นโยบายจำนำจูงใจ ทำพื้นที่ปลูกข้าวพุ่งเกือบ 9 ล้านไร่
อธิบดีกรมข้าวชี้พื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ต้นเหตุจากรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบ./ตัน ระบุโซนนิ่งเกษตรไม่แก้หากชาวนายังเห็นเงินโครงการฯ จูงใจอยู่ กรมชลฯ คาดปี 57 ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงแล้งสูง
วันที่ 29 ตุลาคม 2556 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนา ‘สถานการณ์น้ำสำหรับการทำนาในปี 2557’ ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2556-30 เมษายน 2557) ว่า ทั่วทุกภาคของไทยจะไม่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะภาคตะวันตกที่มีความมั่นคงของน้ำต้นทุนสูง ยกเว้นพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใหญ่เท่านั้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้คาดการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์มีราว 6,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งต้องจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภคช่วงฝนทิ้งช่วงราว 3,000 ล้านลบ.ม. ส่วนที่เหลือนั้นจะเก็บกักไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศและเกษตรกรรมในช่วงต้นพฤษภาคม 2557 จึงไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้งทั้งหมดได้
ด้านนายเมธี มหายศนันท์ ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป ปริมาณฝนจะลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งถึงพฤษภาคม 2557 จึงจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งอาจจะล่าช้าออกไป สำหรับฝนหลงฤดูในเมษายนของทุกปีนั้นก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนในประเทศน้อย แต่ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายจนเกินไป ทั้งนี้คงต้องประเมินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ขณะที่นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 70.187 ล้านไร่ ในปี 2551/52 มาเป็น 79.109 ล้านไร่ ในปี 2555/56 คิดเป็นพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 8.922 ล้านไร่ (ร้อยละ 12.71) อันเนื่องมาจากนโยบายรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เพราะในขณะที่ไทยมีกำลังการผลิตข้าวมาก ตรงกันข้ามการส่งออกข้าวกลับน้อย
แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะพยายามผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจเกษตร (โซนนิ่ง) เพื่อจัดพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวที่มีถึง 27 ล้านไร่ เปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่น แต่กลับไม่ได้รับการตระหนักจากชาวนาที่จะลดปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งส่งขายรัฐบาล แม้จะมีปริมาณน้ำน้อย เพราะจำนวนเงินของโครงการรับจำนำข้าวยังเป็นแรงจูงใจชาวนาอยู่
“จะไปตำหนิชาวนาไม่ได้ เพราะบ้านเราเป็นประเทศที่ทำนาเป็นหลัก ดังนั้นจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นจึงเป็นสิ่งที่ยาก ชาวนาไม่ถนัด พื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น กำแพงเพชร เปลี่ยนจากนาเป็นอ้อย ก็ขับเคลื่อนได้บางส่วน แต่ส่วนใหญ่สำเร็จยาก” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว และว่าต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปลูกข้าวมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ชาวนาจะต้องดูสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำด้วย อย่างไรก็ตาม จะเร่งถ่ายทอดความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาแก่ชาวนาเพื่อหยุดการเพิ่มขึ้นของนาปรัง แต่คงยากตราบใดที่ยังมีพื้นที่นาให้ขยายอยู่ .
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์