์ (ปี 2553) ที่ถูกทำให้เป็นเงื่อนไขพิเศษสำหรับกลุ่มที่เคยต่อสู้เพื่อพรรคการเมืองที่เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถูกแปรเป็นผลพลอยได้ที่เป็นบวกสำหรับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบกรณีตากใบ หากแต่นำมาซึ่งข้อสงสัยแก่ผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ในพื้นที่ว่า แล้วกรณีอื่นๆ ทำไมได้ค่าเยียวยาที่มียอดเงินที่ต่างกันมาก
สิ่งที่ยังขาดหายไปสำหรับกรณีตากใบ คือ ยังไม่มีรัฐบาลหรือภาคประชาสังคมใดนำ "รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ เมื่อปี 2547" กลับมาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์อย่างรอบด้าน และวางแผนในระยะยาวเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทางแก้ในประเด็นนี้ คือ การกระจายความเป็นธรรมที่ทั่วถึงไม่เฉพาะกรณีตากใบ หากแต่เป็นความเป็นธรรมที่เชื่อมโยงถึงหรือเข้ากับกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อุสตาซตาดีกา หรือครูไทยพุทธที่ประสบเหตุ ก็ควรได้รับการเยียวยาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯหรือชายแดนใต้ รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะกรณีที่เด่นและดัง แต่ละเลยกรณีเล็กๆ จนบางคนรู้สึกถึงการไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของการรู้สึกได้ถึงการอยู่ในรัฐที่เป็นธรรม
แนะเปิดพื้นที่สานเสวนาหาทางออกสันติวิธี
โชคชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการสันติภาพระยะยาวเมื่อเกิดบาดแผลจากการเมืองการปกครอง คือ การเปิดช่องทางเวทีสำหรับการถกเถียง การสานเสวนา ซึ่งเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจบาดแผลอย่างเป็นสันติวิธี โดยในกรณีความขัดแย้งถึงตายในที่อื่นๆ ในโลกก็ทำกันเพื่อค้นหาความเป็นจริง ไม่ต่างจากบาดแผลอื่นๆ ที่เกิดในประเทศนี้ เช่น กรณีการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แม้จะผ่านไป 40 ปี ก็ยังมีผู้กล่าวขวัญและรำลึกถึงในระดับบุคคล
"บาดแผลคงยากที่เลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะมันเป็นความจริงที่อยู่คู่กับชีวิต แต่ทางสังคม การเมือง เรื่องราวดังกล่าวจะถูกจดจำในฐานะประวัติศาสตร์บาดแผล และสำหรับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ บาดแผลนั้นอาจถูกแปรเป็นแรงขับที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในภายภาคหน้า หากปัจจุบันความเป็นธรรมไม่ถูกสถาปนาทั้งด้านความรู้สึกปัจเจกและรูปธรรมในมุมมองสาธารณะชนทั้งในและต่างพื้นที่"
ธงพล : รัฐต้องเพิ่มการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
ผศ.ดร.ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ ให้มุมมองในฐานะคนพุทธคนหนึ่งว่า แม้รัฐจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกรณีตากใบไปแล้ว แต่ความรู้สึกที่ย่ำแย่ต่อรัฐก็ยังคงมีอยู่ในความรู้สึก รวมไปถึงความรู้สึกต่อประวัติศาสตร์ ยิ่งเข้าไปกระตุ้นความรู้สึกที่ไม่อยากร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ จึงทำให้เข้าไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามได้โดยง่าย
"เราไม่จำเป็นต้องลืมเหตุการณ์นั้น แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว รัฐควรจะมีวิธีการทำอย่างไรที่จะให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คนมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การศึกษาที่มากขึ้น ได้เรียนในสาขาที่จบแล้วมีงานทำ คนในสามจังหวัดส่วนหนึ่งจะได้ไม่ต้องไปทำงานในมาเลเซีย หากรัฐเข้าไปเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ ความรู้สึกของคนสามจังหวัดน่าจะดีขึ้น"
อับดุลอซิซ : เปิดเวทีไต่สวนสาธารณะหาคนผิด
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เหตุการณ์ตากใบถูกนำไปใช้ขยายผลของแนวร่วมก่อความไม่สงบ คงเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม ชาวบ้านขาดอากาศหายใจ เป็นสิ่งคลางแคลงใจทุกภาคส่วนว่าทำไมศาลมีคำสั่งอย่างนั้น ทำไมไม่มีคนผิด แม้ที่ผ่านมาจะมีการเยียวยาไปแล้วก็ตาม แต่ในส่วนลึกไม่ได้ช่วยบรรเทาความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบให้ดีขึ้นมากนัก เพราะว่ายังคลางแคลงใจในเรื่องความยุติธรรมว่าทำไมหาผู้รับผิดชอบหรือผู้สั่งการไม่ได้
ฉะนั้นทางแก้เพื่อไม่ให้มีการขยายผลในเรื่องนี้ต่อไป รัฐควรนำกรณีตากใบมาเปิด "ไต่ส่วนสาธารณะ" ว่าใครผิดใครถูก ใครเป็นผู้ที่ทำให้ชาวบ้านตาย ความยุติธรรมต้องทำให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ รวมไปถึงดูแลญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตในเรื่องการศึกษา และนำบทเรียนจากเหตุการณ์นี้มาวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันซ้ำอีก
"ในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อยากเห็นการแก้ปัญหาของรัฐให้ความชัดเจนเรื่องความเป็นธรรม เพราะรัฐติดลบมาตลอดในเรื่องนี้ ถ้าเราเรียกร้องสันติภาพ มีการเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็น สิ่งที่รัฐต้องทำคู่ขนานไปด้วย คือ ลดเงื่อนไขจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อม การจับกุมซ้อมทรมาน เพราะล้วนเป็นเงื่อนไขที่สร้างความไม่เป็นธรรมที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น หากทำได้จะเป็นการลดข้อต่อรองของบีอาร์เอ็นไปโดยปริยาย"
มันโซร์ : กระบวนการยุติธรรมต้องพัฒนา
มันโซร์ สาและ นักจัดรายการวิทยุชื่อดังในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า การขยายแนวร่วมไม่ใช่แค่เหตุการณ์ตากใบเท่านั้น แต่เป็นกรณีของการใช้กำลังหรือกฎหมายโดยไม่มีหลักเกณฑ์ด้วย เช่น การปิดล้อม จับกุม ตรวจค้น ที่เจ้าหน้าที่รัฐขาดความรอบคอบ นำไปสู่การขยายแนวร่วมเพิ่มขึ้นในพื้นที่
"การแก้แค้นของคนที่มีลูกหลานของตัวเองไปสูญเสียในเหตุการณ์ตากใบก็มี การแก้แค้นในทางส่วนตัวก็มี สิ่งนี้ไม่ใช่การขยายผลของแนวร่วมด้านเดียว ฉะนั้นกรณีตากใบอยากให้เป็นกรณีที่รัฐต้องจดจำเป็นอุทาหรณ์ต่อการปฏิบัติในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและมีสถานการณ์ความรุนแรง การปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่รัฐขาดทักษะบางอย่างย่อมฟังไมได้ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีการยกเว้น และสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมต้องมีการพัฒนา โดยยึดเหตุการณ์ตากใบเป็นบทเรียน"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) โชคชัย วงษ์ตานี, อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์, ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร, มันโซร์ สาและ