เปิดผลสอบ สตง.!!ชำแหละปัญหา“จ้างช่วง”พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50
เปิดละเอียดผลสอบ สตง. ชำแหละปัญหา“จ้างช่วง” พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ขัดมติ ครม. ทำรัฐเสียหาย 35 ล้าน พบส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ สมัย "ชัย ชิดชอบ" พิจารณาดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 52 ก่อนเงียบหายเข้ากลีบเมฆ?
ยังคงเป็นปริศนาค้างคาใจของใครหลายคน!!
เกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จำนวน 20 ล้านเล่ม วงเงินงบประมาณ 285 ล้านบาท ของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พร้อมมีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง มาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2552
โดยระบุชัดเจนว่า ในขั้นตอนการดำเนินงาน มีการเปิดโอกาสให้ผู้รับจ้างนำงานไปจ้างช่วงต่อ ขัดมติครม. เป็นเหตุให้การจัดจ้างสูงเกินราคาจ้างช่วงเป็นเงินไม่น้อยกว่า 35 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียหาย
แต่ผลสอบดังกล่าว โดยเหมือนจะเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น?
และเมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พยายามติดต่อขอคำยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหลายคน เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการตรวจสอบในเรื่องนี้ ว่าทางสภาฯมีการดำเนินการอะไรกับผู้เกี่ยวข้องไปแล้วบ้าง
คำตอบที่ได้รับกลับมาเพียงแค่ว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ต้องใช้เวลาในการสืบค้นข้อมูล
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรบางราย ระบุว่า ถ้าต้องการรับทราบข้อมูลเรื่องนี้ ขอให้ทำหนังสือแจ้งเข้ามาอย่างมาเป็นทางการโดยใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ 2540
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลด้านเอกสารเกี่ยวกับผลตรวจสอบการจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จำนวน 20 ล้านเล่ม วงเงินงบประมาณ 285 ล้านบาท ของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดังกล่าว
พบว่า สตง. ได้มีหนังสือ เลขที่ ตผ 0019/2574 จัดส่งผลการตรวจสอบเรื่องนี้มาให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552
โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงเลขที่รับหนังสือ 8120/2444 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เวลา 14.30 น.
ทั้งนี้ ในรายงานผลสอบเรื่องนี้ สตง. ระบุว่า
“ด้วยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักงานตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 3 ได้ตรวจสอบสืบสวนกรณีการจัดจ้างพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เพื่อลงประชามติ จำนวน 20 ล้านเล่ม ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การดำเนินการจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฯ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นไปตามระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี
การดำเนินการจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญ ฯ เป็นเงิน 285 ล้านบาท สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือเปิดโอกาสให้โรงพิมพ์ผู้รับจ้างนำงานทั้งหมดหรือบางส่วนตามสัญญาไปจ้างช่วงอีกต่อหนึ่งได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 26 ที่กำหนดให้จัดจ้างจากผู้ผลิตพัสดุ หรือทำงานจ้างนั้นเอง
และไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 273 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 เรื่อง ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 7 และหนังสือของกระทรวงการคลัง ที่ กค 0408.2 / 161 ลงวันที่ 15 กันยายน 2546 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่องสิทธิพิเศษของโรงพิมพ์ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่กำหนดว่า กรณีส่วนราชการฯ ที่มีโรงพิมพ์ ซึ่งมีฐานะเป็นส่วนราชการ หรือเป็นโรงพิมพ์ที่อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว ต้องจ้างพิมพ์จากโรงพิมพ์ของตนเองก่อนโดยวิธีกรณีพิเศษ ในราคาไม่เกินราคามาตรฐานที่กระทรวงการคลังกำหนด และกรณีโรงพิมพ์ ที่มีฐานะเป็นส่วนราชการฯ ดังกล่าว ( โรงพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ) ไม่สามารถพิมพ์งานทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ให้ส่งงานพิมพ์ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ให้โรงพิมพ์ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นช่วยพิมพ์ก็ได้ และห้ามมิให้โรงพิมพ์ที่ได้รับสิทธิพิเศษ ในการรับจ้างพิมพ์งานจากส่วนราชการฯ ส่งงานพิมพ์ให้เอกชนรับช่วงพิมพ์ต่อ เป็นเหตุให้การจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จำนวน 20 ล้านเล่ม สูงเกินราคาจ้างช่วงเป็นเงินไม่น้อยกว่า 35 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรเทาความเสียหายโดยทำหนังสือแจ้งสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพิมพ์ต่างๆ จำนวน 6 แห่ง โดยหักเงินส่วนต่างที่โรงพิมพ์ ผู้รับจ้างนำไปจ้างช่วงบริษัทเอกชนไว้แล้ว เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 17,236,539 บาท ( ไม่นับรวมโรงพิมพ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และโรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ( ที่รับจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญ 5 ล้านเล่ม) ซึ่งทั้งสองโรงพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าทั้งสองโรงพิมพ์ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องค่าเสียหาย และโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง)
อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะได้มีการแจ้งสงวนสิทธิการคิดค่าปรับในเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ภาระผูกพันตามกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วนับแต่วันที่มีการลงนามในระหว่างคู่สัญญา ซึ่งในเรื่องค่าเสียหายที่เกิดจากการจ้างช่วงดังกล่าว โงพิมพ์ของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ถูกหักเงินส่วนต่างจากการนำงานไปจ้างช่วงดังกล่าว โรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ถูกหักเงินส่วนต่าง จากการนำงานไปจ้างช่วง ยังมีข้อต่อสู้อยู่กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเห็นว่า ได้มีการตกลงกันไว้ อย่างชัดเจนว่า ให้มีการนำงานดังกล่าวไปจ้างช่วงต่อได้ ความเสียหายดังกล่าวจึงยังไม่แน่ชัด
ประเด็นที่ 2 การดำเนินการรับจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์เพื่อลงประชามติ ของโรงพิมพ์ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นไปตามสัญญา และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ว่าจ้างโรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจำวนวน 20 ล้านเล่ม ทั้งสิ้นจำนวน 9 แห่ง แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีโรงพิมพ์ ถึง 8 แห่ง นำงานที่รับจ้างไปจ้างช่วงให้เอกชนดำเนินการ ดังนี้
1.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด รับจ้างพิมพ์จำนวน 1,500,000 เล่ม โดยพิมพ์หนังสือเองทั้งหมด แต่ว่าจ้างให้โรงพิมพ์สามเจริญทำการเข้าเล่มไสกาว ตัดเจียร บรรจุหีบห่อ พร้อม Packing ในราคาเล่มละ 6.20 บาท
2. โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน รับจ้างพิมพ์จำนวน 1,000,000 เล่ม โดยพิมพ์หนังสือเองทั้งหมด แต่ว่าจ้างให้บริษัท ประชุมช่างจำกัด และบริษัท คอมฟอร์ม จำกัด ทำการเข้าเล่ม ไสกาว ตัดเจียร บรรจุหีบห่อ พร้อม Packing ในราคาเล่มละ 6.60 บาท
3. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รับจ้างพิมพ์จำวน 3,500,000 เล่ม พิมพ์เองจำนวน 500,000 เล่ม และได้ว่าจ้าง โดยใช้เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด วรรณชาติ เพรส และบริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์ พริ้นท์ จำกัด พิมพ์จำนวน 1,000,000 เล่ม ( ราคา 5,599,339.42 บาท ) และ 2,000,000 เล่ม ( ราคา 9,237,800 บาท ) ตามลำดับ (ค่ากระดาษ การเข้าเล่มไสกาว และการจัดส่ง โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ) โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ดำเนินการเขาเล่มไสกาวเอง 3,200,000 เล่ม และว่าจ้างบริษัท ที.เค.ออฟเซท แอนด์ พริ้นท์ จำกัด เข้าเล่มไสกาวจำนวน 300,000 เล่ม
4.โรงพิมพ์ตำรวจ รับจ้างพิมพ์จำนวน 2,000,000 เล่ม พิมพ์เองจำนวน 10,000 เล่ม และว่าจ้างบริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด พิมพ์จำนวน 1,000,000 เล่ม และบริษัท ซีวี แอลการพิมพ์ จำกัด จำนวน 990,000 บาท ในราคาเล่มละ 11.90 บาท
5. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับจ้างพิมพ์จำนวน 2,000,000 เล่ม พิมพ์เอง จำนวน 20,000 เล่ม และว่าจ้างบริษัทโมเดิร์น อคาเดมิก เซ็นเตอร์ จำกัด พิมพ์จำนวน 1,980,000 เล่ม
6. โรงพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา รับจ้างพิมพ์จำนวน 2,000,000 เล่ม พิมพ์เองจำนวน 10,000 เล่ม และว่าจ้างบริษัท ส.เอเซียเพรส ( 1989 ) จำกัด พิมพ์จำนวน 70,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 12.84 บาท บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด จำนวน 100,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 12.50 บาท โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 100,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 12.84 บาท และบริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด จำนวน 1720000 เล่ม ในราคาเล่มละ 13.00 บาท
7. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ( สกสค.) รับจ้างพิมพ์จำนวน 4,000,000 เล่ม พิมพ์เองจำนวน 1,000,000 เล่ม และว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา พิมพ์จำนวน 1,000,000 เล่ม บริษัท เอส.อาร์. พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด จำนวน 300,000 เล่ม บริษัท ฐานการพิมพ์ จำกัด จำนวน 1,000,000 เล่ม และบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด ( มหาชน) จำนวน 700,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 6.12 บาท โดยโรงพิมพ์ สกสค. เป็นผู้รับผิดชอบกระดาษ และทุกบริษัทรวมค่าทำการเข้าเล่มไสกาว ตัดเจียร บรรจุหีบห่อ พร้อม Packing
8.ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รับจ้างพิมพ์จำนวน 2,000,000 เล่ม พิมพ์เองจำนวน 20,000 เล่ม และว่าจ้างโรงพิมพ์ ไทยวัฒนาพาณิชย์ พิมพ์จำนวน 1,980,000 เล่ม ในราคา 27,073,161 บาท รวมค่ากระดาษ และทำการเข้าเล่ม ไสกาว ตัดเจียร บรรจุหีบห่อ พร้อม Packing และค่าขนส่ง
สตง. ยังระบุว่า การที่โรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทั้ง 8 แห่งข้างต้น นำงานที่รับจ้างจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปจ้างช่วงบริษัทเอกชนพิมพ์หนังสือทั้งหมด และหรือนำไปทำการจ้างช่วงบางส่วน เช่น ทำการเข้าเล่ม ไสสันทากาว ตัดเจียรบรรจุหีบห่อ พร้อม Packing และขนส่ง เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ข้อ 6 ที่กำหนดว่า “ ผู้รับจ้างจะต้องไม่เอางานทั้งหมด หรือบางส่วนแห่งสัญญานี้ไปจ้างช่วงอีกต่อหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างก่อน” และเป็นการปฏิบัติผิดมติคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ ว 273 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 และหนังสือของกระทรวงการคลังที่ กค 0408.2 / 161 ลงวันที่ 15 กันยายน 2546 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่องสิทธิพิเศษของโรงพิมพ์ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่กำหนด ห้ามมิให้โรงพิมพ์ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการรับจ้างพิมพ์งานจากส่วนราชการฯ ส่งพิมพ์ให้เอกชนรับช่วงพิมพ์ต่อ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 301 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 302 ( 3 ) พิจารณาแล้ว เห็นชอบกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีและให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
นี่คือข้อเท็จจริงที่ สตง.ตรวจสอบพบเกี่ยวกับ การจัดจ้างพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จำนวน 20 ล้านเล่ม วงเงินงบประมาณ 285 ล้านบาท ของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
และส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ในช่วงปี 2552
ก่อนที่เรื่องจะเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้?
ภาพประกอบ - ชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร